โหวตนายกฯรอบ3 "ชลน่าน" เสนอชื่อ "เศรษฐา" ยัน "ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม"

โหวตนายกฯรอบ3  "ชลน่าน" เสนอชื่อ "เศรษฐา" ยัน "ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม"

โหวตนายกฯรอบ3 "ชลน่าน" เสนอชื่อ "เศรษฐา" ยัน "ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม" สุดป่วน!ก้าวไกลโวยคว่ำญัตติทบทวนเสนอชื่อ "พิธา" อัด "วันนอร์" ไม่เป็นกลาง ประธานรัฐสภา เดือด!จี้ถอน

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ที่ประชุมได้เข้าสู่วาระการเสนอชื่อบุคคลเพื่อสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่30 

โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย

พร้อมยืนยันว่า นายเศรษฐา เป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา160ของ อีกทั้งเป็นผู้ที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อเป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา88 

จากนั้น ประธานได้เปิดให้สมาชิกแสดงตน เพื่อรับรองการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ โดยมีสมาชิกให้การรับรอง287คน  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีราชชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นสอบถาม กรณีไม่มีการบรรจุญัตติที่ขอให้รัฐสภาทบทวนการพิจารณามติ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้ามเสนอชื่อบุคคลเดิมให้รัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี  จึงขอความชัดเจนจากประธานรัฐสภาในเรื่องนี้ 

จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่าเรื่องนี้ได้มีการแจ้งให้วิป3ฝ่ายรับทราบแล้ว แต่จะเปิดโอกาสให้นายรังสิมันต์ ได้เสนอญัตติส่วนจะพิจารณาได้หรือไม่จะวินิจฉัยในภายหลัง

 

โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐสภามีมติ ยึดข้อบังคับการประชุมข้อที่41 ที่ห้ามเสนอชื่อบุคคลเดิมให้รัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี  เรื่องนี้มีนักวิชาการว่าการตีความดังกล่าวถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อาทิ ความเห็นจาก115คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์จาก19มหาวิทยาลัยที่ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

พร้อมให้เหตุผลการเลือกนายกรัฐมนตรีและไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดว่าจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯคนเดิมไม่ได้ ฉะนั้นการตีความตามข้อบังคับให้เหนือกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ การตีความเช่นนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต 

นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตีความแล้วว่า เป็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ใช่กรณีที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงมีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้เวลาต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องดังกล่าว แต่ไม่ไม่รับด้วยเหตุผลที่ผู้ร้องไม่อยู่มีเกณฑ์ที่จะยื่นคำร้องได้ ไม่ได้ยกคำร้องหลังการพิจารณาเนื้อหาสาระแต่อย่างใด  เรื่องนี้ตนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องด่วนที่ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนจะมีการ พิจารณารายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในวาระที่ลงกันต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ 

 

"มีการมองว่าเรื่องนี้มีความพยายามเอานายพิธากลับมาเป็นนายกฯผมขอให้ท่านเหล่านั้นดูสถานการณ์เหล่านี้เสียก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีหลังจากนี้พรรคก้าวไกลก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเสนอใครเป็นนายกฯหากไม่เห็นชอบก็เป็นอันต้องตกไปพวกท่านไม่ต้องกังวลอะไรอีกแล้ว 

ไม่ใช่ว่าจะเอาชื่อคุณพิธามาเสนออีกได้เลยเพราะตอนนี้8พรรคร่วมก็ได้แยกย้ายกันไปแล้ว ถ้าจะเสนอชื่อใครก็คงต้องมาคุยกันอีกยาวการเสนอญัตินี้ก็เพื่อทบทวนมติที่เคยกันไปเพื่อกลับมาสู่ลู่ทางที่ถูกที่ควรเท่านั้น"

จากนั้นนายวันนอร์ พยายามตัดบทว่าเรื่องนี้รัฐสภาได้มีมติตามข้อบังคับข้อที่151 ขณะเดียวกันเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องซึ่งตนได้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่า ญัตติที่เสนอเป็นญัติซ้อนมีการลงมติไปแล้วตามข้อบังคับข้อที่151

ถ้ามีการเสนอญัตติเช่นนี้เรื่อยๆ ความเชื่อถือของมติสภาก็จะลดลงไปทำให้เกิดความสงสัยว่าต่อไปหากดำเนินการเช่นนี้จะเชื่ออันไหนอย่างไร  เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายจึงเห็นว่าหากมีการทบทวนจะกลายเป็นบรรทัดฐานในเรื่องความน่าเชื่อถือ ซึ่งเรื่องนี้ด็ได้แจ้งวิป3ฝ่ายรับทราบแล้ว 

จากนั้นบรรยากาศเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงในเรื่องการทำหน้าที่ของนายวันนอร์ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง 

เช่นเดียวกับโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. ที่ระบุว่า ประธานรัฐสภาวางตัวไม่เป็นกลาง รู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ไม่พอใจ กล่าวตอบโต้ด้วยน้ำเสียงไม่สบอารมณ์ทันทีว่า ขอให้ถอนคำพูดว่าตนรู้เห็นเป็นใจ ถ้าไม่ถอนคำพูดจะไม่อนุญาตให้พูดต่อ เพราะเป็นการกล่าวหาตนอย่างรุนแรง ยืนยันนว่า ตนซื่อสัตย์ต่อตัวเอง แต่นายธีรัจชัยพยายามจะพูดต่อ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันว่า  

“ขอให้นั่งลง คุณจะนั่งลงไหม คำสั่งประธานถือเป็นเด็ดขาด” 

จากนั้นนายวันนอร์ได้ใช้อำนาจสั่งให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไป