‘ทฤษฎีผสมสี’ ถอดรหัส ‘3 สูตรจับขั้ว’ ‘เรา-ลุง-ก้าวไกล’ ใครอยู่-ใครไป ?

‘ทฤษฎีผสมสี’ ถอดรหัส ‘3 สูตรจับขั้ว’  ‘เรา-ลุง-ก้าวไกล’ ใครอยู่-ใครไป ?

ถอดรหัส "3สูตร" จับขั้วจัดตั้งรัฐบาล เดิมพันเพื่อไทย "ข้าวต้มมัด" เปลี่ยนคู่ "เรา-ลุง-ก้าวไกล" ใครอยู่-ใครไป?

“กลลึก-เกมลับ” แผนจัดตั้งรัฐบาล ที่เวลานี้มีการส่งไม้ต่อจากพรรคก้าวไกลไปยังพรรคเพื่อไทย ยังต้องจับตาไปที่สารพัดทฤษฎี “ผสมสีการเมือง” ในการชิงเกมชิงอำนาจหลังจากนี้ 

อ่านเกมจับขั้วตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ยามนี้มีโอกาสเกิดได้อย่างน้อย 3 สูตร 

1.สูตร “มีก้าวไกล-ไม่มีลุง” สูตรนี้จะมีเสียง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิม 312 เสียง+ภูมิใจไทย 71 เสียง เป็น 383 เสียง หากตัดพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งอยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ และวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ที่ต้อง “งดออกเสียง” เพื่อความเป็นกลาง เสียงฝั่ง 9 พรรคก็เกินเส้นตาย 375 เสียงมาถึง 6 เสียง ไม่จำเป็นต้องง้อเสียง สว.อีกต่อไป

ทว่า ในความเป็นจริง โอกาสเกิดสูตรนี้แทบไม่มี โดยเฉพาะท่าทีจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ย้ำชัดถึงสูตรนี้ “ไม่เคยลืมสิ่งที่พูดไว้ ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามจุดยืนเดิม หากมีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยไม่ร่วมแน่นอน” 

หรือหากยังเป็นสูตรนี้ แต่เปลี่ยนจาก “ภูมิใจไทย” เป็น “ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนากล้า”  คือ 312 เสียง 8 พรรค+3 พรรค 37 เสียง เป็น 349 เสียง สูตรนี้อาจยังต้องไปลุ้นกันที่เสียง สว. ขณะเดียวกัน ทั้ง 3 พรรคยังย้ำจุดยืนอย่างชัดเจน ไม่สามารถร่วมงานกับพรรคที่แก้ ม.112 ได้ สูตรนี้จึงอาจถูกตัดทิ้งเช่นกัน 

ขณะเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไข “มีก้าวไกล-ไม่มีเรา” แม้การจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนหัวมาเป็นพรรคเพื่อไทย

ขณะที่แคนดิเดตนายกฯ เปลี่ยนเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” หรืออาจเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในลำดับถัดไปทั้ง “แพทองธาร ชินวัตร” หรือแม้แต่ “ชัยเกษม นิติศิริ” ก็ยังทิ้งไว้ซึ่งคำถามถึงโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะถึงฝั่งฝัน ว่ามีมากน้อยเพียงใด? 

‘ทฤษฎีผสมสี’ ถอดรหัส ‘3 สูตรจับขั้ว’  ‘เรา-ลุง-ก้าวไกล’ ใครอยู่-ใครไป ?

2.สูตร “มีเรา-มีลุง-ไม่มีก้าวไกล” สูตรนี้ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเวลานี้เป็นพรรคแกนนำ จะฉีก MOU 8 พรรคร่วม ด้วยเหตุผลการหารือระหว่างพรรคการเมืองและ สว.ที่ยื่นเงื่อนไข “มีก้าวไกล-ไม่มีเรา” 

สูตรนี้ “คอการเมือง” บางสำนักอาจเรียกว่าเป็น “สูตรดีลลับข้ามขั้ว” หรือ “สูตรรัฐบาลปรองดอง” คือมีทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ เสรีรวมไทย และพรรคเล็กอื่นๆ รวมได้ 315 เสียง

