ส่องปม ‘ประชาธิปัตย์’ ตกขบวน ตัดไฟ ‘ฝ่ายค้าน’ ในรัฐบาล

ส่องปม ‘ประชาธิปัตย์’ ตกขบวน  ตัดไฟ ‘ฝ่ายค้าน’ ในรัฐบาล

บทเรียนในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดฝ่ายค้านในขั้วรัฐบาล โดย “ทีมมาร์ค” อาทิ อันวาร์ สาและ พนิช วิกิตเศรษฐ์ ออกมาตำหนิการทำงานของ “ประยุทธ์” แถมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกครั้ง ยังหักมติพรรคประชาธิปัตย์ โหวตไม่ไว้วางใจ “ประยุทธ์” ทุกครั้ง

ปัญหาภายใน พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังเคลียร์กันไม่จบ จนอาจตกขบวนร่วมรัฐบาล เมื่อพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเดินเกมพลิกขั้วมาจับมือกับพรรคในขั้ว 188 เสียง

การเจรจารวมขั้วใหม่ของ"รัฐบาลเพื่อไทย" ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง มีเสียงรวมกันเท่าเดิม 312 เสียง

มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจต้องไปอยู่  “ขั้วฝ่ายค้าน”  กับพรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเล็กอื่นๆ ซึ่งเหตุผลหลักมาจากความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคเอง

ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดชัดเจนถึงเหตุที่ไม่เชิญประชาธิปัตย์มาร่วมหารือทางออกของประเทศ "ขณะนี้ยังไม่มีหัวหน้าพรรค เลขาฯพรรค ซึ่งจะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 6 ส.ค. โดยไม่ทันกับการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้"

ก่อนหน้านี้ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะประกาศวางมือทางการเมือง แต่ยังคอยให้คำปรึกษากับ “ลูกทีม” คาดหวังว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ให้ได้ในวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยวางตัว “นราพัฒน์ แก้วทอง” ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ วางคิวให้ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส. สงขลา นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค แต่สุดท้ายโดนลูกเคี่ยวของทีม "ชวน หลีกภัย" ประธานที่ปรึกษา ซึ่งประกาศตัวสนับสนุน “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

“ทีมชวน” เสนอให้ยกเลิกข้อบังคับการคำนวณคะแนนโหวต จากเดิมใช้เกณฑ์ 70 : 30 โดยให้น้ำหนักกับเสียงโหวตของ สส. ในปัจจุบัน แต่ที่ประชุมใหญ่ไม่เห็นด้วย ทำให้โอกาสของ “อภิสิทธิ์” ลดน้อยลง จึงมี “มือมืด” พลิกเกมส่งสัญญาณ “ลูกทีม” ทำองค์ประชุมล่ม

ข้อบังคับการประชุมต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 250 เสียง แต่ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเย็นวันที่ 9 ก.ค. มีเพียง 201 เสียง ทั้งที่ในช่วงเช้าองค์ประชุมมาครบหายห่วง

ทว่า หลังจบศึกชิงอำนาจในพรรครอบแรก สถานการณ์ก็เต็มไปด้วยความอึมครึม “ทีมเฉลิมชัย” พยายามนัดประชุมใหญ่วิสามัญอีกครั้ง เพื่อเคลียร์ปัญหาภายในพรรคให้จบ ในวันที่ 30 ก.ค. แต่ก็ต้องเลื่อนอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 6 ส.ค.

เมื่อศึกในไม่จบ ตรงกันข้ามกับเกมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเทียบเชิญ 5 พรรค ในขั้ว 188 เสียง ร่วมหารือแนวทางหาทางออกให้ประเทศอย่างคึกคัก แต่ไร้สัญญาณจะส่งเทียบเชิญมาที่พรรคประชาธิปัตย์

ชั่วโมงนี้จึงฟันธงได้เลยว่า “ประชาธิปัตย์” ตกขบวนรัฐบาลเพื่อไทย เนื่องจากการรวมเสียง “9 พรรคขั้วใหม่” มีอยู่ 312 เสียง ผนึกกับ สว. สาย “2 ลุง” การโหวตนายกรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพา 25 เสียงของประชาธิปัตย์

โดย 312 เสียงขั้วใหม่ มีมากพอในการบริหารเสียงในสภาฯ ไม่ให้เกิดปัญหากฎหมายถูกตีตก ขณะเดียวกันยังช่วยลดแรงต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีลงได้อีก เพราะหาก “เฉลิมชัย” นำประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล อาจจะต่อรองขอเก้าอี้ 1 รมว. 1 รมช.

ที่สำคัญมีสัญญาณว่า“คนแดนไกล”ไม่ต้องการให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ไม่เพียงแค่ความไม่เป็นเอกภาพของพรรค แต่ห่วงปัญหา ที่อาจจะกำเนิด“ฝ่ายค้าน”ในขั้วรัฐบาล

โดยยกบทเรียนในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ทีมมาร์ค” อาทิ อันวาร์ สาและ อดีต สส. ปัตตานี พนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีต สส. บัญชีรายชื่อ มักจะออกมาตำหนิการทำงานของ “ประยุทธ์” แถมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกครั้ง “อันวาร์-พนิช” หักมติพรรคประชาธิปัตย์ โหวตไม่ไว้วางใจ “ประยุทธ์” ทุกครั้ง

เป็นที่รู้กันว่า “เฉลิมชัย” คุมเสียงในประชาธิปัตย์ได้ 16-18 เสียง ส่วนอีก 7-9 เสียง อยู่ใน “ทีมชวน” หากเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย 7-9 เสียงของอีกขั้วในพรรค อาจมีความเห็นสวนทางกับมติพรรค ดังนั้น เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม “คนแดนไกล” จึงตัดปัญหาที่จะตามมากับประชาธิปัตย์ออกไป

สำหรับอนาคตของประชาธิปัตย์ หลังจากนี้ต้องจับตาว่า “ทีมเฉลิมชัย” ซึ่งกุมเสียง สส. เตรียมโหวตเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ กับ “ทีมชวน” ที่กุมเสียงองค์ประชุม ฝั่งใดจะเคลื่อนเกมการเมืองจนยึดพรรคไปครองได้