22 ส.ค.ชี้ชะตา ‘สุเทพ-พวก’ ศาลฎีกาฯนัดพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีโรงพักทดแทน

22 ส.ค.ชี้ชะตา ‘สุเทพ-พวก’ ศาลฎีกาฯนัดพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีโรงพักทดแทน

22 ส.ค.นี้ ชี้ชะตา ‘สุเทพ-พวก’ ศาลฎีกาฯนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน-แฟลตตำรวจ รัฐเสียหายรวมกว่า 5.7 พันล้าน หลังเคยยกฟ้องไปแล้วเมื่อ ก.ย.ปีก่อน

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 ส ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน จำนวน 396 หลัง มูลค่าความเสียหาย 1,728 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) จำนวน 163 หลัง มูลค่าความเสียหาย 3,994 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีความผิด จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 6 อย่างไรก็ดีต่อมา ป.ป.ช.โจทก์ยื่นอุทธรณ์ กระทั่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 ส.ค.นี้
 

ขณะที่นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลฎีกาฯยกฟ้องเมื่อ 20 ก.ย. 2565 ว่า ดีใจที่พ้นมลทินเสียที หลังต้องถูกโจมตีว่าเป็นคนทุจริต 8-9 ปี พร้อมประกาศสนับสนุนพรรคการเมืองของประชาชน แต่ไม่ขอหวนกลับมาเล่นการเมืองอีก ยืนยันไม่ฟ้องกลับใคร

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิด และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) ต่อมามีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่าย ป.ป.ช. และฝ่ายอัยการ กระทั่ง อสส.ชี้ขาดมีคำสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จึงดึงสำนวนกลับมาฟ้องเอง โดยระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย. 2552-18 เม.ย. 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคาไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา

ต่อมา จำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด