“รัฐบาล” แจง เกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุใหม่ คนรวยไม่จำเป็น ชี้ หวังช่วยคนจนจริง

“รัฐบาล” แจง เกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุใหม่ คนรวยไม่จำเป็น ชี้ หวังช่วยคนจนจริง

“รัชดา” แจง ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ใหม่ คนที่ได้เงินมาก่อนตั้งแต่ระเบียบใช้บังคับ ยังได้สิทธิต่อไป ปัด รัฐบาล หาเงินไม่เป็น โว 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 66 สูงกว่าแสนล้าน เกินเป้า ยัน ให้ความสำคัญทุกกลุ่ม แก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า ชี้ จ่ายคนรวยไม่จำเป็นเท่าคนเดือดร้อน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา มีสาระหลักเพิ่มเติม คือ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้น จะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีก โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังกล่าว เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงินนั้น ที่ผ่านมาเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น มีการจดทะเบียนการค้าบริษัทต่างชาติ การขอการสนับสนุนการลงทุนต่างชาติเพิ่มต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดความสามารถจัดหารายได้ ดูจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย.66) เก็บรายได้สูงกว่าปีก่อน 6.5% สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ107,101 ล้านบาท หรือ 11.10% ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% นี่คือความสามารถของรัฐบาลในการหารายได้

น.ส.รัชดา กล่าวถึงประเด็นที่มีการดราม่าลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาทแล้ว ในปีงบประมาณ 2567

ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่ม ที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า เพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่