ย้อนรอย "7 หัวหน้าพรรค"เพื่อไทย หุ่นเชิด ‘นายใหญ่-ชินวัตร’ ?

ย้อนรอย "7 หัวหน้าพรรค"เพื่อไทย  หุ่นเชิด ‘นายใหญ่-ชินวัตร’ ?

เก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นเพียงแค่ “หุ่นเชิด” ของ “นายใหญ่” และ “ตระกูลชินวัตร”  อำนาจไม่เคยเป็นของผู้นำพรรคอย่างแท้จริง จากนี้ไป ก็ต้องลุ้นว่าเจ้าของพรรคจะเลือกใครมาทำงานในสถานการณ์นี้  

“ผมขอทำตามที่เคยประกาศเอาไว้ เป็นสัจจะที่เคยได้ลั่นวาจาเอาไว้ว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรค มีมติจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ผมพร้อมจะลาออก ผมขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามที่ได้ประกาศเอาไว้ ณ บัดนี้”

ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ภายหลังที่พรรคเพื่อไทยดึง “พรรคสองลุง” ร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนดัน "เศรษฐา ทวีสิน" นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ได้สำเร็จ

 ต้องยอมรับว่า ก่อนวันกาบัตร 14 พ.ค. กระแสพรรคก้าวไกลมาแรงในช่วงโค้งสุดท้าย วาทะ “มีเรา ไม่มีลุง” กลบกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย จนวูบอย่างน่าใจหาย 

 มิหนำซ้ำ เพื่อไทยยังโดนตั้งคำถาม ถึงดีลลับจับมือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตั้งรัฐบาล จนฐานเสียงเริ่มสั่นคลอน

ทำให้ “ชลน่าน” ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องประกาศกลางเวทีดีเบต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ว่า ไม่จับมือ “พรรคลุงป้อม” จัดตั้งรัฐบาล หากมีการจับมือกัน จะลาออกจากหัวหน้าพรรค เพราะต้องการหยุดกระแสพรรคคู่แข่ง และรักษาแต้มการเมืองของเพื่อไทย ไม่ให้ไหลไปยังก้าวไกลได้อีก

ความไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มของเพื่อไทย ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นอย่างหวัง กระแสแลนด์สไลด์หายวับ จนพ่ายเลือกตั้งให้ก้าวไกล

จากวันที่ 28 เม.ย. เดินทางมาถึงวันที่ 30 ส.ค. หมากการเดินมาถึงฉากที่พรรคเพื่อไทย ต้องจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรคลุงป้อม” แม้ ชลน่านจะนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่รับรู้กันดีว่าเบื้องหลังการดีลข้ามขั้วทั้งหมดอยู่ที่ “นายใหญ่” 

“ชลน่าน” เป็นเพียงหมากการเมืองตัวหนึ่งที่ “นายใหญ่-ตระกูลชินวัตร” หยิบมาใช้งานในบางช่วงเวลา ไม่ต่างจากอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนอื่น 

16 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเพื่อไทย เมื่อ 20 ก.ย. 2550 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาแล้ว 7 คน ดังนี้ 

1. บัณจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ เริ่มวาระหัวหน้าพรรค 20 ก.ย. 2550 และสิ้นสุดวาระ 20 ก.ย.2551 โดยอยู่ในช่วงตั้งพรรคไว้รออุบัติเหตุทางการเมือง ยังไม่มี สส. เข้าสังกัดพรรค

2. สุชาติ ธาดาธำรงเวช เริ่มวาระหัวหน้าพรรค 21 ก.ย.2551 และสิ้นสุดวาระ 19 พ.ย. 2551 ช่วงเวลาดังกล่าวพรรคพลังประชาชน กำลังต่อสู้คดียุบพรรคกรณี ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ทุจริตการเลือกตั้ง

กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยที่ตั้งเอาไว้รองรับอุบัติเหตุทางการเมือง จึงถูกหยิบมาใช้บริการ บรรดา สส. พลังประชาชนบางส่วนไหลมารวมที่พรรคเพื่อไทย แต่ สส.กลุ่มเพื่อนเนวิน แยกไปจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

3. ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เริ่มวาระหัวหน้าพรรค 7 ธ.ค.2551 และสิ้นสุดวาระ 4 ต.ค. 2555 ภาพจำของ “ยงยุทธ” คือการจับได้เบอร์ 1 ในการเลือกตั้งปี 2554 กวาดคะแนน 15 ล้านเสียง ส่ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นั่งเก้าอี้นายกฯ

“ยงยุทธ” ได้รับการปูนบำเหน็จให้ดำรงตำแหน่ง รองนายกฯ ควบรมว.มหาดไทย แต่ท้ายสุด อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย ลงมติให้ไล่ออกจากราชการ จึงมีผลกระทบต่อคุณสมบัติทางการเมืองส่วนบุคคล ทำให้ “ยงยุทธ” ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมถึงหัวหน้าพรรค

หลังจากนั้นชื่อของ “ยงยุทธ” หายเข้ากลีบเมฆ แทบไม่มีบทบาททางการเมืองแม้แต่น้อย

4. จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เริ่มวาระหัวหน้าพรรค 30 ต.ค.2555 และสิ้นสุดวาระ 16 มิ.ย. 2557 รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแทน “ยงยุทธ” พร้อมทั้งได้รับมอบหมายให้นั่งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย

“จารุพงศ์” มีจุดยืนทางประชาธิปไตยที่ชัดเจน เมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2557 ได้ออกมาต่อต้าน คสช. อย่างหนัก พร้อมทั้งหนีคำสั่งเรียกรายงานตัว จนต้องออกนอกประเทศ ปัจจุบันจัดตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ

5. พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เริ่มวาระหัวหน้าพรรค 28 ต.ค. 2561 และสิ้นสุดวาระ 2 ก.ค. 2562 ถูกตั้งมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคขัดตาทัพ เนื่องจากอยู่ในช่วง คสช. เรืองอำนาจ เตรียมพรรคเพื่อไทยให้พร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้ง

6. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เริ่มวาระหัวหน้าพรรค 12 ก.ค.2562 และสิ้นสุดวาระ 28 ต.ค.2564 แม้ยี่ห้อ “สมพงษ์” จะเป็นเบอร์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย แต่ในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 “นายใหญ่” เลือกใช้บริการ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น บทบาทของ “สมพงษ์” แทบไม่มี

จนกระทั่ง 28 ต.ค.2564 “นายใหญ่” ต้องการเปลี่ยนเกมการเมือง รีแบรนด์พรรคเพื่อไทยให้มีภาพคนรุ่นใหม่ ปลด “สมพงษ์” ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยไม่มีการแจ้งให้รับรู้เอาไว้ก่อน

โดยเชิดหัวหน้าพรรคคนที่ 7 “ชลน่าน ศรีแก้ว” ขึ้นมาแทน พร้อมส่ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คอยคอนโทรลพรรค ทั้งฉากหน้าฉากหลัง ทุกการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยมี “แพทองธาร” ร่วมคิดร่วมทำ แต่ตำบลกระสุนตกไปอยู่ที่ “ชลน่าน” ในฐานะนักแสดงนำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นเพียงแค่ “หุ่นเชิด” ของ “นายใหญ่” และ “ตระกูลชินวัตร”  อำนาจไม่เคยเป็นของผู้นำพรรคอย่างแท้จริง จากนี้ไป ก็ต้องลุ้นว่าเจ้าของพรรคจะเลือกใครมาทำงานในสถานการณ์นี้