‘ศิริกัญญา’ ซัดนโยบายรัฐบาล ไม่ตรงปก เตือนบริหารแผ่นดิน ไม่ใช่เล่นพนัน

‘ศิริกัญญา’ ซัดนโยบายรัฐบาล ไม่ตรงปก เตือนบริหารแผ่นดิน ไม่ใช่เล่นพนัน

‘ศิริกัญญา’ ออกโรงคนแรก ซัดนโยบายรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ไม่ตรงปก ‘เพื่อไทย’ มาตรฐานตกต่ำ เทียบไม่ได้กับสมัย ‘ยิ่งลักษณ์’ ชี้ถ้ากลัวการผูกมัด ก็อย่าไปสัญญาหาเสียงกับ ปชช.แต่แรก ขอให้จัดลำดับให้ดี การบริหารแผ่นดิน ไม่ใช่การพนัน เทหมดหน้าตักไม่ได้

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค อภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า นโยบายที่สัญญาไว้ให้กับประชาชน แลกกับคะแนนเสียง ถ้าพรรคการเมืองไหนคิดจะกลับคำ ตระบัดสัตย์ ไม่ดำเนินการนโยบายที่หาเสียงไว้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลโดยปราศจากคำอธิบายที่รับฟังได้ แบบนี้คงถือว่าพรรคการเมืองดังกล่าวทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า มาตัดเกรดกันคิดว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีเกรดเดียวพอ ๆ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ เผลอ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ดีกว่าด้วยซ้ำ ที่น่าผิดหวังไปกว่านั้น พรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มาตรฐานตก ไม่รักษามาตรฐานไว้ที่ทำไว้ดีมากหากเทียบกับสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทั้งประเด็นการกำหนดเป้าหมาย การอธิบายรายละเอียดนโยบาย การบรรจุนโยบายต่าง ๆ ที่หาเสียงไว้ การกำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจน เป็นต้น โดยในส่วนของนายเศรษฐานั้น อ่านแล้วว่างเปล่า เขียนแบบนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่าพูดอีกก็ถูกอีก เหมือนพูดว่าน้ำเป็นของเหลว ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกตั้งเป้าให้ประชาชนความเป็นอยู่แย่ลง สำหรับตนรัฐบาลนี้ไม่มีเป้าหมาย
    
“ที่สำคัญที่สุดคำมั่นให้ไว้กับประชาชนช่วงเลือกตั้ง เป็นคำสัญญาศักดิ์สิทธิ์ เพราะการเลือกตั้งเป็นตลาดนโยบาย แต่ละพรรคจะประชันกันว่านโยบายใครดีสุดให้ประชาชนเลือก เมื่อเลือกแล้วต้องทำตามสัญญาที่ให้ประชาชนไว้ ไม่อย่างนั้นการเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย เราคงไม่ต้องขายนโยบายกันแล้ว เพราะสุดท้ายสิ่งที่ประชาชนเลือก ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนได้รับ แบบนี้เรียกว่าไม่ตรงปก” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า คำแถลงนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ไม่มีรายละเอียด ไม่มีการกำหนดเป้า เหมือนของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา แม้แต่กรอบนโยบายเร่งด่วนที่ต้องบรรจุนโยบายสำคัญเร่งด่วน เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน ก็ไม่ได้บอกว่าจะเสร็จใน 90 วัน 1 ปี หรือ 2 ปี ปากท้องของประชาชนรอไม่ได้ ที่หนักสุดคือนโยบายที่หาเสียงไว้ หาแทบไม่เจอ แต่คิดว่าหาของพรรคเพื่อไทยพอเจออยู่บ้าง ยกเว้นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หายไปเลย ไม่มี เมื่อเปรียบเทียบกับแผนงาน และเป้าหมายของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยังมีกรอบเวลาชัดเจน เป้าหมายชัดเจนมากกว่า

นอกจากจะเป็นคำแถลงที่ขาดเป้าหมาย รายละเอียด หลีกเลี่ยงการใส่นโยบายที่หาเสียง ยังเป็นคำปราศรัยที่ปราศจากความทะเยอะทะยาน ที่จะพาสังคมให้ก้าวหน้า ขาดความทะเยอทะยานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างให้เกิดขึ้นกับสังคมในประเทศนี้ เสมือนว่าหลับตาข้างหนึ่ง แล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง เสมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองก็ไม่พูดถึง หรือความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็แทบไม่พูดถึง ไม่มีการพูดการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่กล้าแตะเรื่องยาก ๆ ที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ คิดว่าตอนหาเสียงกล้าหาญกว่านี้มาก

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า การแถลงนโยบายของนายกฯ คล้าย ๆ ตอน พล.อ.ประยุทธ์ แถลง วิเคราะห์สาเหตุที่เป็นแบบนี้มี 2 เหตุผลด้วยกัน

1. รัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวว่าจะทำไม่ได้อย่างที่สัญญา เลยไม่กล้าผูกมัดอะไรกับประชาชนเลย แต่ถ้ามองว่าบางนโยบายไม่สามารถทำได้ หรือเป็นภาระการคลัง ไม่ควรไปหลอกช่วงเลือกตั้ง หรือหาเสียงแต่แรก

2. รัฐบาลผสมข้ามขั้วที่นโยบายคนละขั้วเช่นเดียวกัน สุดท้ายเลยหาข้อตกลงสิ้นสุดไม่ได้สักอย่าง เลยต้องเขียนให้ลอย ให้กว้างเอาไว้ แถมที่มาของอำนาจต้องเกรงใจอำนาจเก่า กลุ่มทุนต่าง ๆ ไม่กล้าทำเรื่องยากที่ต้องปะทะกับใครเลย

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้น 1 บาทในโลกจริง จะเท่ากับ 1 บาทในโลกดิจิทัลได้ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงินน่าเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่สามารถนำเงินทั้ง 5.6 แสนล้านบาทมาแบ็คอัพ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของร้านค้าที่จะขึ้นเป็นเงินสดก็ดี หรือไม่ก็กังวลว่าร้านจะไม่มีให้แลกที่ต้องการ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เมื่อไหร่ 1 บาทในโลกดิจิทัล จะไม่เท่ากับ 1 บาทในโลกจริงทันที ทำให้เกิดเป็นเงินเฟ้อในโลกดิจิทัล และอาจมีการขึ้นราคาสินค้าถ้ามีการจ่ายที่ไม่ใช่เงินสด ถ้าคนไม่เชื่อมั่นรัฐมีเงินสดมากพอ ก็ยิ่งหนักไปอีก

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายตั้งคำถามแหล่งที่มาของเงิน ในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะใช้งบ 5.6 แสนล้านบาท ว่า ถ้าใช้งบแผ่นดินต้องพิจารณาว่าพอหรือไม่หรือมีเงินสดพอหรือไม่ หรือหากใช้เงินนอกงบประมาณ จะมี 3 วิธีการคือ กู้ยืมเงินจากธนาคารรัฐ กู้ยืมเงินกองทุนหมุนเวียนหรือไม่ และขายกองทุนวายุภักษ์ หากเลือกใช้งบ 2567 คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะงบที่เหลือจริง ๆ ที่ท่านจะใช้ได้คือ 4 แสนล้านบาท ท่านได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลอื่นหรือยังที่จะเอางบที่เหลือมาลงกับดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากเลือกใช้เงินนอกงบประมาณก็ไม่สามารถทำได้หากไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งนายกฯบอกว่าเคร่งครัดเรื่องวินัยการเงินการคลัง แต่งานแรกจะเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลังเลยหรือ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ความเสี่ยง 5 ข้อที่รัฐบาลนายเศรษฐาต้องระวังคือ

1.การกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยป่วยทั้งตัวหรือป่วยเฉพาะส่วนและเรื้อรัง การแจกเงินครั้งใหญ่ย่อมสร้างกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อาจไม่คุ้มค่า เพราะรักษาไม่ตรงจุด

2.การกระจายรายได้ ต้องรอให้เค้กโตหรือโตไปด้วยแบ่งไปด้วย เพราะเศรษฐกิจโตแค่ส่วนบนไม่ได้ ควรมีการปฏิรูปการจัดงบประมาณ และระบบภาษีไปด้วย

3.เศรษฐกิจผูกขาด ธรรมชาติที่ต้องทนหรือเพราะเห็นคนไม่เท่ากัน กดทับศักยภาพผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ประชาชนแบกภาระค่าใช้จ่าย

4.วิธีคิดนโยบาย โยกเงินกระเป๋าซ้ายขวา หรือแก้ปัญหาที่ต้นตอ

5.โลกเปลี่ยน ไทยก็เปลี่ยน บริบทแตกต่างจากทศวรรษที่ 2540 หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ยุคเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ส่งออกไม่รุ่ง ตลาดกระจุกตัวสูงขึ้น ทรัพยากรถดถอย 

“เรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แน่นอนว่ากระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ ให้ GDP โตได้แน่นอน แต่ไม่เพียงพอให้เกษตรกรไว้ขุดแหล่งน้ำ บรรเทาภัยแล้งได้ ไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน ไม่สามารถช่วยให้ผู้ส่งออก ส่งออกเพิ่ม หรือตัด OT คนงานได้ ขอให้จัดลำดับให้ดี การบริหารแผ่นดิน ไม่ใช่การพนัน จะเทหมดหน้าตักไม่ได้ แล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าแบบนี้ไม่ได้ ถึงเวลาที่ท่านต้องตั้งใจ ฟังเสียงที่ไม่อยากได้ยิน ที่ท่านบอกว่าประเสริฐที่สุดตลอด 2 วันนี้ โดยข้อดีของการแถลงนโยบายที่กว้าง ๆ สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น ที่ไม่ผิดสัญญา แม้จะพลาดครั้งนี้ แต่ยังมีโอกาสในการแถลงงบประมาณที่กำลังมาถึง เพราะถ้าแถลงนโยบายเป็นสัญญา 4 ปี การแถลงงบประมาณเป็นคำสัญญา 1 ปี เฝ้ารอในโอกาสหน้าแล้ว” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว