"พัชรวาท" ลั่น ยกระดับงาน "ทส." ลุย แก้ PM2.5 ภัยแล้ง สภาพอากาศ ที่ดินคนกับป่า

"พัชรวาท" ลั่น ยกระดับงาน "ทส." ลุย แก้ PM2.5 ภัยแล้ง สภาพอากาศ ที่ดินคนกับป่า

“พัชรวาท” ขอบคุณ สส.-สว. เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ชี้ รวบรวมทั้งหมด เพื่อนำไปยกระดับ เดินหน้าทำทันที โชว์ แผนแก้ฝุ่น PM 2.5 -ภัยแล้ง อย่างเป็นรูปธรรม เตรียมสานต่อแก้ปัญหาที่ทำกิน ผ่านโครงการ คทช.

ที่รัฐสภา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 ว่า ตนเองได้รับฟังข้อเสนอแนะ และข้อห่วงใยของสมาชิกรัฐสภาอย่างครบถ้วน ซึ่งต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง โดยจากนี้ ตนจะดำเนินการรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปยกระดับการพัฒนางานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯพร้อมได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รับไปปฏิบัติในทันที ส่วนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก็ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะการลดฝุ่นที่แหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการควบคุมการเผาป่า การเผาวัสดุการเกษตรและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ภาคการเกษตร การจัดการพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืนและหมอกควันข้ามแดน เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเร่งกักเก็บน้ำ สูบทอยน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และเตรียมเครื่องจักรปฏิบัติการเติมน้ำจากน้ำฝน และเติมน้ำใต้ดิน รวมถึงทำแผนจัดสรรน้ำควบคู่กับแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก ไปจนถึงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ โดยเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และให้ตระหนักการใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ ทั้งแหล่งน้ำผิวดินและขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมจัดเตรียมความพร้อมของศูนย์ผลิตน้ำดื่มสะอาด จุดบริการน้ำอุปโภค-บริโภค ชุดเจาะบ่อบาดาลและฟื้นฟูบ่อบาดาลเก่า รถบรรทุกน้ำของกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในระดับส่วนกลางที่กระทรวง และระดับจังหวัด

“ส่วนแนวทางการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 และเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ร้อยละ 40 ในปี ค.ศ. 2030 จึงได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินการ โดยมีแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามเป้าหมาย NDC พ.ศ. 2564 - 2573 และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิการจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตตลอดจน ผลักดันกลไกภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้กับภาคเอกชนและส่วนการแก้ไขปัญหาขยะยังได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน การจัดการและคัดแยกขยะครัวเรือน ขยะชุมชน ยกระดับสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง และตรวจสอบควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงการจัดการขยะของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศที่กระทรวงจัดทำไว้ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด รวมถึงการเร่งรัดออกกฎหมายใหม่ให้สามารถเสนอมาตรการป้องกันใหม่ๆ อาทิ พระราชบัญญัติซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว

 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวต่อว่า ในส่วนการจัดที่ดินทำกินภายใต้โครงการ คทช. ถือเป็นการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าให้กับราษฎรในลักษณะแปลงรวม มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ยังรักษามิติในการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ประกอบด้วย 1. การจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (คทช.) โดยดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 2. การอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และในส่วนโครงการจัดหาน้ำบาดาล ได้สั่งการเร่งรัดกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 47 โครงการ 48 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จ 29 แห่ง คงเหลือ 19 แห่ง ปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว 7 แห่ง สำหรับ 12 แห่ง อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลโดยเร่งด่วนต่อไป 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ในนามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน สำหรับทุกข้ออภิปราย และข้อห่วงใย เราจะใช้ 4 ปีนี้ขับเคลื่อนทุกวาระที่ทุกท่านได้ฝากกันมาให้สำเร็จ พร้อมทั้งขอเรียนว่า เรามีหน่วยงานกระจายตัวอยู่ทั้ง76 จังหวัดทั่วประเทศ ท่าน สส. สว. ทุกท่าน สามารถประสานงานได้ทั้งกับผม พร้อมทั้งเสนอแนะกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้องและข้าราชการของกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนวาระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