'ก้าวไกล' ร่วมรำลึก 14 ตุลาฯ สานต่อเจตนารมณ์ ลุยแก้ รธน.ภายในปีนี้

'ก้าวไกล' ร่วมรำลึก 14 ตุลาฯ สานต่อเจตนารมณ์ ลุยแก้ รธน.ภายในปีนี้

'ก้าวไกล' ร่วมงานรำลึก 50 ปี 14 ตุลาฯ พร้อมสานเจตนารมณ์ที่ยังไม่บรรลุ 'ชัยธวัช' ย้ำข้อเสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองเป็นประตูบานแรกสู่การหาฉันทามติร่วม ชี้วาระสำคัญปีนี้ต้องผลักดันให้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ-มี สสร. เลือกตั้ง-ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพแท้จริง

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2566 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำและ สส.ก้าวไกล ร่วมงานรำลึกครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 โดยนายชัยธวัช กล่าวว่า การมาร่วมงานในวันนี้ ตนได้พูดคุยกับญาติวีรชนหลายคน รับรู้ถึงความคาดหวังที่หลายคนยังอยากให้คนรุ่นใหม่ สืบสานการต่อสู้ของคนเดือนตุลาฯ ต่อไปให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 มีความสำคัญในหลายมิติสำหรับการเมืองภาพใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีโจทย์ในทางประชาธิปไตยหลายเรื่องที่ยังไม่บรรลุ และยังคงเป็นวาระเดียวกันจากการเคลื่อนไหวครบรอบ 25 ปี ที่มีการจัดงานใหญ่ครั้งแรก พร้อมคำขวัญที่เชิดชูคุณค่าหลักเพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ท่ามกลางความขัดแย้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายไหนต่างคิดว่าตัวเองออกมาสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า และต่างก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง บ้างก็ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออก นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร เพียงมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน และควรได้รับการนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะเป็นประตูบานแรกให้ฝ่ายต่างๆ ได้หันหน้ามาหาฉันทาทติร่วมกัน

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ผ่านมา 50 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพยังเป็นปัญหา มีคดีความที่ประชาชนจำนวนมากยังถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรง หลายคนไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม เช่นประกันตัวสู้คดี เพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น นี่ยังคงเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องให้ความสำคัญ ต่อสู้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากที่สุด

\'ก้าวไกล\' ร่วมรำลึก 14 ตุลาฯ สานต่อเจตนารมณ์ ลุยแก้ รธน.ภายในปีนี้

ในวาระ 50 ปี 14 ตุลาฯ เรื่องของรัฐธรรมนูญยังคงเป็นเรื่องใหญ่ บทเรียนสำคัญคือเมื่อประชาชนได้ออกมาขับไล่ผู้นำรัฐบาลเผด็จการแล้ว แม้บ้านเมืองจะมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ขาดการผลักดันที่มากไปกว่านั้น โดยเฉพาะความพยายามออกแบบระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ที่มีรูปธรรมหนึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ นั่นนำมาสู่โจทย์สำคัญของวันนี้ คือการออกแบบการรณรงค์ให้ประชาชนได้ลงประชามติว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้เกิดการออกแบบระบบการเมืองใหม่ที่เราจะอยู่ร่วมกัน เป็นพื้นที่ของทุกคนแม้ข้อเสนอของทุกคนจะไม่ได้รับการตอบสนองทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยก็ควรจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพได้

\'ก้าวไกล\' ร่วมรำลึก 14 ตุลาฯ สานต่อเจตนารมณ์ ลุยแก้ รธน.ภายในปีนี้

“อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงมีการรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศหรือสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้มาก แต่ก็ไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น จึงยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกหลายเรื่องเพื่อให้เกิดสิทธิเสรีภาพในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว” นายชัยธวัช กล่าว