'ก้าวไกล' ชี้ปม 'ช่อ' สะท้อนความผิดปกติ ย้ำปัญหา รธน.60 ขยายอำนาจองค์กรอิสระ

'ก้าวไกล' ชี้ปม 'ช่อ' สะท้อนความผิดปกติ ย้ำปัญหา รธน.60 ขยายอำนาจองค์กรอิสระ

'ก้าวไกล' ขยับแล้ว! ชี้ปมศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 'ช่อ พรรณิการ์' ตลอดไป สะท้อนความผิดปกติหรือไม่ ตอกย้ำปัญหา รธน. 60 ขยายอำนาจองค์กรอิสระ ไม่สอดคล้องมาตรฐานสากล ชงปฏิรูปกฎหมาย

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 พรรคก้าวไกล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีศาลฎีกา มีคำพิพากษา ถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต 'ช่อ พรรณิการ์ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ คดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง

โดยพรรคก้าวไกล ระบุว่า กรณีตัดสิทธินักการเมือง - อิทธิฤทธิ์ของกลไก “มาตรฐานทางจริยธรรม” ในรัฐธรรมนูญ 2560 และความจำเป็นในการปฏิรูปองค์กรอิสระ

เมื่อวาน ศาลฎีกามีคำพิพากษาถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตของคุณพรรณิการ์ วานิช ด้วยฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามกฎหมาย จากโพสต์ในโซเชียลมีเดียเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ก่อนคุณพรรณิการ์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร

รายละเอียดเนื้อหาสาระของคำพิพากษาต่อกรณีนี้ มีหลายส่วนถูกตั้งคำถามโดยสังคม ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตเรื่องห้วงเวลาของการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรับตำแหน่งทางการเมือง คำถามเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือการที่การกระทำเดียวกันของคุณพรรณิการ์ เคยถูกฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) แต่ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้อง ยิ่งสะท้อนให้เห็น ‘ความผิดปกติ’ ของการพิจารณาที่อาจถูกตั้งคำถามได้ว่า ได้ให้ความเป็นธรรมแก่คุณพรรณิการ์อย่างเพียงพอหรือไม่

ในภาพใหญ่ เหตุการณ์ของคุณพรรณิการ์ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ตอกย้ำถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ขยายอำนาจขององค์กรอิสระซึ่งมีที่มาที่ขาดความยึดโยงกับประชาชน แต่เปิดช่องให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง โดยเฉพาะการทำลายอนาคตทางการเมืองของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผ่านกลไกไม้บรรทัดที่ชื่อ “มาตรฐานทางจริยธรรม” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกใช้เป็นเหตุในการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตมาแล้วอย่างน้อย 4 กรณี ที่เป็นที่รับรู้วงกว้าง คือ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี (พิพากษาเมื่อ 7 เมษายน 2565) อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส.มุกดาหาร (พิพากษาเมื่อ 6 มกราคม 2566) กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ (พิพากษาเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566) และ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.กรุงเทพฯ (พิพากษาเมื่อ 3 สิงหาคม 2566)

“มาตรฐานทางจริยธรรม” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดร่วมกันโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ถูกบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 235 กำหนดให้ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง และเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

กลไกนี้มีหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากล เพราะนอกจากเป็นการวางกลไกที่ “ผิดฝาผิดตัว” ในการให้อำนาจองค์กรหนึ่งมากำหนดมาตรฐานจริยธรรมหรือพิพาษาเรื่องจริยธรรมขององค์กรอื่น แต่ยังเป็นการเปิดช่องให้องค์กรตุลาการใช้อำนาจในการ “ประหารชีวิต” นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยข้ออ้างเรื่อง “จริยธรรม” ที่สามารถถูกเขียนไว้อย่างกว้างและสามารถถูกตีความได้ตามดุลพินิจของตนเอง

\'ก้าวไกล\' ชี้ปม \'ช่อ\' สะท้อนความผิดปกติ ย้ำปัญหา รธน.60 ขยายอำนาจองค์กรอิสระ

เหตุการณ์นี้จึงยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคก้าวไกลหวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยการปฏิรูปอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระเป็นวาระที่ขาดหายไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องรวมถึง

  • การวางขอบเขตอำนาจให้สมเหตุสมผลและไม่เปิดช่องให้ถูกใช้ในการขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน
  • การปรับกระบวนการสรรหา-รับรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชนและไม่ถูกผูกขาดไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง
  • การสร้างกลไกในการตรวจสอบและกลไกรับผิดรับชอบขององค์กรอิสระ

ดังนั้น ไม่ว่าอาวุธเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรม” ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกใช้กับนักการเมืองคนใดหรือจากพรรคการเมืองใด และไม่ว่าพฤติกรรมของนักการเมืองคนนั้น จะเป็นสิ่งที่ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ทันทีที่สังคมไทยยอมรับให้การใช้อาวุธนี้กลายเป็นเรื่องปกติ นั่นเท่ากับเรายอมรับให้มีการทำลายล้างกันทางการเมืองอย่างไม่ชอบธรรม จนสุดท้าย “มาตรฐานจริยธรรม” อันเลื่อนลอย-ไร้มาตรฐานนี้ เป็นอาวุธหวนกลับมาบ่อนทำลายหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย