ไม่ฟังเสียงค้าน ‘เงินดิจิทัล’ ระวังรัฐบาลจะจบไม่สวย

ไม่ฟังเสียงค้าน ‘เงินดิจิทัล’  ระวังรัฐบาลจะจบไม่สวย

โครงการขนาดใหญ่อย่างการแจกเงินดิจิทัลที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล รวมถึงดำเนินการในระยะเวลาสั้นและมีความเร่งรีบดำเนินการจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดเชิงนโยบายได้สูง และท้ายที่สุด ผู้ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีอาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อโครงการดังกล่าว

ปรากฏการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากนัก โดยเฉพาะเมื่อดูรายชื่อของผู้ที่ร่วมออกแถลงการณ์ถือว่าเป็นประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความจำเป็นที่ต้องรับฟังเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นความเห็นที่ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของหลายหน่วยงานในการปรับหลักเกณฑ์รายละเอียดโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ควรได้รับการช่วยเหลือ จะทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการลดลงจาก 56 ล้านคน เหลือ 40 ล้านคน รวมทั้งจะทำให้วงเงินลดลงจาก 560,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 400,000 ล้านบาท รวมทั้งมีข้อเสนอให้จ่ายเงินผ่านช่องทางเป๋าตัง และใช้เงินได้ในรัศมีเกิน 4 กิโลเมตร

ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังคงยืนยันที่จะไม่ใช้เป๋าตังทั้งที่เป็นระบบที่ใช้งานได้ทันที โดยมีผู้ลงทะเบียนไว้แล้วกว่า 40 ล้านคน เหลือเพียงการยืนยันตัวตนอีกครั้งสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช้ช่องทางเป๋าตังด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ได้เป็นเจ้าของ โดยรัฐบาลไม่ได้ออกแบบและดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ผลของการตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้ต้องจัดงบประมาณบริหารจัดการเพิ่มเติม และเพิ่มระยะเวลาในการเตรียมโครงการนานขึ้น

อีกข้อเสนอที่ควรรับฟังแต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะดำเนินการ คือ การจ่ายเงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เพราะขัดกับหลักการของรัฐบาลที่ต้องการให้มีเงินเข้าระบบทันทีหลายแสนล้านบาทในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยข้อเสนอดังกล่าวให้เหตุผลถึงวงเงินที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ถึง 560,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้มีข้อห่วงใยของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามโครงการดังกล่าว

การดำเนินโครงการขนาดใหญ่อย่างการแจกเงินดิจิทัลที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล รวมถึงดำเนินการในระยะเวลาสั้นและมีความเร่งรีบดำเนินการจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดเชิงนโยบายได้สูง และท้ายที่สุดผู้ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อโครงการดังกล่าว ดังนั้นเพื่อลดความผิดพลาดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจำเป็นต้องรับฟังความเห็นทุกอย่าง และตัดสินใจดำเนินการด้วยความรอบคอบ