วัดฝีมือ คนแดนไกล กู้วิกฤติศรัทธา“เพื่อไทย”

วัดฝีมือ คนแดนไกล กู้วิกฤติศรัทธา“เพื่อไทย”

ด่านทดสอบฝีมือ “คนแดนไกล” จะจัดการเกมอำนาจอย่างไร ในวันที่ “เพื่อไทย” เผชิญวิกฤติศรัทธา เลือกลุง มากกว่าเราก้าวไกล ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายไปสูงลิบ เพื่อแลกกับการขึ้นสู่อำนาจ ถึงเวลาจะสร้างผลงานเข้าตาแค่ไหน เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางการวงล้อมแห่งผลประโยชน์

ดีเดย์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งต่อไป ทาง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้เป็นวันที่ 18 ส.ค.หรือ 22 ส.ค.นี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชิงเก้าอี้นายกฯซ้ำรอบ 2 ได้หรือไม่ก่อน

ในจังหวะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยกำลังจัดการฟอร์มรัฐบาล ที่ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง พร้อมๆ กับการเจรจาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ที่เริ่มมีข่าวปล่อยออกมาเพื่อหยั่งกระแส หรืออาจมีใครบางคนต้องการให้เข้าหูเข้าตาคนแดนไกล เผื่อจะวาสนาหล่นทับ ได้รับโอกาสจากนายใหญ่ก็ไม่แน่

ในทางการเมืองความแน่นอน คือความไม่แน่นอน อะไรที่นายใหญ่เคยตกปากรับคำ ให้ความมั่นใจว่าคนนั้นคนนี้จะได้แน่ๆ พอบริบทเปลี่ยน เงื่อนไขก็เปลี่ยนตามไปด้วย เหมือนเก้าอี้ดนตรีไม่มีใครผูกขาดจับจองไปตลอด ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน

ช่วงเวลาก่อนที่จะโหวตนายกฯ จึงถือเป็นช่วงชี้ชะตาว่าที่รัฐบาลเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี เพราะจะเป็นช่วงที่เกมต่อรองทวีความเข้มข้น ความต้องการของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หวังจับจองเก้าอี้เสนาบดี จะชัดเจนขึ้น ว่าใครจะได้ตำแหน่งตรงไหนอย่างไร

เนื่องจากมีเงื่อนไขต่อรองในมือ คือเสียงโหวตนายกฯ หากยกมือให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ทั้งที่ยังไร้ข้อยุติเรื่องโควตาเอาไว้ค่อยไปตกลงกันภายหลัง ก็ย่อมเกิดความสุ่มเสี่ยงสำหรับแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยอย่างมาก

นอกจากเสียงสนับสนุนจาก สส.แล้ว สว.ก็เป็นอีกเงื่อนไขที่ชี้เป็นชี้ตายคนที่จะขึ้นเป็นผู้นำคนต่อไปได้เลยทีเดียว เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ สว.ชุดนี้มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ที่ถูกมองว่าได้อานิสงส์ในส่วนนี้มาเพิ่มแรงต่อรองเป็นกอบเป็นกำ ไม่เว้นแม้แต่ภูมิใจไทย ที่มีอำนาจต่อรองสูงไม่แพ้กัน ด้วยจำนวน 71 เสียง สส. ถือว่ามีนัยสำคัญส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลได้อย่างมาก

เดิมพันสำคัญจึงอยู่ที่คนแดนไกลและพรรคเพื่อไทย จะบริหารจัดการสภาพที่เป็นอยู่นี้อย่างไรเพราะลำพังเสียงของพรรคตัวเองมีแค่ 141 เสียง จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพรรคร่วมอื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้

กระแสข่าวที่เล็ดลอดออกมาก่อนหน้านี้ ว่าเพื่อไทยหมายจะคุมกระทรวงเศรษฐกิจเอาไว้กับตัวทั้งหมด ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับช่วงที่ยังจับมือกับก้าวไกล ภายใต้บริบท MOU 8 พรรค 312 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล แต่มาวันนี้ความเป็นไปได้ยังเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่

ไม่เฉพาะเพื่อไทยเท่านั้น ที่ต้องการล้างตราบาปด้วยการโชว์ฝีมือในการบริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะเศรษฐกิจ เพื่อลบล้างข้อครหาหักดิบก้าวไกล เล่นบทสะเทือนขวัญฝ่ายประชาธิปไตยด้วยข้ออ้างร้อยแปดไปผนึกกับขั้วลุง ทางเพื่อไทยมองว่าทางเดียวคือทำอย่างไรให้คนมีความสุขเติมสภาพคล่องให้มีเงินจับจ่ายใช้สอย จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

ทว่า ต้องไม่ลืมว่าความเป็นว่าที่รัฐบาลผสม ประกอบด้วยพรรคร่วมเป็น 10 พรรค อาจเป็นอุปสรรคของเพื่อไทย เนื่องจากแต่ละพรรคก็มีวาระที่หาเสียงไว้และต้องการผลักดันด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น จะประคองกันอย่างไรให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ตรงนี้จึงเป็นด่านทดสอบฝีมือคนแดนไกล จะจัดการเกมอำนาจอย่างไร ในวันที่เพื่อไทยเผชิญวิกฤติศรัทธา เลือกลุง มากกว่าเราก้าวไกล ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายไปสูงลิบ เพื่อแลกกับการขึ้นสู่อำนาจ ถึงเวลาจะสร้างผลงานเข้าตาแค่ไหน เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางการวงล้อมแห่งผลประโยชน์ในวังวนการเมืองแบบเดิมๆ แต่อำนาจต่อรองอาจจะไม่เหมือนอีกต่อไปแล้ว