เปิดประสบการณ์จิตอาสาช่วยแรงงานไทย ‘ความต้องการข้อมูลในภาวะวิกฤติ’

เปิดประสบการณ์จิตอาสาช่วยแรงงานไทย ‘ความต้องการข้อมูลในภาวะวิกฤติ’

การโจมตีอิสราเอลของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครตั้งตัว ผลกระทบขยายวงไปถึงพลเรือนทุกฝ่ายรวมถึงแรงงานไทย ชะตากรรมของพวกเขาเป็นเรื่องที่คนไทยอยากช่วยเหลือ รวมถึงหญิงไทยคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่พยายามมีส่วนร่วมเท่าที่สถานะของเธอจะเอื้ออำนวย

กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยกับ วราลักษณ์ เอเวอรี ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีที่สนใจเรื่องราวของแรงงานไทยในอิสราเอล เนื่องจากเธอคุ้นเคยกับประเทศนี้เพราะมีสามีเป็นชาวยิวที่เกิดในประเทศอังกฤษแต่ญาติทุกคนอยู่ในอิสราเอล ช่วงโควิดระบาดวราลักษณ์และสามีติดอยู่ในอิสราเอลนานนับปี  เปิดประสบการณ์จิตอาสาช่วยแรงงานไทย ‘ความต้องการข้อมูลในภาวะวิกฤติ’ (วราลักษณ์ เอเวอรี)

วราลักษณ์เล่าว่า หลังเกิดเหตุฮามาสโจมตีในวันที่ 7 ต.ค. ทุกคนช็อกไปหมด เธอได้ส่งข้อความไปให้กำลังใจญาติสามีในวันที่พวกเขาสาหัสที่สุด 

“แต่จริงๆ อยากบอกว่าคนอิสราเอลอยู่กับภาวะสงครามตลอดเวลา ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา นี่คือสถานะของรัฐอิสราเอลที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่เพื่อนบ้านแต่เป็นศัตรู คนของเขามีความพร้อมอยู่เสมอ กฎหมายกำหนดให้บ้านหรืออพาร์ตเมนต์ต้องมีที่หลบภัย” 

วราลักษณ์เสนอความช่วยเหลือให้ญาติที่อิสราเอล ได้คำตอบว่าพวกเขาดูแลตัวเองได้ เป็นห่วงก็ญาติๆ ที่อยู่ในโมชาฟ (อีกหนึ่งเวอร์ชันของคิบบุตส์คล้ายๆ หมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร และปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีสมาชิกแต่ละแห่งประมาณ 60-100 ครอบครัว)  หลังทางการประกาศอพยพคนจากภาคใต้มาอยู่ภาคกลาง โมชาฟที่ญาติวราลักษณ์อาศัยอยู่ต้องต้อนรับแรงงานไทยจำนวนมาก 

“แรงงานไทยอยู่คู่กับการสร้างและพัฒนาชาติอิสราเอล นับตั้งแต่ที่มีโมชาฟ" วราลักษณ์เล่าพร้อมเสริมด้วยข้อมูลจากญาติอีกคนหนึ่งที่ว่า  โมชาฟของตนรับแรงงานไทยมาเพิ่มอีก 250 คน ต้องการอาหารและน้ำ  วราลักษณ์อยู่เมืองไทยช่วยเหลือได้ด้วยการบริจาคเงินผ่านญาติที่อิสราเอล สถานการณ์ ณ ตอนนั้นคือทุกคนต้องช่วยกัน แต่จะช่วยเหลืออย่างไรไม่ให้เป็นภาระคนอื่น 

สิ่งที่วราลักษณ์ทำได้ในตอนแรกแค่การบริจาค ควบคู่กับการติดตามข้อมูลในเพจเฟซบุ๊ค “แรงงานไทยในอิสราเอล” เป็นเพจที่ตั้งขึ้นมานานแล้ว วราลักษณ์เข้าร่วมกลุ่มตอนที่ติดอยู่อิสราเอลหนึ่งปีช่วงโควิด-19 ระบาด หลังเกิดเหตุโจมตีเธออ่านข้อมูลที่แรงงานไทยสื่อสารกันในเพจจับความได้ว่า แรงงานไทยห่วงเรื่องไม่มีงานทำ เพราะนั่นหมายถึงการไม่มีรายได้ “ณ เวลานั้นยังไม่ค่อยกลัวสงครามกันสักเท่าไหร่ ขณะที่ญาติทางเมืองไทยเข้ามาโพสต์ว่า กลับเหอะ! มันน่ากลัวมาก”

เมื่อทางการอิสราเอลสั่งอพยพคนมากขึ้น ขยายเขตพื้นที่สีแดงเพราะฮามาสโจมตีรุนแรงขึ้น สิ่งที่คนในอิสราเอลต้องการมากคือข้อมูลความช่วยเหลือจากทางการไทยเพื่อให้แรงงานไทยในโมชาฟทราบว่าต้องทำอะไรบ้าง 

“คนอิสราเอลในโมชาฟคุ้นเคยกับแรงงานไทยมาก ภาษาฮิบรูเรียกว่าไทยแลนดี้ จนเด็กๆ เห็นแรงงานทุกคนก็เรียกไทยแลนดี้ไปหมด” 

ณ จุดนี้ญาติขอให้วราลักษณ์ส่งข้อมูลจากไทยไปให้เพื่อพวกเขาจะได้บอกต่อกับล่ามบริษัทจัดหางานเพื่อสื่อสารไปยังแรงงานไทยอีกต่อหนึ่ง ซึ่งตัวเธอพบว่าข้อมูลสำคัญทางฝ่ายไทยมีน้อยต้องรอทางการตั้งโต๊ะแถลงข่าวเท่านั้น เธอพยายามโทรศัพท์สอบถามหน่วยงานของไทยตามที่ประกาศไว้ตามหน้าสื่อ แต่ก็โทรไม่ติดแสดงว่ามีคนติดต่อเข้าไปเป็นจำนวนมาก วราลักษณ์ส่งข้อความไปตามหน่วยงานต่างๆ ว่า เธอมีข้อมูลแรงงานไทยที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของอิสราเอลจำนวนกี่คน ไปพักพิงอยู่ที่ไหน ด้วยสถานการณ์ที่ไม่นิ่งข้อมูลก็ไม่นิ่งตาม “กลายเป็นความสับสน” 

วราลักษณ์ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยงานในไทยเข้าใจว่า อาจมีงานล้นมือ เธอจึงร่วมมือกับเพื่อนคนไทยอีกคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่สนใจชะตากรรมของแรงงานไทยในอิสราเอลเหมือนกัน เพื่อนคนนี้มีคอนเนคชันรู้จักคนที่ช่วยเหลือแรงงาน (ทุกเชื้อชาติ) ในอิสราเอล 

“จู่ๆ วันที่ 19 ต.ค. เพื่อนคนนี้ก็ติดต่อมาว่า ให้เราหาข้อมูลได้มั้ยว่ามีใครบ้างที่อุดรฯ สามารถเข้าไปเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของญาติผู้ตายได้” เนื่องจากอิสราเอลพบศพประมาณ 250 ศพหลายวันมาแล้วแต่ไม่ได้ออกข่าวเพราะยังระบุอัตลักษณ์บุคคลไม่ได้ว่าเป็นใคร ศพถูกทำร้ายจนบ่งบอกลักษณะไม่ได้ ในจำนวนนี้มี 30 ศพที่คาดว่า “น่าจะเป็นแรงงานไทย” แต่ก็ยังระบุอัตลักษณ์ไม่ได้ จึงต้องการข้อมูลเพื่อยืนยันอัตลักษณ์บุคคลเป็นการด่วน 

แน่นอนว่าเรื่องสำคัญแบบนี้จะต้องติดต่อผ่านภาครัฐไทย แต่เครือข่ายที่วราลักษณ์ประสานซึ่งเป็นเครือข่ายเอ็นจีโอและคนอิสราเอลธรรมดาสามัญต้องการข้อมูลอย่างรวดเร็วจำต้องให้วราลักษณ์ช่วยอีกแรง โดยย้ำให้ขอความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานเอกชนหลังจากติดต่อภาครัฐแล้วไม่ขยับ เครือข่ายอิสราเอลต้องการข้อมูลนี้โดยด่วน ซึ่งวราลักษณ์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน 

“ต้องเข้าใจก่อนว่าระบบในอิสราเอลคอนเน็คกันเยอะมาก การสื่อสารของเขามุ่งเป้าไปที่ว่า ทำให้สำเร็จให้ไวที่สุด ทางนู้นเขารอมานานแล้วอยากได้ดีเอ็นเอจากญาติเพื่อมาแมทช์ว่าร่างนี้ชื่ออะไรเท่านั้นเอง แต่ไม่ขยับมาเป็นวันๆ แล้ว เขาก็ต้องหาทางถ้าภาครัฐช้าก็ต้องหาภาคเอกชนมาทำ ทางอิสราเอลก็เลยขอให้เพื่อนเราที่อยู่เมืองไทยช่วย เพื่อนก็ขอให้เรามาช่วยอีกแรง” 

