‘คารม พลพรกลาง’ ทนายเสื้อแดง สู่ สส.งูเห่า ก่อนถูกปูนบำเหน็จรองโฆษกรัฐบาล

‘คารม พลพรกลาง’ ทนายเสื้อแดง สู่ สส.งูเห่า ก่อนถูกปูนบำเหน็จรองโฆษกรัฐบาล

"...เขายังได้ไปต่อทางการเมือง เมื่อ ‘ก้าวไกล’ เกิด ‘ส้มหล่น’ แม้ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ ‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ‘คารม’ ในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย จึงได้รับการปูนบำเหน็จแต่งตั้งเป็น ‘รองโฆษกรัฐบาล’ ในที่สุด..."

ในบรรดาอดีต ‘สส.งูเห่า’ ของสภาฯชุดที่แล้ว ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 ไม่มีใครได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เลือกเข้าสภาฯชุดปัจจุบันแม้แต่คนเดียว

หลายคนเหลือเพียงชื่อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำไปซ้ำมาจากฝ่ายเห็นต่าง บางคนเลิกเล่นการเมือง บางคนยังคงเดินบนถนนการเมืองอยู่

แต่ในบรรดา สส.งูเห่า เหล่านี้ ชื่อของ ‘คารม พลพรกลาง’ น่าจะดูรุ่งโรจน์ที่สุด

เพราะล่าสุด ได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี’ หรือรู้จักกันในชื่อ ‘รองโฆษกรัฐบาล

สำหรับคำว่า ‘งูเห่า’ ถูกเรียกครั้งแรกจากปากของ ‘สมัคร สุนทรเวช’ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทย ถูก ‘วัฒนา อัศวเหม’ แกนนำกลุ่มปากน้ำ นำ 13 สส.พรรคประชากรไทย โหวตให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2540 จน ‘สมัคร’ เปรียบตัวเองเป็นชาวนาที่ถูกงูเห่ากัด ตามนิทานอีสป

‘สส.งูเห่า’ กรณีล่าสุด เกิดขึ้นช่วงระหว่างปี 2562-2566 ภายหลังอดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ โหวตสวนมติพรรค ไปเข้าข้าง สส.ฝ่ายรัฐบาลเดิม กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเป็นพรรคก้าวไกล มีอดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจำนวนไม่น้อย แม้แต่บางคนที่สังกัดพรรคก้าวไกลแล้ว ในช่วงหลังยังเอนเอียงโหวตสวนมติพรรคเช่นเดียวกัน

‘คารม พลพรกลาง’ คือหนึ่งใน สส.งูเห่า อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล ที่ถูกนักการเมือง และสื่อบางสำนักเรียกจนติดปาก เพราะทำหน้าที่องค์รักษ์พิทักษ์ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล เมื่อครั้งเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.สาธารณสุข จากการอภิปรายในสภาฯหลายต่อหลายครั้ง

เส้นทางชีวิตของ ‘คารม’ ปัจจุบันอายุ 60 ปีหมาด ๆ (เกิด 7 ก.ย. 2506) จบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง หลังจากนั้นก้าวเข้าสู่อาชีพทนายความ ด้วยความที่ชอบการเมืองมาก จึงสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ในช่วง ‘ทักษิณฟีเวอร์’ 

เขาให้สัมภาษณ์ Post Today (ตีพิมพ์ฉบับวันที่ 3 ก.ค. 2553) ตอนหนึ่งว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่เข้ามาเป็น ทนายความคนเสื้อแดง คือการต่อต้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ที่เสนอให้ใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากนั้นทำให้เขาเข้าไปคลุกวงในกับ ‘แกนนำเสื้อแดง’ หลายคน โดยเฉพาะกับ ‘วีระกานต์ มุสิกพงศ์’ อดีตประธาน นปช. กระทั่งได้ขึ้นเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดง กระทั่ง ‘มานิตย์ จิตจันทร์กลับ’ ที่ปรึกษา นปช. ดึงมาช่วยทำคดีช่วยเหลือคนเสื้อแดงในเวลาต่อมา

ภารกิจหลักของเขาขณะนั้นคือการวิ่งวุ่นเดินเรื่องระหว่างสำนักงานอัยการ-ศาล เพื่อประกันตัวบรรดาแกนนำ จนถึงมวลชนในม็อบ จนสุดท้ายได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าทีมทนายความของคนเสื้อแดง

ในช่วงปี 2553 เขาเคยเอ่ยปากว่า หากอนาคตได้ลงเล่นการเมือง อาจลงสมัคร สว.ร้อยเอ็ด เพราะเป็นจังหวัดบ้านเกิด เพราะถ้าลงสมัคร สส.เพื่อไทย ไม่มั่นใจว่าจะถูกกลั่นแกล้งให้ถูกยุบพรรคหรือไม่