ส่วนที่เหลือเป็นเสียงสว.ที่หาได้ไม่ยาก ส่วนใหญ่ก็รอคีย์แมนแต่ละสายกดปุ่ม โดยเฉพาะ “ส.ว.ก๊วนลายพราง”ที่รอตบเท้าโหวตเห็นชอบ

ยิ่งยามนี้มีสัญญาณพลังประชารัฐ ล่าสุดที่มีการตั้ง "บิ๊กป๊อด" พล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค

ตอกย้ำกระแส “ป.ที่4” ผู้ทรงบารมี ยิ่งไปกว่านั้นยังมี ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า นั่งเลขาธิการพรรค ไม่ต่างอะไรกับการวางบทมือประสานงานรอขันหมากเทียบเชิญจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้

สูตรนี้ถึงขั้นมีการจับตาไปถึงปลายทางว่า ที่สุด “ผู้นำฝ่ายบริหาร” คนที่30 จะยังคงเป็นแคนดิเดตของของพรรคเพื่อไทยอยู่หรือไม่?

ขณะที่ก้าวไกลก็ดูเหมือนจะรู้สัญญาณโดดเดี่ยวเป็นอย่างดี สอดรับกับท่าทีบรรดาแกนนำ และ สส.พรรคส้ม ที่ส่งสัญญาณไปยังพรรคเพื่อไทย ถึงเกมหักหลัง ที่อาจเกิดขึ้นในเบื้องหน้า เตือนไปยังพรรคเพื่อไทยที่คงไม่ทรยศประชาชนผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน เปิดทางกลุ่มอำนาจเก่าขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง 

‘ทฤษฎีผสมสี’ ถอดรหัส ‘3 สูตรจับขั้ว’  ‘เรา-ลุง-ก้าวไกล’ ใครอยู่-ใครไป ?

3.สูตร “มีเรา-ไม่มีก้าวไกล-ไม่มีลุง” คือ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ ชาติพัฒนากล้า เสรีรวมไทย และพรรคเล็ก รวม 264 เสียง

“ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” นักการเมืองจอมแฉ เรียกสูตรนี้ว่า สูตรตั้งรัฐบาล “หักหลังถ้วนหน้า” หมายความว่า หักหลังทั้งลุง คือพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ และผลักก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน

โดยมีการมองว่า หากเป็นสูตรนี้ “ก้าวไกล” อาจต้องโชว์บทบาทพระเอกในสายตามวลชน โดยโหวตให้เพื่อไทย ตามที่เคยลั่นวาจา “มีลุง-ไม่มีเรา” และ “มีเรา-ไม่มีลุง”

ขณะเดียวกัน ทั้ง พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ก้าวไกล ที่เป็นฝ่ายค้าน 221 เสียง จะกลายเป็นฝ่ายค้านที่อ่อนแอ เพราะเป็น 2 กลุ่มค้านกันเองที่ไปกันไม่ได้ ขณะเดียวกัน หากเกิดสูตรนี้ก็จะไม่มีความแข็งแกร่งพอจะไปทำอะไรรัฐบาลในอนาคตได้

หากเป็นสูตรนี้ เป็นไปได้ว่าจะไม่มีพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ แต่อาจจะมี “งูเห่า พปชร.” หรือ “งูเห่า รทสช.” ที่เดินเกมร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เช่นการขับออกแล้วย้ายพรรค หรือเดินเกมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแทน

 ขณะเดียวกันสูตรนี้จะมีส่วนคล้ายกับการเลือกตั้ง 2562 ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตรงที่เวลานั้นเกิดกระแสจัดสรร “โควตารัฐมนตรี” ที่ไม่ลงตัว จึงมีการปั่นสูตรแพ็คแน่น “2 พรรค” 103 เสียง ทั้งประชาธิปัตย์ 52 เสียง ภูมิใจไทย 51 เสียง เปิดเกมขั้วที่ 3 หรือ “ขั้วตัวแปร” ในการสร้างแต้มต่อรอง โดยมี 10 เสียงชาติไทยพัฒนาเป็นตัวละครร่วม

‘ทฤษฎีผสมสี’ ถอดรหัส ‘3 สูตรจับขั้ว’  ‘เรา-ลุง-ก้าวไกล’ ใครอยู่-ใครไป ?

เกมในครั้งนั้นมี “1 น.+2 ต.” เป็นคีย์แมนเดินหมาก คือ “น.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล แห่งภูมิใจไทย และ “2 ต.” ประชาธิปัตย์ คือ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และ “เสี่ยต๊ง” มนตรี ปานน้อยนนท์ สส.ประจวบฯ

ก่อนที่ “มนตรี” จะออกมายอมรับในเวลานั้นถึงการต่อรองโควตารัฐมนตรี ทั้งในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ที่ขอกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ขอกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน

สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวทั้งจากฝั่ง “ภูมิใจไทย” และ “ประชาธิปัตย์” เวลานี้ ที่เริ่มมีการปล่อยข่าว “ดีลลับพ่วงโควตารัฐมนตรี” โดยเฉพาะภูมิใจไทย ที่หวังคุมกระทรวงเดิมคือสาธารณสุขและคมนาคม อันถือเป็นคลังกระสุนล็อตใหญ่จากบรรดาเมกะโปรเจค หรือโครงการยิบย่อยต่างๆที่ภูมิใจไทยนำมาสู้กับกระแสจนได้สส.เป็นกอบเป็นกำถึง 71 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากปี62กว่า 20 ที่นั่ง

ไม่ต่างจาก “ประชาธิปัตย์”  ที่เริ่มมีการพูดถึงโควตารัฐมนตรี  บางกระแสบอกว่า ปชป.หวังสูงไปถึงรัฐมนตรีเกรดเอ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ที่คุมอยู่เดิม บางกระแสพูดถึงสูตรรัฐมนตรี 3 ตำแหน่งคือ “1 ว่าการ+2 ช่วย” 

แต่หากนับจำนวน สส.รอบนี้ที่ได้มาเพียง 25 คน และจำนวนนี้อาจมีบางคน อาทิ “2 ผู้เฒ่า” อย่าง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ที่ส่งสัญญาณมาตั้งแต่วันโหวตคว่ำ “พิธา” เมื่อครั้งการเสนอชื่อชิงนายกฯ รอบ 2 วันที่ 19 ก.ค. ซึ่งทั้ง 2 คน “งดออกเสียง” ต่างจากสมาชิกอีก 23 คนที่ “เห็นชอบ” ญัตติคว่ำพิธา เสมือนเป็นการเปิดเกมวัดพลังการเปิดทางพรรคเพื่อไทยแบบกลายๆ

จึงพออนุมานได้ว่า ทั้ง 2 คนอาจไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย หากต้องร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันจริง แม้ ปชป.จะพยายามอ้างมติพรรค ซึ่งถือเป็นที่สุดก็ตาม

ฉะนั้น การต่อรองโควตารัฐมนตรีของปชป.หากที่สุด มีการร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจริง อาจเหลือเพียงแต่กระทรวงเกรดบี เกรดซี อาทิ แรงงาน หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น 

‘ทฤษฎีผสมสี’ ถอดรหัส ‘3 สูตรจับขั้ว’  ‘เรา-ลุง-ก้าวไกล’ ใครอยู่-ใครไป ?

หลากหลายสูตรต่างๆ เหล่านี้ ยังต้องไปลุ้นกันที่ด่านต่างๆ ทั้งการโหวตนายกฯ รอบ 3 ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ซึ่งต้องจับตาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ด้วยว่า จะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” วินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเสนอชื่อพิธา ชิงนายกฯ รอบ 2 รวมถึงจะมีคำสั่ง “เลื่อนโหวต” นายกฯ ในวันดังกล่าวออกไปหรือไม่ 

สถานการณ์สับสนอลหม่าน จึงไม่ต่างจากการประกาศเดินทางกลับไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทย ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ที่จนถึงเวลานี้ยังมีการถกเถียงกันว่า

ที่สุดแล้วการกลับมาของ “ทักษิณ” จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และสัญญาณการเมืองจะดำเนินไปในทิศทางใด?