'แสวง' อธิบายชัด! กกต.มีไว้ทำไม ลั่นทำหน้าที่สุจริต เที่ยงธรรม ให้ความรู้

'แสวง' อธิบายชัด! กกต.มีไว้ทำไม ลั่นทำหน้าที่สุจริต เที่ยงธรรม ให้ความรู้

'แสวง' อธิบายชัด 'กกต.มีไว้ทำไม' เชื่อเกิดจากความไม่พอใจ ลั่นหน้าที่คือทำให้สุจริต เที่ยงธรรม ชี้การเมืองมีปัญหากว่า 20 ปี ยังไม่ไปถึงจุดที่ออกแบบเตรียมไว้ แต่พอใจผลเลือกตั้ง 66 ด้านนักวิชาการจี้ให้ปรับตัวเท่าทันความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดอภิปราย ประเด็นร่วมสมัย หัวข้อ “กกต. มีไว้ทำไม” โดยมีวิทยากรอภิปรายประกอบด้วย นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง, รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายบากบั่น บุญเลิศ พิธีกรรายการ “เนชั่นอินไซต์” เป็นวิทยากรผู้ดำเนินการอภิปราย

นายแสวง กล่าวว่า คำถามว่า “กกต.มีไว้ทำไม” ได้ยินมาตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งไม่น่าจะใช่การถามถึงหน้าที่ แต่น่าจะเกิดจากความไม่พอใจ ที่ส่งผลกระทบกับความรู้สึกมากกว่า และขณะนี้ยังมีคำถามเหล่านั้นอยู่ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้อธิบาย ซึ่งหน้าที่ของ กกต. คือ ทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย และพัฒนาการเมือง หาก 3 ส่วนนี้ดี การเมืองก็จะดี แต่ลำพัง กกต.ไม่มีทางทำสำเร็จ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกคน เพราะ เชื่อว่า กกต. ทำงานกับคนมากที่สุด ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง การเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ซึ่งต้องมาฟังปัญหาเหล่านี้ เพื่อทำอย่างไรให้การเมืองดี

นายแสวง กล่าวอีกว่า การเมืองมีปัญหามานานกว่า 20 ปี ไม่ได้เดินไปสู่จุดที่เราออกแบบว่าอยากจะไป ยังมีผู้เล่นคือพรรคการเมือง และผู้สมัครลงเลือกตั้ง จึงต้องอาศัยคนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเมืองให้ไปข้างหน้า สำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ตนพอใจระดับหนึ่ง แม้มีปัญหาระหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดจากกฎหมาย หรือ ตัวเราเอง ปี 2562 ได้รับผลกระทบเรื่องความเชื่อถือ รวมถึงปี 2566 ที่คิดว่าดีขึ้น และจะเดินหน้าพัฒนาให้ดี เพื่อไม่ให้ประชาชนมองว่าเราบกพร่อง

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ส่วนคุณภาพของการเลือกตั้ง มีเรื่องการร้องเรียนน้อยกว่าทุกครั้ง แต่ยอมรับว่า มีปัญหาด้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และ กกต.มีหน้าที่ให้การตรวจสอบ แจกใบเหลือง ใบแดง โดยในปี 2566 การเลือกตั้งเปลี่ยนไป เพราะประชาชน เลือกการเมืองแบบ 2 ฝั่ง และเลือกตามนโยบาย มองว่าเป็นเรื่องที่ดีและพัฒนาการที่ดี

"ผมเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนแรกที่จะเสนอให้ยุบพรรค การเลือกตั้งครี้งนี้ คนร้องยุบพรรคมา 135 เรื่อง พิจารณาเสร็จยกไปแล้ว 111 เรื่อง ที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณา แต่ฝ่ายการเมืองเอาไปพูดว่า จะมีการยุบพรรคเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะเราพิจารณาตามกฎหมาย กกตไม่ได้มีหน้าที่ทำเกินกว่ากฎหมาย การที่เราทำตามกฎหมายแต่ไม่ได้ผลตามที่ต้องการก็จะถูกคำถามว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ ดังนั้นยืนยันว่าเราทำตามกฎหมาย แต่ถ้าเราทำผิดกฎหมายเราจะโดน" นายแสวง กล่าว

ด้าน รศ.ยุทธพร กล่าวว่า กกต.มีไว้ทำไม เป็นประโยคที่ได้ยินมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนถึงหลังเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ หลักการขององค์กรอิสระเกิดขึ้นเพื่อทำให้ระบบรัฐสภามีเหตุผล และเป็นอำนาจที่จะเข้ามาตรวจสอบควบคุมทางการเมือง นอกจากอำนาจตุลาการ ขณะที่ประชาชน ที่ถือเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยสูงสุด จึงมีส่วนร่วมในการเข้าไปตรวจสอบ

“การเลือกตั้ง ไม่ใช่คำตอบในหลักในการสร้างประชาธิปไตย แต่คือประตูบานใหญ่ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่ดีขึ้น และ นอกจากการเลือกตั้งยังต้องมีกลไกในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.” รศ.ยุทธพร กล่าว

\'แสวง\' อธิบายชัด! กกต.มีไว้ทำไม ลั่นทำหน้าที่สุจริต เที่ยงธรรม ให้ความรู้

รศ.ยุทธพร กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งควรเป็นเสรี และเป็นธรรม เพราะ คำว่า การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม จะเป็นช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง และควบคุมกำกับมากเกินไป รวมถึงนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงเป็นที่มาของ คำถามว่า “กกต. มีไว้ทำไม” ดังนั้น ควรยึดหลักเจตจำนงของประชาชนเป็นหลัก ประกอบกับกฎหมายเลือกตั้งที่มีความชอบธรรม สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีประสิทธิภาพ และมีกลไกที่ทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

รศ.ยุทธพร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด 75% มองว่า เป็นเพราะระบบการเลือกตั้งเปลี่ยน เป็นแบบ 2 ใบ ส่งผลนัยยะสำคัญทางการเมือง ทำให้พรรคใหญ่ได้ประโยชน์ ประกอบกับกลไกที่ยังให้ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) มีสิทธิ์ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระบวนการที่บิดเบี้ยวไม่ได้มีการเลือกตั้งที่มาจากผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่มีผู้ที่ถูกแต่งตั้งเข้ามามีสิทธิ์ด้วย รวมถึงอีกหลายๆ ประเด็นที่ส่งผลต่อความเชื่อทางการเมืองของประชาชนที่เปลี่ยนไป ซึ่ง กกต.ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง