บรรทัดฐานใหม่ ข้อ 41 รัฐสภา เปิดทาง “นายกฯ คนนอก” ?

บรรทัดฐานใหม่ ข้อ 41 รัฐสภา เปิดทาง “นายกฯ คนนอก” ?

แคนดิเดตนายกฯ ทั้ง8คนจาก5พรรค ล้วนตกอยู่ในกติกาเดียวกันกับ "พิธา" ที่รัฐสภา 395 เสียงวางบรรทัดฐาน ซ้อนกับ "รัฐธรรมนูญ" จับตาอนาคตการเมืองไทย ที่จะเดินไปสู่จุด "นายกฯคนนอก" หรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่กำหนดเงื่อนไขเวลาว่า การจะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังการเลือกตั้งเมื่อใด จึงกลายเป็นช่อง เดินเกมชิงผู้นำฝ่ายบริหาร ยื้อกันต่อไป

โดยวาระเลือกนายกฯ คนที่30 ในครั้งนี้ ปรากฎมาแล้วถึง 2 รอบ และสิ่งที่สำคัญ ไม่ได้อยู่ที่ “ตัวบุคคล” ว่าใครจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ เพราะที่จริงๆ แล้ว อยู่ที่กลเกมของรัฐสภาที่ใช้ “กติกา” มาเล่นแง่ทางการเมือง

วาระประชุม เพื่อพิจารณาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เมื่อ19 กรกฏาคม 2566 ได้สร้าง”บรรทัดฐานใหม่”ของการเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ คือ ชื่อของบุคคลที่เสนอครั้งแรก ไม่ได้รับความเห็นชอบ ไม่อาจเสนอกลับเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณาซ้ำได้อีก

บรรทัดฐานใหม่ ข้อ 41 รัฐสภา เปิดทาง “นายกฯ คนนอก” ?

บรรทัดฐานนี้ เป็นมติข้างมากของรัฐสภา 395 เสียงร่วมสร้างเอาไว้ โดยยึดหลักของข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ว่าด้วย ญัตติที่ตกไปแล้วไม่สามารถเสนอซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกัน พ่วงกับ ข้อบังคับการประชุมข้อ 151 ที่กำหนดกฎเกณฑ์การโหวต ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา

แม้การสร้างบรรทัดฐานนี้ “นักกฎหมาย” มือดีของแต่ละพรรคการเมือง​ จะมองว่าคือจุดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และกระทบกับบทบัญญัติของกฎหมายแม่ คือ “รัฐธรรมนูญ” ที่ในอนาคตหากเกิดกรณีแบบนี้ซ้ำอีก อาจจะลามไปสู่การที่ประเทศไทยจะไม่ได้นายกฯ​ตามรัฐธรรมนูญ แต่จะผลักให้รัฐสภาเล่นเกมไปสู่ “นายกฯนอกรัฐธรรมนูญ” 

ทว่า ในฝั่งของ “ก้าวไกล” ที่แคนดิเดตนายกฯของพวกเขาถูกกระทบสิทธิ ยังไม่แก้เกมที่ถูก "การตีความข้อบังคับที่ถูกยกศักดิ์ให้สูงกว่ารัฐธรรมนูญ" ซึ่งมีผู้ชี้ช่องทั้ง บวรศักดิ์ อุวรรโณ ชวน หลีกภัย ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกของผู้ตรวจการแผ่นดิน

แม้ “ก้าวไกล” ยังลังเลที่จะไปพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัวเองกาหัวว่าเป็น “ศัตรูทางการเมือง” แต่มีกลุ่มนักวิชาการ อาทิ “บุญส่ง ชเลธร” นักวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  และ  "พรชัย  เทพปัญญา"  นักวิชาการคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 21 กรกฏาคม เนื่องจากเป็นผู้ถูกกระทบสิทธิจากมติของรัฐสภา 

บรรทัดฐานใหม่ ข้อ 41 รัฐสภา เปิดทาง “นายกฯ คนนอก” ?

