'ก้าวไกล' เปิดหลักฐานใหม่! ยื่น ป.ป.ช.สอบคดีหุ้น หจก.รับเหมาฯ 'ศักดิ์สยาม'

'ก้าวไกล' เปิดหลักฐานใหม่! ยื่น ป.ป.ช.สอบคดีหุ้น หจก.รับเหมาฯ 'ศักดิ์สยาม'

‘ปกรณ์วุฒิ’ เปิดหลักฐานใหม่คดี ‘ศักดิ์สยาม’ ซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญ ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบมีหนี้สินคงค้างใน หจก.รับเหมาฯ ในวันเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ส่อไม่เปิดเผยในบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ทีมงาน 'พ.ต.อ.ทวี' ลุยยื่น 'ดีเอสไอ' สอบเพิ่มธุรกรรมที่พิสดาร

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีคดีความที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม เคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2565 ขอให้ตรวจสอบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อาจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ ซึ่งในครั้งนั้น ร่างคำร้องได้พุ่งเป้าไปที่การคงอยู่ ซึ่งความเป็นเจ้าของของศักดิ์สยามใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ศักดิ์สยามหยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 ผู้ถูกร้องก็ได้ส่งเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา ซึ่งตนและ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะตัวแทนผู้ร้อง ได้รับเอกสารทั้งหมดนี้เช่นกันเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่แล้ว

หลังจากตรวจสอบเอกสารทั้งหมด ทำให้พบว่ามีจุดพิรุธอยู่หลายแห่ง เป็นที่มาของการแถลงข่าวในวันนี้ และหลังจากจบแถลงข่าว ตนจะเดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อยื่นคำร้องเพิ่มเติมเนื่องจาก พบหลักฐานใหม่ว่าศักดิ์สยามยังมีหนี้สินคงค้างกับห้างหุ้นส่วนแห่งนี้ในวันที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่ได้เปิดเผยในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามเอกสารที่ หจก.บุรีเจริญฯ ชี้แจงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีหนี้สินที่ศักดิ์สยามคงค้างกับ หจก. นั้น ในรายละเอียดระบุว่าศักดิ์สยามเคยกู้ยืมเงินจาก หจก. ตั้งแต่ปี 2558-2559 จำนวน 4 ครั้ง เป็นยอดรวมทั้งสิ้น 108,499,000 บาท โดยมีสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาศักดิ์สยามได้ชำระหนี้เงินกู้คืนทั้งก้อน ในวันที่ 22 เมษายน 2562 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. 33 วัน

\'ก้าวไกล\' เปิดหลักฐานใหม่! ยื่น ป.ป.ช.สอบคดีหุ้น หจก.รับเหมาฯ \'ศักดิ์สยาม\'

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของตนเมื่อปี 2565 หลังจากศักดิ์สยามชี้แจงในสภาฯ ตนได้ลุกขึ้นถามคำถามว่าหนี้สินที่ศักดิ์สยามมีกับ หจก. แห่งนี้ได้โอนออกไปพร้อมกับการโอนหุ้นหรือไม่ ทว่าไม่เคยได้รับคำตอบ แต่ข้อมูลจากเอกสารของ หจก.บุรีเจริญฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าหลังจากการโอนหุ้น หจก. แห่งนี้ออกไป ไม่ได้มีการโอนหนี้สินก้อนนี้ออกไปด้วย เอกสารฉบับนี้จึงเป็นการมัดตัวว่าหนี้สินก้อนนี้ยังเป็นของศักดิ์สยามอยู่ หลังจากการโอนหุ้นเมื่อปี 2561 อย่างแน่นอน

คำถามต่อไปคือ มีการชำระหนี้เงินกู้คืนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ก่อนที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน อย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ เพราะในเมื่องบการเงินของ หจก. สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ระบุชัดว่า ยังมีเงินให้หุ้นส่วนผู้จัดการกู้ยืมคงค้างอยู่ 38 ล้านบาท หลังจากนั้นยอดหนี้สินนี้จึงถูกปิดลงเหลือ 0 บาทในงบการเงินสิ้นปี 2563

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบบัญชี การปิดงบการเงินนั้น จำเป็นต้องสอดคล้องกับเอกสาร ทางการเงินและยอดเงินในบัญชีทั้งหมดของ หจก. เพราะเป็นเอกสารที่จำเป็นต้องยื่นต่อหน่วยงานราชการตามกฎหมาย จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ดังนั้น เป็นไปได้อย่างมากว่าศักดิ์สยามยังคงเป็นหนี้ห้างหุ้นส่วนแห่งนี้อยู่ 38 ล้านบาทในสิ้นปี 2562 และไม่ได้ยื่นในบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

\'ก้าวไกล\' เปิดหลักฐานใหม่! ยื่น ป.ป.ช.สอบคดีหุ้น หจก.รับเหมาฯ \'ศักดิ์สยาม\'

แต่สมมุติเรามองในแง่ดี ว่าวันที่ 22 เมษายน 2562 มีการโอนเงิน 108,499,000 บาทให้ หจก. ตามในเอกสารจริงๆ พิรุธประการต่อไป หากไปดูในเอกสารชี้แจงจะพบว่าทาง หจก. ได้ยอมรับเองว่าศักดิ์สยาม มีการกู้ยืมเงินจากห้างทั้งสิ้น 4 ครั้ง ประเด็นก็คือตัวเลขเงินให้หุ้นส่วนผู้จัดการกู้ยืมตั้งแต่ปี 2559 2560 และ 2561 นั้นระบุตรงกันว่าเป็นยอด 69 ล้านบาท ซึ่งตรงกับการกู้ยืมครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 รวมกัน คำถามคือ  การกู้เงินครั้งที่ 1 และ 2 ที่รวมเป็นยอดเงิน 39,499,000 บาท นั้น เหตุใดจึงไม่เคยปรากฏอยู่ในงบการเงินแม้แต่ครั้งเดียว ยอดเงินจำนวนนี้มาจากไหน

ข้อสันนิษฐานของตนคือ มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจไม่ได้มีการชำระหนี้ก้อนนี้ทั้งหมด และยังมียอดหนี้คงค้างตามในงบการเงิน จึงใช้วิธีหายอดเงินที่มีการโอนเข้า หจก. จริงๆ ซึ่งอาจเป็นธุรกรรมเพื่อการอื่น มากล่าวอ้างว่าเป็นการใช้หนี้ แต่เผอิญยอดเงินไม่ตรงกับ 69 ล้านบาทที่ปรากฏในงบการเงิน จึงต้องสร้างยอดหนี้ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในงบการเงินมาก่อน ทำสัญญาเงินกู้ขึ้นมา ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าสัญญาเงินกู้ที่ยอดเงินสูงขนาดนี้ มีการติดอากรแสตมป์ที่จะมีวันที่ประทับเพื่อให้มีผลทางกฎหมายอย่างเป็นทางการหรือไม่

“ผมขอเน้นย้ำว่านี่เป็นการสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้จากข้อพิรุธที่พบตามเอกสาร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะสืบสวนติดตามเอกสารต่างๆ และตรวจสอบเรื่องนี้ตามคำร้องต่อไป” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ประการต่อไปที่คิดว่าเป็นข้อสงสัยมากที่สุด เมื่อตนอ่านเอกสารชี้แจงของ หจก. ดังกล่าว ก็ลองนึกย้อนไปถึงเนื้อหาที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ และตอนที่ศักดิ์สยามลุกขึ้นมาชี้แจงในสภาฯ เนื้อหาส่วนหนึ่งของการอภิปรายของตนคือการตั้งข้อสงสัยว่า ตัวเลขในการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ไม่สอดคล้องกับการขายหุ้นของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เพราะหากมีการขายหุ้น และศักดิ์สยามได้เงิน 120 ล้านบาทจริง เมื่อเดือนมกราคมปี 2561 เหตุใดในการยื่นทรัพย์สินใน 16 เดือนให้หลังกลับมีเงินสดเงินฝากเพียงแค่ 76 ล้านบาท หากเป็นตัวเลขจริงแปลว่าศักดิ์สยามใช้เงินที่ไม่ใช่การซื้อทรัพย์สินอย่างน้อย 40 ล้านบาทภายใน 16 เดือน และถ้าใช้แค่ 40 ล้านก็ตั้งอยู่บนข้อสมมติที่ว่า ก่อนเดือนมกราคมปี 2561 ศักดิ์สยามไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ในวันรุ่งขึ้น ศักดิ์สยามก็ลุกขึ้นมาชี้แจงในสภาฯ  ในข้อมูลนำเสนอเขียนว่า “ได้นำไปชำระหนี้สินส่วนตัวและหนี้สินทางธุรกิจ” แต่ศักดิ์สยามอภิปรายเพียงแค่ว่า “ส่วนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นนั้น ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของผมที่จะนำไปใช้อะไร ซึ่งก็คิดว่าคงไม่ต้องมารายงานต่อท่านสมาชิก”

สิ่งที่ผมสงสัย คือหากการจ่ายคืนหนี้สินเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 เกิดขึ้นจริง เหตุใดศักดิ์สยามจึงไม่นำข้อมูลหลักฐานนี้มาชี้แจงในสภาฯ ในวันนั้น หากลองคิดแบบวิญญูชนทั่วไป วันนั้นตนอภิปรายถึงสายสัมพันธ์ของศักดิ์สยามที่มีกับ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น หลังการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และศักดิ์สยามได้นำหลักฐานว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วมาชี้แจงในสภาฯ หนี้สินก้อนนี้คือเชือกเส้นสุดท้ายที่ยึดโยงศักดิ์สยามเข้ากับห้างหุ้นส่วนแห่งนี้

หากมีการชำระหนี้ไปแล้วจริง จะเป็นหลักฐานสำคัญว่าได้ตัดขาดจากห้างหุ้นส่วนแห่งนี้โดยเด็ดขาดแล้ว รวมถึงยังทำให้จำนวนทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ที่ตนตั้งข้อสงสัยไว้ว่ามีพิรุธ จะถูกหักล้างทันที จะเป็นหมัดเด็ดที่ทำให้ตนถูกน็อกกลางสภาฯ ในวันนั้น แต่ศักดิ์สยามกลับพูดเพียงว่า ‘เป็นเรื่องส่วนตัวที่จะนำไปใช้อะไร คิดว่าคงไม่ต้องมารายงานต่อท่านสมาชิก’

\'ก้าวไกล\' เปิดหลักฐานใหม่! ยื่น ป.ป.ช.สอบคดีหุ้น หจก.รับเหมาฯ \'ศักดิ์สยาม\'

“ขอยกให้เป็นวิจารณญาณของทุกท่านในการตัดสินว่าความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ ทั้งหมดที่ศักดิ์สยามชี้แจงทั้งในสภาฯ และต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นการทำธุรกรรมที่พิสดารใน หจก. ดังกล่าวมากเกินไป จนยิ่งพยายามแก้ปมเท่าไรก็ยิ่งมัดตัวเองให้ดิ้นไม่หลุดไปเรื่อยๆ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงข้อพิรุธที่พบในเอกสารชี้แจงที่นายศักดิ์สยามส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นการคงอยู่ซึ่งความเป็นเจ้าของ หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นายศักดิ์สยามได้ขอเอกสารจาก หจก. เป็นเอกสารใบรับวางบิลซึ่งมีเอกสารตั้งแต่ปี 2561-2564 เป็นความพยายามที่จะบอกว่านี่เป็นหลักฐานว่าหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่ เข้ามาควบคุมกิจการเซ็นเอกสารตั้งแต่ต้นปี 2561 ตามที่ได้มีการโอนหุ้นออกไปแล้วจริงๆ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของตน ได้ให้ข้อมูลว่าเอกสารการขายหุ้นเปลี่ยนเจ้าของตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561 แต่ยังคงใช้ที่ตั้งเดิมคือ 30/2 หมู่ 15 และแจ้งเปลี่ยนที่ตั้งกับทางการเป็น 30/17 หมู่ 15 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 แต่เอกสารใบรับวางบิลที่ออกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนก่อนที่ หจก. จดย้ายที่ตั้งต่อทางราชการ ที่อยู่ของ หจก. ในเอกสารกลับระบุเป็น 30/17 หมู่ 15 ไปแล้ว นอกจากนั้น เอกสารใบรับวางบิลเป็นเอกสารภายในของธุรกิจ ไม่ได้ยื่นต่อหน่วยงานราชการ จึงสามารถทำขึ้นย้อนหลัง จะพิมพ์ขึ้นมากี่ใบเมื่อไรก็ได้

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนผู้ร้องคือตนและ พ.ต.อ. ทวี ได้ยื่นรายชื่อพยานบุคคลทั้งหมด 22 คนและรายชื่อพยานเอกสาร 19 รายการ ที่จะขอให้ศาลฯ เรียกเพื่อชี้ข้อพิรุธและหักล้างคำชี้แจงดังกล่าวของศักดิ์สยามผู้ถูกร้อง นอกจากนี้ ทีมงานของ พ.ต.อ. ทวี เป็นหนึ่งในรายชื่อบัญชีพยานบุคคล ได้พบรายการเดินบัญชีของนายศักดิ์สยามรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 27 บัญชีที่มีความผิดปกติ โดยทีมงานคนนี้ได้ยื่นเอกสารในการชี้เบาะแสของผู้ที่น่าจะเชื่อว่าร่วมกันกระทำผิดฐานฟอกเงินที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในเวลา 10.00 น. วันนี้

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องไปยังองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งในแง่กระบวนการที่จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 รวมถึงมาตรฐานในการทำงานที่กำลังถูกสังคมจับจ้องและตั้งคำถามว่า จะถูกหรือผิด เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับผู้ถูกร้องอยู่ฝ่ายไหนหรือไม่

“ถึงเวลาแล้วที่องค์กรอิสระต้องเรียกศรัทธาจากสังคมคืนมาให้ได้ ด้วยการปฏิบัติกับทุกคำร้องอย่างเท่าเทียมเที่ยงธรรม ก่อนที่ประชาชนจะหมดศรัทธากับกลไกเหล่านี้อย่างที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนได้อีกเลย” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

\'ก้าวไกล\' เปิดหลักฐานใหม่! ยื่น ป.ป.ช.สอบคดีหุ้น หจก.รับเหมาฯ \'ศักดิ์สยาม\'

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าการแถลงข่าวเปิดหลักฐานใหม่ในวันนี้ จะกระทบต่อการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการทำหน้าที่ตามปกติ เพราะเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่แรก จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำ เรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้น ตนไม่ได้อยู่ในคณะเจรจา และไม่ทราบว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นเมื่อไร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราเคยประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่าต่อให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็จะทำงานตรวจสอบรัฐมนตรีทุกคน ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเอง และเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตก็เป็นเรื่องที่ระบุใน MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

“ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล พิธาได้เป็นนายกฯ ผมคิดว่าภาพที่พรรคก้าวไกลตรวจสอบพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง คงไม่ใช่ภาพที่ทุกคนแปลกใจ ดังนั้น เราเคยทำแบบไหน พูดแบบไหน เราก็ทำแบบนั้น การตรวจสอบการทุจริตนั้น ไม่มีเวลาที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทำสิ่งที่ถูกต้อง” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว