ละครการเมือง

หลักอย่างหนึ่ง ที่ใช้กันในวงการธรรมาภิบาล ก็คือหลัก "Comply or Explain” 

แปลว่า "ทำตามนั้น หรือไม่ก็...อธิบาย”

มีการใช้หลักนี้ ในเวลาที่ ผู้กำกับนโยบาย อย่างเช่น ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์   “อยาก” ให้บริษัทจดทะเบียน ปฎิบัติในเรื่องใด "แต่ไม่ถึงกับ บังคับ" ให้บริษัทต้องทำ แค่อยากส่งเสริมให้ทำเท่านั้น

ถ้าบริษัทใด ทำได้ตามนั้น  (Comply) ก็ถือว่าได้ใจผู้กำกับดูแลและนักลงทุน แต่ถ้าบริษัทใดมีข้อจำกัด ไม่สามารถทำได้ ก็ขอให้อธิบาย (Explain) ว่าที่ทำไม่ได้...เป็นเพราะเหตุใด 

อธิบายแล้วก็ถือว่า จบ ไม่มีบทลงโทษใดๆ เพียงแต่อาจจะถูก  องค์กรอื่น ที่เข้ามาประเมินธรรมาภิบาลของบริษัท หักคะแนนออกไปบ้าง ข้อละเล็กๆน้อยๆ เพื่อผลักดันให้บริษัท พยายามทำให้ได้ตามนั้น ในรอบประเมินครั้งต่อไป

เช่น ก.ล.ต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์ กำหนด แนวทาง ไว้ว่า “ประธานกรรมการของบริษัท ควรเป็นกรรมการอิสระ” ถ้าหากบริษัทไม่สามารถทำตามนั้นได้ ทั้ง ก.ล.ต.  และตลาดฯ ก็ไม่ลงโทษอะไร  เพียงแค่อธิบายว่าติดข้อจำกัดอย่างไร เท่านั้น

ช่วงนี้ กระแสสังคมเรา วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยว่า พรรคโน้น พรรคนี้ เล่น “ละครการเมือง”  จนนำไปสู่การประท้วง และกระทบกระทั่งกันบ้าง ให้เห็นเป็นข่าว

ผมก็เลยลองมาคิดดูว่า ถ้าจะนำหลัก Comply or Explain มาใช้  เพื่อลดกระแสความรุนแรงลง น่าจะเป็นไปได้หรือไม่

การที่เกิดคำว่า “ละครการเมือง”  ก็น่าจะเป็นเพราะมีการกล่าวหาว่า สิ่งที่เคยพูดไว้ในช่วงหาเสียง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหลังจากที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว  บางเรื่องมันไม่สอดคล้องต้องกัน

หลังการเลือกตั้ง นักแสดงนำทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลง  และ พล็อตเรื่อง ก็เปลี่ยนแปลงเกือบทุกวัน จนสังคมสับสนไปหมด ประชาชนดูแล้ว งุนงงตลอดมา

ตัวอย่างเช่น บางคณะบอกว่า ถ้าได้แสดงเมื่อไร จะ “คืนประโยชน์ให้คนชรา” ทันที จำนวนเท่านั้นเท่านี้ชัดเจน แต่ภายหลังก็บอกใหม่ว่า ยังคืนทันทีตามจำนวนนั้นไม่ได้ ต้องทยอยคืนให้

หรือบางคณะก็บอกว่า พล็อตเรื่องของเรา คือเราจะไม่แต่งงานกับ ผู้หญิงคนนั้นเด็ดขาด แต่พอเวลาผ่านไป ก็ทำท่าว่าจะจัดงานหมั้นงานแต่งกันเสียแล้ว อย่างนี้เป็นต้น

สรุปว่า แฟนๆไม่พอใจ ที่ละครของพรรคต่างๆ มีการเปลี่ยนพล็อตสำคัญ ซึ่งเป็นพล็อตที่ทำให้แฟนๆถูกใจ และเทใจให้ตั้งแต่ต้น

งั้นเราเอาหลัก Comply or Explain มาใช้ได้ไหม เผื่อความไม่พอใจจะลดลง

แต่ผมว่า คณะละครการเมือง  เขาก็ใช้หลักนี้อยู่แล้วนะ คือเมื่อพรรคใด Comply กับประเด็นที่หาเสียงไม่ได้ เขาก็พยายาม  Explain ว่าที่ทำไม่ได้ เป็นเพราะเหตุใด 

แต่ทำไมแฟนๆจึงไม่ยอมรับ ก็คงต้องลองมาวิเคราะห์กันดู

ผมคิดว่าเหตุผลก็คือ กรณีที่ “บริษัท” Comply ไม่ได้  นั้น   บริษัทเขาไม่ใช่เป็นผู้กำหนดแนวทาง ที่จะต้อง  Comply  แต่ว่าเป็นแนวปฎิบัติ ซึ่งกำหนดโดย  ก.ล.ต.  หรือตลาดหลักทรัพย์ 

เมื่อบริษัทฯ ทำไม่ได้ตามนั้น เขาก็ทำตามกติกาในขั้นต่อไป  คือ  Explain ว่าเหตุใดจึงทำไม่ได้ ซึ่งเมื่ออธิบายแล้ว ก็จบ ทุกคนเข้าใจ

แต่กรณีการเมือง ซึ่งถูกมองว่ากลายเป็นการละครไปแล้วนั้น  คณะต่างๆ ม่ได้มีผู้กำกับดูแลที่ไหนมากำหนดพล็อตให้แสดง แต่คณะฯ เป็นผู้กำหนดพล็อตขึ้นมาเอง ว่าเรื่องจะเดินอย่างไร ผู้ชมจะสนุกสนานหรือได้ประโยชน์อะไร

เป็นพล็อตที่ดีจนแฟนๆซาบซึ้ง  พอทำท่าว่าไม่เป็นไปตามพล็อต นั้น  แฟนๆบางส่วนก็เลยโกรธ  และอธิบายอย่างไรก็ไม่จบง่ายๆ

ถือว่าเป็นบทเรียน ที่ทำให้เห็นพลังของโซเชี่ยลครับ เพราะสมัยนี้ ใครพูดอะไรไว้ มันไม่หายไปไหน มีคนบันทึกไว้ และนำมาฉายใหม่ได้เสมอ จนนักแสดงหลายคนได้รับบาดเจ็บ จากคำพูดที่เคยพูดไว้

ถึงวันนี้ ก็เลยยังไม่รู้ว่า เมื่อไรเราจะได้นายกรัฐมนตรี เสียที

ก็ต้องติดตามกันต่อไปแหละครับ แต่เอาเป็นว่า ถ้าละครการเมืองมันทำให้เครียดนัก ก็สลับฉากไปดูละครชีวิตบ้าง ก็แล้วกัน... "มาตาลดา" ไงครับ

ดู น้องมาตา ดูพี่เป็นหนึ่ง และน้าเกรซ แล้วน่าจะสบายใจขึ้นนะครับ