เกม 'นิรโทษ' คดีการเมือง 'ก้าวไกล' ซื้อใจมวลชน  

เกม 'นิรโทษ' คดีการเมือง 'ก้าวไกล' ซื้อใจมวลชน  

แม้ เหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ในการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีการเมือง ระบุว่า เพื่อทำให้สังคมไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข เกิดความสุข สามัคคี จึงควรนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดี

หรือมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกฝ่าย เพื่อยุติการใช้นิติสงครามกับประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง โดยพรรคเชื่อว่า การเสนอนิรโทษกรรมจะเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟเพื่อยุตินิติสงคราม ที่จะเป็นการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน

แต่พอเห็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ยื่นต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาไปแล้ว หลายคน โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม มองออกทันทีว่า เจตนาที่แท้จริงคืออะไร เป็นเกมรุกการเมืองหรือไม่

คำตอบที่น่าไล่เรียงให้เห็นก็คือ สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กำหนดนิรโทษกรรมให้กับการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวน และชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในช่วงตั้งแต่ 11 ก.พ.49 ที่เป็นวันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ “เสื้อเหลือง” โดยการนำของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล จนถึงวันที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้

โดย วิธีการว่าจะให้นิรโทษกรรมกับบุคคลใดบ้าง และรูปแบบจะเป็นอย่างไร ให้เป็นอำนาจของ “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม” จำนวน 9 คน ทั้งนี้พรรคก้าวไกลดีไซน์ให้มีที่มาจากหลากหลาย เช่น ประธานสภาฯ-ผู้นำฝ่ายค้าน-บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี-บุคคลที่ ส.ส.ด้วยกันเองเลือก 2 คน-ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษา ในศาลยุติธรรม 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอในที่ประชุมใหญ่ของประธานศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครอง หรืออดีตตุลาการในศาลปกครองอีก 1 คน และอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน

นอกจากนี้ ยังระบุว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งกระทำเกินสมควรแก่เหตุ ตลอดจนไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113

ส่วนประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก เพราะถือว่า มีความเกี่ยวพันกับพรรคก้าวไกลมากที่สุด คือ ความผิดคดีม.112 จะครอบคลุมด้วยหรือไม่

เรื่องนี้ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีท่าทีไม่ปฏิเสธว่าอาจครอบคลุมด้วยโยนให้เป็นการวินิจฉัยของกรรมการ และยังอ้างสมัย 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาหนุนให้นิรโทษ 112 ด้วย

ทั้งที่พรรคก้าวไกล เพิ่งติดบ่วง “ม.112”(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการโหวตของ “ส.ว.” ส่วนใหญ่ ในการลงมติเลือก “นายกรัฐมนตรี” ของรัฐสภามาแล้ว อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

ที่น่าโฟกัสมากกว่านั้นก็คือ สาระสำคัญที่ระบุว่า “นิรโทษกรรมให้กับการกระทำใดๆของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวน และชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในช่วงตั้งแต่ 11 ก.พ.49 จนถึงพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้”

 

แม้ไม่ระบุเอาไว้ว่า “ครอบคลุมความผิด คดีม.112” แต่ถ้ารับหลักการตามนี้ ย่อมมีคดีม.112 รวมด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่สำคัญ ในความเห็นของพรรคก้าวไกล และมวลชนแนวร่วมทั้งหลาย มีความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งเช่นกันว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวของเยาวชน นักศึกษา ที่เห็นต่างทางการเมืองอันนำมาสู่คดีม.112 เป็น “คดีทางการเมือง” ไม่ใช่คดี “ม.112” จึงถือว่า พรรคก้าวไกลต้องการให้คณะกรรมการ 9 คนดังกล่าว ตีความ และวินิจฉัย นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ พรรคก้าวไกลจะหาแนวร่วมในรัฐสภาได้มากน้อยแค่ไหน แม้ส.ส.และส.ว.ก็เห็นความจำเป็นว่า จะต้องยุติความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง เพื่อนำความสงบสุขกลับมา โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งนอกจากจะมีเสียงส.ส.จำนวนมากเป็นอันดับสองแล้ว ยังเคยเป็นพันธมิตรทางการเมืองกันมาก่อน

แต่เมื่อฟังน้ำเสียงและท่าทีจาก นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) แล้ว โอกาสที่จะหวังพึ่งให้ร่างพ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกลผ่าน ยังเป็นเรื่องยาก และมีสิ่งที่ต้องทบทวนอย่างมาก

“ชูศักดิ์” กล่าวว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้มีการหารือกันว่าสมควรจะยื่นร่างกฎหมายประกบหรือไม่ เพราะความคิดเห็นของพรรคยังมีความหลากหลาย หากพูดถึงนิรโทษกรรมอาจดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทย จะตกเป็นจำเลยในอดีต ทั้งนี้การนิรโทษกรรมมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าให้ร่างกฎหมายนั้นไปสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นใหม่ของความขัดแย้งในสังคม

“เช่น จะรวมคดีอะไรบ้าง มาตรา 112 เอาไหม 113 เอาไหม 114 เอาไหม คดีชุมนุมทางการเมืองรวมถึงอะไรบ้าง ควรจะพูดเรื่องนี้กันให้จบ ให้ตกผลึก ไม่เช่นนั้นนำเข้าไปพิจารณาจะเป็นปัญหาความขัดแย้ง แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ขณะนี้จะต้องนำไปหารือกันในพรรคว่าควรจะดำเนินการอย่างไร”