สิ่งที่อิสราเอลต้องการในขั้นตอนนี้คือ “มีคนเข้าไป swap DNA sample ของญาติส่งไปที่อิสราเอล ไม่ต้องตรวจอะไรที่นี่ทั้งสิ้น” วราลักษณ์รับภารกิจพร้อมคำตอกย้ำว่า ไม่ต้องติดต่อหน่วยงานรัฐให้ไปหาหน่วยงานเอกชน เธอโทรหาโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งใน จ.อุดรธานีและขอนแก่นที่มีโฆษณาว่ารับตรวจดีเอ็นเอ คีย์เวิร์ดสำคัญในขั้นตอนนี้คือ กระบวนการ swap ตัวอย่างเนื้อเยื่อจะต้องกระทำโดยบุคลากรที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศและตำรวจสากล สุดท้ายแล้ววราลักษณ์ได้ทราบว่า ผู้ที่จะทำกระบวนการนี้ได้ถูกต้องตามโจทย์ที่เครือข่ายอิสราเอลต้องการคือ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่สถาบันนิติเวชฯ จะไม่เดินทางไป จ.อุดรธานี ต้องนำญาติผู้ตายมาตรวจที่ รพ.ตำรวจเท่านั้น 

วราลักษณ์หาข้อมูลต่อเจอบริษัทเอกชนสหรัฐสาขาประเทศไทย รับตรวจดีเอ็นเอแล้วส่งไปยังแล็บที่ดีที่สุดในสหรัฐ ความน่าเชื่อถือสูงมาก แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการรับรอง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. มีรายงานข่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งกำหนดนำร่างของคนไทยที่เสียชีวิตชุดแรกในประเทศอิสราเอลกลับประเทศไทยด้วยสายการบิน El Al เที่ยวบินที่ LY083  ออกจากอิสราเอลคืนวันที่ 19 ต.ค.2566  ถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 20 ต.ค.2566 เวลา 08.50 น.

เปิดประสบการณ์จิตอาสาช่วยแรงงานไทย ‘ความต้องการข้อมูลในภาวะวิกฤติ’ (เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นางออร์นา ซากิฟ รับศพผู้เสียชีวิตที่สนามบินสุวรรณภูมิ)

จากการเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล วราลักษณ์เข้าใจดีว่า การส่งออกแรงงานเป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐกับรัฐที่ต้องประสานงานกันอยู่แล้ว 

"แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างเช่นสงครามซึ่งเป็นความโกลาหลอยู่แล้วตามธรรมชาติ เมื่อรัฐกับรัฐประสานงานกันได้ช้า เครือข่ายญาติอิสราเอลเขาเห็นว่าเมื่อสอบถามเรามาเราก็จะหาคำตอบได้มากกว่าการติดต่อระหว่างรัฐกับรัฐ" 

สิ่งที่เครือข่ายในอิสราเอลต้องการคือ การควานหาข้อมูลที่ถูกต้องและเร็วที่สุดในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ข้อน่าสังเกตคือ อิสราเอลมีระบบฉุกเฉินที่ประสานกันได้หมดระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน แต่ภาครัฐไทยดูเหมือนมีแค่ช่องทางให้ข้อมูลแต่ไม่มีช่องทางรับข้อมูล 

“ณ จังหวะนี้ไม่ใช่แค่รัฐ มันเป็นระบบที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาอย่างฉับพลันและรวดเร็ว ทุกอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ไม่สามารถออกคำแนะนำตั้งแต่วันแรกที่เกิดสงคราม โปแลนด์เขาส่งเครื่องไปรับคนของเขา แต่ก็เข้าใจว่าคนเขามีไม่มาก สามารถจัดการได้ แต่เขาทำไง ขณะที่เรามีคนไทยในอิสราเอลถึง 30,000 คน เรายิ่งไม่ต้องเร็วไปกว่านั้นเหรอ” 

วราลักษณ์ยืนยันว่า การเล่าประสบการณ์นี้ให้ฟังไม่ได้ต้องการบอกว่าเธอเก่ง แต่ต้องการให้ข้อเสนอแนะในสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ตราบใดที่ไทยยังต้องส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล