"ชัยธวัช" เหน็บสูตรรัฐบาล "ประชาชน-ประชาธิปไตย" ไม้ประดับ "กัณวีร์" ชี้แค่การตลาด

"ชัยธวัช" เหน็บสูตรรัฐบาล "ประชาชน-ประชาธิปไตย" ไม้ประดับ "กัณวีร์" ชี้แค่การตลาด

อภิปรายคุณสมบัติ "เศรษฐา" "ชัยธวัช" เหน็บสูตรตั้งรัฐบาลไม่เห็นหัว - "ประชาชน-ประชาธิปไตย" แค่ไม้ประดับ ด้าน "กัณวีร์" ชี้แค่การตลาดการเมือง ทำลายระบบรัฐสภา

การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี  นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า เหตุผลที่สส.พรรคก้าวไกล ไม่สามารถเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้วันนี้ ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อตามที่มีการกล่าวหา แต่เหตุผลง่ายๆ เพราะเราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงประชาชนที่ได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66  

การจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ความพยายามสลายขั้วความขัดแย้ง แต่เป็นการต่อลมหายใจให้ระบบการเมืองที่ระบอบคสช.วางไว้ และจะดำเนินสืบไป

 

หลายคนพูดว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นักการเมือง พรรคการเมือง จำเป็นต้องกลืนเลือด จ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระประชาชน และวาระประเทศ เป็นตัวตั้ง ซึ่งราคากับต้นทุนที่สังคมไทยต้องจ่ายให้กับการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ 

ประการแรก คือ ความหวัง ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 เคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชน ที่จะให้การเมืองไทยออกจากมรดกของรัฐประหารได้โดยสันติ เสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยเดินหน้าสู่อนาคต 

\"ชัยธวัช\" เหน็บสูตรรัฐบาล \"ประชาชน-ประชาธิปไตย\" ไม้ประดับ \"กัณวีร์\" ชี้แค่การตลาด

ประการต่อมาคือ อำนาจประชาชนเคยเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อเขาออกไปใช้อำนาจของตัวเองในการเลือกตั้ง

ปรากฎว่าการจัดตั้งรัฐบลหลังการเลือกตั้ง กลับเป็นการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษที่อนุญาตให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิพอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ ประชาชนเพิ่งค้นพบว่าตอนนี้ประชาธิปไตยบ้านเรา

กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ แต่ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง และสุดท้ายคือความศรัทธา

การตั้งรัฐบาลแบบพิเศษกำลังทำให้เราสูญเสียความศรัทธาในระบบรัฐสภา ทั้งที่เป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนหมดศรัทธาย่อมเป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองของประเทศในอนาคต 

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ตนอยากฝากความหวังดีไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ว่าหัวใจของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือการปะทะกันระหว่างอำนาจประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน วันนี้เรายังหาทางออกทางการเมืองไม่ได้ เราเห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อไม่ใช่การสลายขั้วอย่างผิวเผินด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ต้องเป็นระบบการเมืองที่วางอยู่บนฉันทามติของหลักการอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน และเมื่อไหร่ที่เรายังสยบยอมหรือต่อลมหายใจให้กับระบบที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย แต่ตอบไม่ได้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหนในระบบนี้ เราจะไม่มีทางสลายความขัดแย้งหรือหาทางออกได้ 

“ผมทราบดีว่าประชาชนจำนวนมากนับล้านคนกำลังผิดหวัง โกรธ คับข้องใจ กับการเมืองที่เกิดขึ้น แต่ผมอยากเรียนทุกท่านว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนแล้วว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่อาจยังเปลี่ยนไม่มากพอ

ดังนั้น แม้ท่านจะไม่พอใจ รู้สึกผิดหวัง แต่ขออย่าหันหลังให้การเมือง เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ มามีส่วนร่วมทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงให้ได้ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทำให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนจริงๆ” นายชัยธวัช กล่าว

\"ชัยธวัช\" เหน็บสูตรรัฐบาล \"ประชาชน-ประชาธิปไตย\" ไม้ประดับ \"กัณวีร์\" ชี้แค่การตลาด

เช่นเดียวกับนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม อภิปรายว่า  ตนได้มีโอกาสพูดคุยภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาควิชาการิเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงการเลือกตัวแทนประชาชนทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้รับเหมาแทนประชาชนในรัฐสภาแต่ประชาชนจำนวนมากได้ตัดสินใจแล้วว่าจะตัดสินใจอยู่กับโครงสร้างเดิมหรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ  ตนจึงไม่สามาบการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศได้

โดยเฉพาะความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเพียงแค่ใช้ประโยชน์จากคำว่าประชาธิปไตย การดำเนินการที่พวกท่านกำลังทำอยู่ในขณะนี้ถือเป็นการดำเนินการที่สวนมติประชาชน ตนจึงไม่สามารถให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ยืนยันว่ตนไม่ได้มีข้อกังขาในตัวนายเศรษฐา และไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล ตนยังให้ความเชื่อใจบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ รวมถึงพรรคที่เสนอชื่อ ต้องผ่านกรกลั่นกรองมาอย่างดีซึ่งตนไม่ขอก้าวล่วง แต่ปัญหาคือการได้มาซึ่งอำนาจฝ่ายบริหารที่แม้กรอบกฎหมายจะเปิดทางให้ทำได้แต่คุณค่าของกรอบประชาธิปไตยตามหลักสากลในรัฐสภาเป็นเรื่องที่ผิดปกติ

สะท้อนให้เห็นว่าการรณรงค์ หาเสียงที่ผ่านมาเป็นการด้อยค่ากระบวนการประชาธิปไตยเหลือไว้แค่เพียงการตลาดทางการเมืองเท่านั้น