ส่วนที่พรรคก้าวไกล ให้เหตุผลว่า เรื่องนี้จะเป็นก้าวแรกของการหยุดนิติสงคราม “ชูศักดิ์” เห็นว่า โดยหลักการความขัดแย้งหากยุติลงได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่จะต้องตอบคือยุติลงจริงหรือไม่ หรือจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น เรื่องนี้ต้องคิดให้ดีให้รอบคอบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่าสะท้อนให้เห็นมากที่สุดก็คือ คดีทางการเมือง ตั้งแต่อดีตที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดครอบคลุมจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร  

จากรายงานข่าว พบว่า คดี ของแกนนำ เสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส.หลายคดี ถึงที่สุดจนแนวร่วม แกนนำบางคนติดคุกออกมาแล้ว เว้นแต่บางกลุ่มที่คดียังไม่ถึงที่สุด และอาจได้อานิสงส์จากพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ เช่น กลุ่มแกนนำ กปปส. ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่รูปคดีหนักหนาสาหัส แกนนำเสี่ยงติดคุกหลายปี และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

แต่ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินคดี และต้องการอานิสงส์จากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของก้าวไกลมากที่สุด ก็คือ คดี “ม็อบ 3 นิ้ว” ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 63-66 โดยเฉพาะคดีม.112

เห็นได้ชัดจากสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 – 5 ต.ค. 66 (แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566) ซึ่งเก็บข้อมูลโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 258 คน ใน 280 คดี

ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน136 คดี, คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี, คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี, คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

สำหรับ พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา แยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุม 52 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น 69 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ 151 คดี, คดีลักษณะแอบอ้าง 1 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี

ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 20 ราย ในจำนวน 23 คดี

ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย 101 หมายจับ (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษา มธ. ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ

คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 196 คดี ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีทั้งหมด ดังนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ 24 คดี, อานนท์ นำภา 14 คดี, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี, ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี, เบนจา อะปัญ 8 คดี, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 7 คดี, พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี, สมพล (นามสมมติ) 6 คดี

แน่นอน, เป็นที่ทราบกันดีว่า การเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จนนำมาสู่การถูกดำเนินคดี ก็คือ ฐานมวลชนของพรรคก้าวไกล และเป็น ขาที่สอง ของพรรคก้าวไกล ที่เดินคู่ขนานกับการทำงานในสภาฯ

ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า มีส.ส.พรรคก้าวไกล ถึง 3 คนที่โดนคดีม.112 กล่าวคือ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. ที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา 14 ธันวาคมนี้ หลังเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม เพราะอยู่ในช่วงสมัยประชุมสภาฯ

คนที่ 2 ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส.ปทุมธานี อดีตแกนนำม็อบสามนิ้ว ที่ตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญาเช่นกัน แต่คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน

และคนที่ 3 โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม. อดีตหัวหน้าการ์ดม็อบสามนิ้ว ที่ถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 3 คดี

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำทางจิตวิญญาณก้าวไกล อย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็โดนคดี 112 เช่นกัน

กรณี “ปิยบุตร” เนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊กปี 2565 เรื่องปฏิรูปสถาบัน ซึ่งคดีอยู่ในชั้นอัยการ แต่คดีเลื่อนนัดฟังคำสั่งมาหลายรอบ ล่าสุดนัดอีกที 24 ตุลาคมนี้ว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือจะเลื่อนออกไปอีก

ขณะ “ธนาธร” ปัจจุบันเป็นจำเลยคดี 112 ที่ศาลอาญา ในคดีไลฟ์สดวัคซีนพระราชทานอยู่ระหว่างการสืบพยาน ที่ข่าวว่า ซักพยานกันเข้มข้นมากในห้องพิจารณาคดี

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า “ก้าวไกล” ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองครั้งนี้ มีผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ อย่างน้อย 3 ประเด็น

หนึ่ง - คดีที่ถือว่า ร้อนที่สุด และต้องการอานิสงส์จากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้มากที่สุดคือ คดีของ ฐานการเมือง  หลัก ของพรรคก้าวไกล

สอง - การผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองของพรรคก้าวไกล อยู่ในนโยบายหาเสียงของพรรคอยู่แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับจากฐานการเมืองเป็นอย่างดี

สาม - คนที่ถูกดำเนินคดีม.112 ส่วนใหญ่ ก็คือ แกนนำมวลชนที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนพรรคก้าวไกล รวมถึงส.ส.และผู้นำทางจิตวิญญาณพรรค

ดังนั้น ไม่แปลกที่จะถูกมองว่า เป็นเกมการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่ด้วย

ความจริง หมากเกมนี้ “ก้าวไกล” อาจรู้ทั้งรู้ว่า โอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุนเป็นไปได้ยาก และอาจถูกตีตกตั้งแต่ยกแรกด้วยซ้ำ แต่การผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็ได้ใจ และซื้อใจ ฐานการเมืองของตัวเอง และยึดโยงคะแนนนิยมเอาไว้ได้ ส่วนผลสำเร็จ คือ ผลพลอยได้ ที่เชื่อว่า หากไม่สำเร็จ “มวลชน” จะไม่โทษ “ก้าวไกล” แต่จะโทษฝ่ายตรงข้ามมากกว่า แค่นี้ก็สำเร็จแล้วในทางการเมือง หรือไม่จริง!?