จี้ กทม.รื้อคอนโด ‘แอชตัน อโศก’ ทันทีหลังครบ 30 วัน ถ้ายื้อเจอยื่น ม.157

จี้ กทม.รื้อคอนโด ‘แอชตัน อโศก’ ทันทีหลังครบ 30 วัน ถ้ายื้อเจอยื่น ม.157

‘พี่ศรี’ สวมหมวกนายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ลุยจี้ กทม.ออกคำสั่งรื้อถอนคอนโด ‘แอชตัน อโศก’ หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้รื้อ ภายใน 30 วัน ลั่นหากยังยื้อ เจอยื่นเอาผิด ม.157

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาคดี แอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ยืนยันตามศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแอชตันทั้งหมดทุกใบ โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.2558 แล้วนั้น  

บัดนี้ครบกำหนด 30 วันที่ กทม.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบได้ตาม ม.41 แล้ว แต่ผู้ประกอบการอาคารดังกล่าวก็ยังไม่มีวีแววที่จะหาทางออกไม่ต่ำกว่า 12 เมตรตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องออกคำสั่งทางปกครองบังคับให้เป็นไปตาม ม.41 และ ม.42 ของ พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยเคร่งครัดเมื่อศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุด เพราะอย่าลืมว่าสถานะของอาคารแอชตันถือได้ว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาตตามคำพิพากษาของศาลมาตั้งแต่ 23 ก.พ.58 จวบจนปัจจุบันซึ่งกินระยะเวลาไปกว่า 8 ปีแล้ว และ กทม.จะต้องดำเนินการเปรียบเทียบปรับเป็นรายวันนับแต่วันที่ไม่มีใบอนุญาตจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ใช่นิ่งเฉยหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ โดยประวิงเวลาหาหนทางช่วยผู้ประกอบการเพื่อเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายส่วนนี้ไปมิได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทันที 

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว วันนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าฯกทม. และ ผอ.สำนักการโยธา ให้เร่งออกคำบังคับตามมาตรา 41 และ 42 โดยเร็ว นั่นคือ การห้ามใช้อาคาร และออกคำสั่งรื้อถอนอาคารดังกล่าวในที่สุดต่อไป นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่ามีกลุ่มนักกฎหมายหัวใสวิ่งกันว่อน หากินกับลูกบ้านที่กำลังเดือดร้อน โดยไปเจรจาหว่านล้อมชักนำลูกบ้านในคอนโดดังกล่าวให้ร่วมรื้อคดีต่อศาลปกครอง ให้ความหวังลมๆแล้งๆว่าจะสามารถพลิกคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งๆที่คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว โอกาสการรื้อฟื้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเป็นร้อยเป็นพันเท่า  ทั้งนี้กลุ่มนักกฎหมายดังกล่าวได้มีข้อเสนอไปยังลูกบ้าน 3 ทางเลือก คือ

  • ค่าบริการฟ้องศาลปกครองการดำเนินการในชั้นศาลเพื่อฟ้องร้องหน่วยงานราชการเป็นเงิน 3,050,000 บาท
  • ค่าบริการฟ้องศาลแพ่งในกรณีความผิดและปัญหาผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกับเจ้าของโครงการฯ โดยเรียกเก็บในศาลชั้นต้น 12,500,000 บาท ศาลอุทธรณ์/ฎีกา 5,000,000 บาท (จำนวนห้อง 501 ห้องขึ้นไป)
  • ค่าบริการในกระบวนการพิจารณาในศาลปกครองใหม่ 2,100,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินทั้งหมดข้างต้น ไม่รวมค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในกระบวนการทางศาลอีกมากมายด้วย

จี้ กทม.รื้อคอนโด ‘แอชตัน อโศก’ ทันทีหลังครบ 30 วัน ถ้ายื้อเจอยื่น ม.157  

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า กรณีดังกล่าวหากลูกบ้านจะใช้สิทธิทางศาลในการเรียกร้องสิทธิของตนเอง ทำไมต้องไปเสียเงินเสียทองมากมายดังกล่าว หรือมัวไปหลงคารมของเหล่านักกฎหมายหัวใสดังกล่าวเลย เพราะปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงาน สคบ.ก็เปิดโอกาสให้ลูกบ้านทุกคนสามารถไปขอความช่วยเหลือทางคดีในการเรียกร้องสิทธิของตนเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆได้อยู่แล้ว แต่ถ้ารวยอยู่แล้ว อยากเสียเงินจ้างพวกนักกฎหมายเหล่านี้ ก็ตามใจ