"พรรคประชาชาติ" โต้ปม ไม่ทำ "ไพรมารีโหวต" ยันทำถูกต้องตามกฎหมาย

"พรรคประชาชาติ" โต้ปม ไม่ทำ "ไพรมารีโหวต" ยันทำถูกต้องตามกฎหมาย

"พรรคประชาชาติ" ออกแถลงการณ์ ชี้แจง หลังมีข่าวระบุไม่ทำไพรมารีโหวต สงขลา-สตูล ส่อขัดกฎหมาย-ตัดสิทธิการเมือง ยืนยัน "วันนอร์" ทำถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. พรรคประชาชาติ ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงต่อกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า พรรคประชาชาติไม่ได้ทำการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) จ.สงขลา และ จ.สตูล ตามที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนด ซึ่งอาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายและมีโทษยุบพรรค รวมถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา(วันนอร์) เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ลงนามรับรองผู้สมัคร 4 ราย ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งอาจถูกตัดสิทธิทางการเมือง ว่า 


1. "พรรคประชาชาติ" มีตัวแทนประจำจังหวัดสงขลาและสตูล อยู่ครบวาระ 4 ปีแล้ว แต่ข้อบังคับพรรคประชาชาติ ยังไม่ได้ระบุไว้ว่า ตัวแทนประจำจังหวัดอยู่ครบวาระแล้ว ให้รักษาการไปพรางก่อนได้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ศาลฎีกาจึงพิพากษาว่า พรรคประชาชาติ ไม่มีตัวแทนประจำจังหวัดสงขลาและสตูล ทั้ง ๆ ที่พรรคประชาชาติมีตัวแทนประจำจังหวัด และทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ

 

"กรรมการบริหารพรรคได้มีมติให้ตัวแทนประจำจังหวัดรักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ได้แจ้ง กกต.ทราบแล้ว (แต่ศาลเห็นว่ากรรมการบริหารไม่มีอำนาจในการให้รักษาการไปก่อนได้) และได้มีการทำการทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายแล้ว จึงมีการรับรองให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้" แถลงการณ์พรรคประชาชาติระบุ

2. กรณีกล่าวหานายวันมูหะมัดนอร์ลงนามในหนังสือรับรองผู้สมัคร 4 ราย ไปสมัครรับเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ผ่านการทำไพรมารีโหวตอย่างถูกต้อง จึงเข้าข่ายกระทำความผิดชัดเจนฐานรับรองเอกสารเท็จ ข้อเท็จจริง คือ จากกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพรรคประชาชาติ ไม่มีตัวแทนประจำจังหวัดสงขลาและสตูล ทำให้ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ มีผลให้หัวหน้าพรรคประชาชาติ ไม่สามารถออกหนังสือรับรองการส่งผู้สมัคร ได้รับการสรรหาลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรกการเมือง พ.ศ. 2560 จึงเท่ากับว่าไม่ได้ออกหนังสือรับรองแต่อย่างใด จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 56 ประกอบมาตรา 120 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

"ตามกระบวนการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับการเลือกตั้ง หน้าที่การตรวจสอบคุณสมบัติเป็นหน้าที่ของผู้สมัครเอง และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หัวหน้าพรรคการเมืองมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองเป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หากหัวหน้าพรรคไม่รับรอง ก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้" แถลงการณ์ชี้แจงรายละเอียด

แถลงการณ์ พรรคประชาชาติ ได้ย้ำตอนท้ายอีกกว่า หัวหน้าพรรคจึงไม่ได้ออกหนังสือรับรองเป็นเท็จ และเชื่อมั่นโดยสุจริตว่า ถูกต้องตามข้อบังคับพรรคและถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับการวินิจฉัยของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ที่ว่าพรรคประชาชาติไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด มีผลให้หัวหน้าพรรคไม่สามารถออกหนังสือรับรองได้ หัวหน้าพรรคจึงไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายตามมาตรา 56 ประกอบมาตรา 120 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560.

\"พรรคประชาชาติ\" โต้ปม ไม่ทำ \"ไพรมารีโหวต\" ยันทำถูกต้องตามกฎหมาย