จับตาสางปมฉาว 'สร้างรัฐสภา' เดิมพัน 'เลขาฯสภา' คนใหม่

จับตาสางปมฉาว 'สร้างรัฐสภา'  เดิมพัน 'เลขาฯสภา' คนใหม่

จังหวะที่ “รัฐสภาใหม่” รอความชัดเจนว่าจะ รับมอบ100% ได้ทันวันฉลองรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อีกมุมต้องจับตาการแต่งตั้ง “เลขาธิการสภาฯ คนใหม่” เพราะมีปมเกี่ยวข้อง และมีสิ่งต้อง "เดิมพัน"กันทั้งคู่

ครบ 7 วัน “รองอ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ให้คำตอบกับสังคม ต่อประเด็นโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ที่เมื่อสัปดาห์ก่อนสั่ง “เบรก” การรับมอบงาน 100% ออกไปก่อน เพราะเจอปัญหาข้อร้องเรียน โดยเฉพาะความไม่สมบูรณ์ของงานตามแบบและสัญญา

คำตอบที่ทุกคนรอคอยคือ “รองอ๋อง” ไร้อำนาจ-แทรกแซงการพิจารณา หรือตัดสินใจของผู้มีอำนาจที่แท้จริงได้ คือ “เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” ในฐานะผู้รับจ้าง ซึ่งถูกกำหนดไว้ตามระเบียบการจ้าง

ดังนั้น ต้องรอลุ้น 3 วันสุดท้าย ก่อนที่ “พรพิศ เพชรเจริญ” เลขาธิการสภาฯ จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้ จะมีคำตอบว่า “ไฟเขียว” หรือโยนให้เป็นเรื่องของ เลขาธิการสภาฯ คนใหม่ เป็นผู้พิจารณา

จับตาสางปมฉาว \'สร้างรัฐสภา\'  เดิมพัน \'เลขาฯสภา\' คนใหม่

ทั้งนี้ มีคำเตือนเล็กๆ จาก “ปดิพัทธ์” ผู้ประกาศเป็นตัวแทนประชาชนที่ติดตามตรวจสอบเรื่องดังนี้ว่า “ต้องทำให้รอบคอบที่สุด”

เนื่องจากก่อนการรับมอบงาน 100% มีผลกระทบที่สภาฯ ต้องแบกรับความเสี่ยง และต้องแบกความหวังของสังคมว่าจะซ้ำรอยโครงการของรัฐขนาดใหญ่ ที่ต้อง “เสียค่าโง่” หรือ “เสียรู้” ให้กับนายทุนหรือไม่

กรณีที่ “ผู้รับจ้าง” ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเสียหายจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ 1,590 ล้านบาท กรณีส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขนดินออกจากพื้นที่

รวมถึงต้องตอบคำถามว่า สภาฯ จงใจฮั้ว กับบริษัทผู้รับจ้าง โดยละเลย หรือไม่พิทักษ์ประโยชน์ให้กับส่วนรวมหรือไม่ คือ 

1.กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเอื้อให้กับผู้รับจ้าง เช่น การยินยอมให้นำชนิดไม้ที่ไม่ตรงตามสัญญามาสวมแทนไม้ตะเคียนทองหรือไม่ การนำหินประดับตกแต่งที่ผิดแบบ การทำเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผิดแบบ แต่ยินยอมอนุมัติค่างวดงานหรือไม่

2.การเรียกร้องค่าปรับตามสัญญา หากใช้เวลาเกินกรอบระยะเวลาก่อสร้างวันละกว่า 12 ล้านบาท ซึ่งมีตัวเลขคร่าวๆ ที่บริษัทผู้รับจ้างต้องจ่ายแตะระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุด “วัชระ เพชรทอง” เปิดเผยผ่านหนังสือที่ส่งถึง “ปดิพัทธ์” ว่ามีการลงนามเว้นค่าปรับ เป็นจำนวน 1,000 วัน หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 12,000 ล้านบาทหรือไม่

จับตาสางปมฉาว \'สร้างรัฐสภา\'  เดิมพัน \'เลขาฯสภา\' คนใหม่

ดังนั้น จึงเป็นจุดวัดใจว่าเรื่องปมปัญหาของรัฐสภาใหม่ที่คาราคาซังมายาวนานนั้นจะมีข้อยุติอย่างไร และเป็นธรรมกับส่วนราชการหรือไม่

ทว่า ในประเด็นปัญหาโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ไม่ได้มีปัญหานี้ปมเดียว เพราะยังลามไปถึงการแต่งตั้ง “เลขาธิการสภาฯ” คนใหม่แทน “พรพิศ”

การแต่งตั้งเลขาธิการสภาฯ คนใหม่ ที่ต้องผ่านชั้นพิจารณาของ “ก.ร.-คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา” พบว่า 1 ใน 3 แคนดิเดต มีชื่อพ่วงถูกตรวจสอบ เหตุพัวพันกับ “การสร้างรัฐสภาที่ส่อว่าไม่โปร่งใส” ทำให้การพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกเลื่อนออกไป

โดย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาฯ ฐานะประธาน ก.ร.ให้เหตุผลของการเลื่อนคือ “ขอพิจารณารายละเอียดให้ดีเสียก่อน” และขณะนี้เรื่องตรวจสอบอยู่ในชั้น “ก.ร.เฉพาะกิจ” และ “ก.ร.อุทธรณ์”

จับตาสางปมฉาว \'สร้างรัฐสภา\'  เดิมพัน \'เลขาฯสภา\' คนใหม่

สำหรับแคนดิเดตเลขาธิการสภาฯ คนใหม่ ที่ลงสมัครชิงตำแหน่ง และมีชื่อเข้าสู่ที่ประชุม “ก.ร.” 3 คน ประกอบด้วย

1.สาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการฯ ที่ดูแลสำนักการคลังและงบประมาณ สำนักรักษาความปลอดภัยและโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่

​2.ศิโรจน์ แพทย์พันธุ์ รองเลขาธิการฯ ฝ่ายวิชาการและงบประมาณ 

และ 3.ศุภพรรัตน์ สุขพุ่ม รองเลขาธิการสภาฯ ฝ่ายนโยบายและแผน และพัฒนาบุคลากร

สาธิต มีอายุราชการเหลือ 2 ปี ศิโรจน์ อายุราชการเหลือ 7 ปี และศุภพรรัตน์ เหลืออายุราชการ 5 ปี

ทว่า เมื่อ "สาธิต” โดนหางเลข ถูกบุคคลภายนอกร้องให้ตรวจสอบ ฐานะเป็นประธานกรรมการตรวจและรับมอบงานการจ้างออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้ ก.ร.ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง และความเป็นธรรม

จับตาสางปมฉาว \'สร้างรัฐสภา\'  เดิมพัน \'เลขาฯสภา\' คนใหม่

ต่อประเด็นนี้ วงใน ก.ร.มองว่า แนวทางของ “วันนอร์” นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ต้องเว้นว่าง ผู้บริหารระดับสูงถึง 1 เดือน เนื่องจาก ก.ร.จะนัดประชุมครั้งต่อไปวันที่ 24 ต.ค.นี้  

โดยระหว่างนี้ ก.ร.สามารถตั้งรักษาการเลขาธิการฯ ทำหน้าที่ไปพลางๆ ได้ ซึ่งรองเลขาธิการสภาฯ ที่อาวุโสสูงสุด คือ “ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์”

จับตาสางปมฉาว \'สร้างรัฐสภา\'  เดิมพัน \'เลขาฯสภา\' คนใหม่

ขณะที่การตรวจสอบในเรื่องที่โดนหางเลขนั้น วงใน ก.ร.ประเมินว่า “สาวไม่ถึง เนื่องจากข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นประเด็นที่เกิดจากระดับเจ้าหน้าที่ที่ชงเรื่องพิจารณา รวมถึงหน่วยงานภายนอก ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและควบคุมงาน”

ขณะเดียวกัน ในมุมของ “ปดิพัทธ์” ที่แถลงกับสื่อมวลชนเมื่อ 27 ก.ย. ต่อประเด็นความผิดพลาดของการ “คุมงานสร้างที่ผิดแบบ 6 จุด”

เอาเข้าจริง เป็นวาระที่กรรมการตรวจการจ้าง ที่ “รองฯ สาธิต” ต้องดูแลโดยตรง พูดคำที่ชวนคิดว่า “กรณีการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบ ที่พบว่ามี 6 จุดนั้น คิดว่าเป็นมากกว่าเรื่องผู้รับจ้าง”

ก่อนสรุปท้ายเรื่อง เตรียมเสนอตั้งกรรมการร่วม สส.-สว.ให้ตรวจสอบ เพื่อหวังยุติข้อพิพาท และเข้าใช้งานในพื้นที่ได้ 100% พร้อมกับตั้งเป้าจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. ที่รัฐสภา

ดังนั้น ในจังหวะที่ “รัฐสภาใหม่” ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะมีทางออกอย่างไร คงต้องจับตาตำแหน่ง “เลขาธิการสภาฯ คนใหม่” ไปพร้อมกัน เพราะทั้ง 2 เรื่อง ล้วนมีสิ่งที่ต้องเดิมพันกันทั้งคู่.