‘บ้านพิษณุโลก’ บ้านพักนายกฯ ที่ไม่มีนายกฯ อยู่ เคยใช้งบปรับปรุงสูงสุด 38 ล้านบาท

‘บ้านพิษณุโลก’ บ้านพักนายกฯ ที่ไม่มีนายกฯ อยู่ เคยใช้งบปรับปรุงสูงสุด 38 ล้านบาท

รู้จัก “บ้านพิษณุโลก” บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย อายุ 101 ปี เนื้อที่ 50 ไร่ สร้างขึ้นในรัชสมัย “รัชกาลที่ 6” พบ “ชวน หลีกภัย” นายกฯ คนสุดท้ายที่ปักหมุดพำนัก แม้ไร้ผู้พักอาศัยแต่ใช้งบประมาณปรับปรุงทุกปี สูงสุด “38 ล้านบาท”

Key Points:

  • “บ้านพิษณุโลก” คือ บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับพบว่า แทบไม่เคยมีนายกฯ คนใดพักอาศัย มีเพียง 2 คนเท่านั้น ได้แก่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และนายชวน หลีกภัย
  • ก่อนจะมาเป็น “บ้านพิษณุโลก” เดิมชื่อว่า “บ้านบรรทมสินธุ์” ก่อสร้างขึ้นในรัชสมัย “รัชกาลที่ 6” เพื่อเป็นบ้านพักพระราชทานให้แก่ “พระยาอนิรุทธเทวา” มหาเสวกในพระองค์
  • พบว่า “บ้านพิษณุโลก” มีการใช้งบประมาณโดยมีหน่วยจัดซื้อคือ “สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” ดูแลการปรับปรุงซ่อมแซมเกือบทุกปี งบประมาณสูงสุดในปี 2562 สูงกว่า 38 ล้านบาท


เมื่อครั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ได้ใช้ “บ้านพักสวัสดิการกองทัพบก ร.1 รอ” เป็นบ้านพักตลอดวาระ โดยใช้เป็นที่พำนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมี “บ้านพักประจำตำแหน่ง” ที่มีอายุนับร้อยปีอย่าง “บ้านพิษณุโลก”

ทว่าไม่ใช่แค่ “พล.อ.ประยุทธ์” เท่านั้น ที่ไม่ใช้โควตาพักอาศัยบ้านพักประจำตำแหน่ง แต่ยังพบว่า นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นที่พำนักมีเพียง 2 คน คือ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” และ “ชวน หลีกภัย” หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้นำประเทศคนใดใช้บ้านพักประจำตำแหน่งแห่งนี้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน

  • สร้างโดยชาวอิตาลี เดิมเป็นบ้านพระราชทานแก่เสนาบดีวัง

“บ้านพิษณุโลก” ออกแบบและก่อสร้างโดยช่างชาวอิตาลีตามสถาปัตยกรรมแบบ “วิลลา” มีลักษณะโดดเด่นแบบคฤหาสน์ในชนบทอังกฤษ มีกระจกรอบตัวบ้านทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ ทั้งยังมีลักษณะเด่นที่การ “ออกมุข” เป็นครึ่งวงกลมในทุกๆ ด้าน หากมองผิวเผินแล้วอาจชวนให้นึกถึง “พระที่นั่งอนันตสมาคม” โดยตามประวัติศาสตร์แล้วพบว่า ใช้ช่างออกแบบคนเดียวกัน

ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “บ้านพิษณุโลก” เดิมทีบ้านพักแห่งนี้มีชื่อว่า “บ้านบรรทมสินธุ์” ก่อสร้างในรัชสมัยของ “รัชกาลที่ 6” เป็นบ้านพักพระราชทานโดยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างเพื่อพระราชทานให้แก่ “พระยาอนิรุทธเทวา” มหาเสวกเอกในพระองค์ กระทั่ง “บ้านบรรทมสินธุ์” ถูกเปลี่ยนมือเมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองบวกกับสถานการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา

ขณะนั้น “พระยาอนิรุทธเทวา” ผู้เป็นเจ้าของบ้านพร้อมครอบครัวตัดสินใจอพยพย้ายไปต่างจังหวัด ขณะเดียวกัน “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นต้องการเรือนรับรองเพื่อใช้ในราชการสงคราม จึงขอเช่าซื้อบ้านในราคา 500,000 บาท ให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในเวลาต่อมารัฐบาลจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อจาก “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็น “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนนแทน

‘บ้านพิษณุโลก’ บ้านพักนายกฯ ที่ไม่มีนายกฯ อยู่ เคยใช้งบปรับปรุงสูงสุด 38 ล้านบาท

  • “เปรม ติณสูลานนท์” นายกฯ คนแรก “ชวน หลีกภัย” นายกฯ คนสุดท้าย

ปี พ.ศ.2522 “บ้านพิษณุโลก” ถูกปรับปรุงปัดฝุ่นครั้งใหญ่หลังถูกทิ้งร้างไม่มีผู้ใช้งาน โดย “เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์” นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 สั่งให้มีการบูรณะใหม่ ใช้งบประมาณผ่านสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หวังเป็นที่พำนัก-บ้านพักประจำตำแหน่ง แต่หลังจากซ่อมแซมได้ไม่นาน นายกฯ เกรียงศักดิ์ก็มีอันต้องลาออก “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ขึ้นดำรงตำแหน่งและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้เข้าพักในฐานะบ้านพักประจำตำแหน่ง

หลังจากนั้น “นายกฯ ชวน” คือ ผู้เข้าพักต่อ โดยในสมัยแรกยังใช้บ้านพิษณุโลกเป็นเพียงสถานที่ประชุมเท่านั้น แต่ในสมัยที่สองที่ได้เข้าดำรงตำแหน่ง “ชวน หลีกภัย” เข้าพักอาศัยในบ้านพิษณุโลกอยู่พักใหญ่ โดยมีสื่อมวลชนสามารถเก็บภาพนายกฯ ชวนออกกำลังกายยามเช้ารอบๆ บ้านพิษณุโลกได้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดเข้าพักอาศัย ณ บ้านพิษณุโลกอีกเลย ใช้เป็นเพียงเรือนรับรองแขกหรือที่รับรองการประชุมเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เข้าใช้บ้านพักประจำตำแหน่ง อาจมาจากเหตุผลที่ “บ้านพิษณุโลก” ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรับรอง มีเพียงตัวบ้านเปล่าๆ ให้เท่านั้น จึงไม่สะดวกกับการใช้ชีวิตประจำวันนัก หากแต่ยังมีอีกเหตุผลที่เล่าลือกันว่า อาจเกิดจากตำนานอาถรรพ์ซึ่งเป็นเพียง “เรื่องเล่า” ต่อๆ กันมาอีกทีหนึ่ง

 

  • แม้ไม่มีใครพัก แต่ใช้งบปรับปรุงทุกปี

เมื่อแง้มดูตัวเลขจากฐานข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึง 2565 มีการใช้งบประมาณแผ่นดินในการปรับปรุง-จัดซื้อจัดจ้างเกือบทุกปี โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ปี 2558 วงเงินงบประมาณ 32,547,795 บาท
  • ปี 2559 วงเงินงบประมาณ 262,000 บาท
  • ปี 2561 วงเงินงบประมาณ 155,685 บาท
  • ปี 2562 วงเงินงบประมาณ 38,006,000 บาท
  • ปี 2563 วงเงินงบประมาณ 5,878,680 บาท
  • ปี 2564 วงเงินงบประมาณ 1,600,000 บาท
  • ปี 2565 วงเงินงบประมาณ 6,446,000 บาท

สำหรับหน่วยจัดซื้อเป็นงบประมาณภายใต้ “สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” โดยส่วนใหญ่แล้วงบประมาณถูกใช้ไปกับการปรับปรุงบ้านโดยรวม ทำสวน ติดตั้งกล้องวงจรปิด ปรับปรุงโรงเพาะชำ ทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซ่อมแซมระบบไฟฟ้ารอบบ้าน กล่าวคือ ปรับปรุงไปตามความเสื่อมโทรมของบ้านอายุ 101 ปีนั่นเอง

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsGov SpendingMatichon WeeklyThe CloudSilpa-MagThairath