ทว่า กลไกของผู้ตรวจการแผ่นดินถึงศาลรัฐธรรมนูญ และกว่าศาลรัฐธรรมนูจะตัดสินชี้ขาด เชื่อว่ายังใช้เวลาอีกพอสมควร

ดังนั้นวันที่ 27 กรกฏาคม ที่ “วันนอร์มูหะมัดนอร์ มะทา” นัดประชุมรัฐสภาเพื่อหา นายกฯ คนที่ 30 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 รอบ 3 ต้องใช้กติกาที่รัฐสภาร่วมกันกำหนด นั่นคือ

 1.แคนดิเดนนายกฯ ที่จะเสนอต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และสังกัดพรรคที่ได้ ส.ส.25 คนขึ้นไป 

2.ไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ประกอบ มาตรา 98 

3.ต้องไม่เคยถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ และ  ผู้นั้น ถูกตีตก  มาแล้ว

สำหรับรายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ ที่อยู่ในข่ายนี้ มีเหลืออีก 8 คน ได้แก่  แพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน  ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกจากพรรค แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสิทธิการเสนอชื่อ) 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย และ จุรินทร์​ ลักษณวิศิษฎ์ จากพรรคประชาธิปัตย์

โดยแคนดิเดตที่เหลือ ทั้ง 8 คน จาก 5 พรรค ต้องเผชิญกติกาเดียวกันกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดต จากพรรคก้าวไกล

ขณะที่สิทธิในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ โดยพรรคอันดับสอง “เพื่อไทย” ที่รับไม้ต่อจากก้าวไกลพรรคอันดับหนึ่ง ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่ในเกมต่อรองทางการเมือง ก็ยังเผชิญปัญหาเสียงโหวตสนับสนุนขั้ว 312 ไม่พอ เช่นกัน เพราะต้องได้มากกว่า 375 เสียงของรัฐสภา จึงมีความสุ่มเสี่ยงเช่นกันว่า หาก “เพื่อไทย” เสนอแคนดิเดตของตัวเอง อาจถูกตีตกหรือไม่

บรรทัดฐานใหม่ ข้อ 41 รัฐสภา เปิดทาง “นายกฯ คนนอก” ?

ประเด็นนี้ เพื่อไทยยังวิตกกังวล และยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ คนใดของพรรค ให้รัฐสภาโหวตวันที่ 27 กรกฏาคมนี้ 

หรืออาจจะมีแผนสำรอง คือ เสนอชื่อ “คนกลาง” จากพรรคการเมืองอื่น ชิมลางไปก่อน แต่มุมคิดนี้ ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้ยาก ในเมื่อ “ก้าวไกล” ประกาศชัดแล้วว่าจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

นอกจากประเด็นนี้ ยังต้องจับตาตัวแปร คือ “ส.ว.” ที่ประกาศกร้าวชัดเจนว่า จะทวงคืนประเทศไทย ไม่ยอมให้ก้าวไกลอยู่ฝั่งรัฐบาล ดังนั้นหากเพื่อไทยไม่สะบั้น ก้าวไกลออกจากสมการตั้งรัฐบาล ดังนั้น เสียงที่อาจจะมาเติมให้ถึง 375 ในวันโหวตนายกฯ รอบสาม อาจไม่ง่าย และหากในเงื่อนไขที่รวมเสียงส.ส.ไม่ได้ถึงเกณฑ์ ส.ว.ยังมีสิทธิเป็นผู้ชี้ขาด และ เลือก “นายกฯ” ได้ตาม “ใจชอบ” 

บรรทัดฐานใหม่ ข้อ 41 รัฐสภา เปิดทาง “นายกฯ คนนอก” ?

หากให้ปล่อยให้ “กลไกขั้วอำนาจเดิม” มีบทบาทชี้นำว่า ใครจะเป็นนายกฯ ทางที่เลวร้ายที่สุด ในบัญชีแต่ละพรรคอาจไม่มีใครสักคนได้เป็นนายกฯ คนที่ 30  

คำตอบสุดท้ายอาจไปจบที่ “นายกฯ คนนอก” การเมืองไทย อะไรก็เป็นไปได้