แต่ความฝันของเขาก็ไม่สำเร็จ เพราะในช่วงปี 2561 เขาเลือกย้ายออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย มาสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 26 และด้วยปรากฎการณ์ ‘พ่อของฟ้า’ ส่งผลให้เขาได้เป็น สส.เข้าสภาฯครั้งแรก ใน ‘เสื้อสีส้ม’

ในช่วงแรกเขาได้รับการโปรโมตจากพรรคค่อนข้างดี ในฐานะที่เป็น ‘มือกฎหมาย’ คอยประสานงาน และอภิปรายด้านข้อกฎหมาย เคียงคู่กับ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการพรรค (ขณะนั้น)

ทว่าเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ‘คารม’ เริ่มเปลี่ยนไป เพราะเขาเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้บริหารพรรคชุดใหม่ จนมีกระแสข่าวว่าเขาอาจไม่เข้าร่วมกับพรรคก้าวไกล ทว่าก็เข้าร่วมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดเวลาย้ายพรรค

หลังจากนั้น ‘คารม’ เริ่มแผลงฤทธิ์ โดยหลายครั้งที่เขาโหวตสวนมติพรรค พร้อมกับให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายครั้งว่า ต้องการแยกทางกับพรรคก้าวไกล เนื่องจากแนวทางไม่ตรงกัน และต้องการย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย

“ต้องการแยกทางกับพรรคก้าวไกล เพราะไม่ได้รัก และถึงขั้นแตกหักกันแล้ว เปรียบเป็นสามีภรรยากันเมื่อไม่รักก็ต้องไป ถ้าพรรคไม่ขับออก ก็ถือว่า เล่นการเมืองแบบเด็กอมมือ ขี้ขลาดตาขาว” คารม ระบุ

แต่สุดท้ายพรรคก้าวไกล มิได้ขับออก เพราะไม่อยากไปเพิ่มเสียงให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ปล่อยเขาไว้จนกระทั่งเขาลาออกจาก สส. และสมาชิกพรรคก้าวไกล ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย โดยในการเลือกตั้งปี 2566 เขาถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ร้อยเอ็ด เขต 6 แต่ไม่ชนะการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนไปเพียง 16,306 เสียง เป็นอันดับ 3 พ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่ได้ลำดับ 2 และผู้สมัครพรรคก้าวไกลที่เข้าวิน

ปิดฉากตำนาน ‘งูเห่า’ ภาค 2 ไปโดยปริยาย

แต่ตัวเขายังได้ไปต่อทางการเมือง เมื่อ ‘ก้าวไกล’ เกิดปรากฎการณ์ ‘ส้มหล่น’ แม้จะชนะการเลือกตั้งหอบ 151 สส.เข้าสภาฯ แต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ ‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

‘คารม’ ในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย จึงได้รับการปูนบำเหน็จแต่งตั้งเป็น ‘รองโฆษกรัฐบาล’ ในที่สุด

ในมุม ทรัพย์สิน คารม พลพรกลาง เขาแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพ้นจากตำแหน่ง 15 ธ.ค. 2565 แจ้งมีทรัพย์สิน 24,800,515 บาท ได้แก่

  • เงินสด 3 แสนบาท เงินฝาก 145,219 บาท
  • ที่ดิน 8,780,000 บาท โ
  • รงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 14 ล้านบาท
  • ยานพาหนะ 7.2 แสนบาท
  • ทรัพย์สินอื่น 855,296 บาท
  • มีหนี้สิน 15,190,404 บาท
  • แจ้งมีรายได้รวม 4,347,732 บาท 

ในจำนวนนี้แจ้งรายได้จากการทำนา 2563-2565 รวม 121,554 บาท พร้อมระบุว่า ได้จดทะเบียนเป็นเกษตรกร มีรายได้จากการทำนา และเงินชดเชยจากรัฐบาล นอกจากนี้ยังแจ้งมีรายได้จากการเล่นแชร์ ระหว่างปี 2563-2565 รวม 1.7 ล้านบาท (เปียร์ครั้งละ 1 แสนบาท มือละ 200,000 บาท จำนวน 100 มือ)

นางปภารัต พลพรกลาง คู่สมรส มีทรัพย์สิน 10,573,008 บาท ได้แก่

  • เงินฝาก 864,855 บาท
  • ที่ดิน 6 แสนบาท
  • โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 8 ล้านบาท
  • ยานพาหนะ 1 ล้านบาท
  • ทรัพย์สินอื่น 108,152 บาท
  • มีหนี้สิน 695,000 บาท

รวมทั้งคู่มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 35,373,523 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 15,884,404 บาท

ในมุมธุรกิจ เขาเคยเป็นกรรมการบริษัท 2 แห่ง คือ บริษัท สำนักกฎหมายคารม พลพรกลาง แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและทนายความ และบริษัท สำนักพิมพ์สามพอ จำกัด ทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ แต่ทั้ง 2 แห่งเลิกกิจการ เสร็จการชำระบัญชีไปทั้งหมดแล้ว