'ก้าวไกล' ห่วงน้ำท่วม ชง 3 ข้อถึงรัฐบาลปรับปรุงเตือนภัย-รับมือ-เยียวยา

'ก้าวไกล' ห่วงน้ำท่วม ชง 3 ข้อถึงรัฐบาลปรับปรุงเตือนภัย-รับมือ-เยียวยา

'พรรคก้าวไกล' ห่วงสถานการณ์ 'น้ำท่วม' หลายพื้นที่ ชง 3 ข้อเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงมาตรการเตือนภัย-รับมือ-เยียวยา

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในด้านมาตรการจัดการสถานการณ์น้ำท่วม ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้ โดยระบุถึงข้อเสนอทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบด้วย

1) ด้านการเตือนภัย เดชรัตระบุว่าที่ผ่านมาระบบการเตือนภัยของประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์ แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะสามารถพยากรณ์น้ำฝนได้แม่นยำ แต่เมื่อน้ำฝนตกลงมาแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ป่าเขา หรือในเขตอุทยานแห่งชาติต่างๆ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ไม่อนุญาตให้มีการตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาในบางพื้นที่ ทำให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถระบุได้ว่าฝนตกลงมากน้อยแค่ไหน ไหลเป็นน้ำท่าในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำมากน้อยแค่ไหน มาทราบข้อมูลอีกทีก็ตอนเป็นน้ำท่าในระบบชลประทานแล้ว นั่นคือสาเหตุที่ทำให้การเตือนภัยในบางกรณีทำได้จำกัด เมื่อเป็นน้ำหลากล้นจากลำน้ำ หน่วยงานรัฐไม่มีข้อมูล ไม่มีการพยากรณ์ 

นี่คือปัญหาประการแรกที่สามารถแก้ไขได้ หากสามารถทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่เป็นน้ำฟ้า (หรือน้ำฝน) น้ำก่อนลำน้ำใหญ่ น้ำลำน้ำใหญ่ และเมื่อเป็นน้ำหลากพ้นลำน้ำ ก็จะสามารถทำให้เกิดการคาดการณ์และเตือนภัยล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ขณะเดียวกัน การแจ้งเหตุเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ควรมีผู้ดูแล (แอดมิน) ในพื้นที่ที่ทำงานร่วมกันกับรัฐบาล จะช่วยให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือสูง ประชาชนสามารถติดตามสอบถามถึงกรณีบ้านตัวเองได้ ให้คำตอบได้ภายใต้การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐ โดยมีตัวอย่างที่อุบลราชธานี ซึ่งรัฐบาลสามารถสนับสนุนให้มีแอดมินเตือนภัยทั้งประเทศ ไปจนถึงให้มีการปักหมุดการเตือนภัยในระดับตำบลได้

2) การเผชิญเหตุและรับมือภัยพิบัติ ที่ปัจจุบันยังมีความหละหลวมในเรื่องการประกาศเขตภัยพิบัติ ซึ่งมีคำถามว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศครบทุกพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมแล้วหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลควรต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีมากกว่านี้ เพื่อให้ออกคำสั่งดำเนินการต่างๆ ทำได้โดยไม่ต้องกังวลระเบียบการเงินมากเกินไป ขณะเดียวกัน ก็ควรมีการจัดให้มีทีมอาสาสมัครช่วยเผชิญเหตุ ที่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์และมีการเตรียมการล่วงหน้า เช่นเดียวกับศูนย์อพยพ ที่ต้องมีมาตรฐาน มีอุปกรณ์ที่เพียงพอ

3) มาตรการเยียวยา ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องความล่าช้ามาโดยตลอด มีหลายกรณีที่น้ำท่วมผ่านไปแล้วแต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ดังนั้น ข้อเสนอคือการทำให้ระบบการเยียวยาเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม โดยไม่ต้องรอให้น้ำลดก่อน รวมถึงการเยียวยาในช่วงอพยพ โดยสนับสนุนเงินเยียวยาเข้าไปทันทีที่เกิดเหตุน้ำท่วมและประชาชนต้องอพยพ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างเหตุน้ำท่วมได้

นายเดชรัต กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอเหล่านี้คือสิ่งที่ตนอยากฝากให้รัฐบาลเป็นการเบื้องต้น เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่ สส.พรรคก้าวไกล ในสัดส่วนคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยของสภาผู้แทนราษฎร จะได้มีการนำเสนอสู่สาธารณะในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ เนื่องในวันภัยพิบัติโลกซึ่งจะครอบคลุมในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องของฝุ่นควัน pm2.5 สารเคมี และปัญหาช้างป่าต่อไป