กลไกประชาธิปไตย ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

กลไกประชาธิปไตย ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ถึงแม้ประชาชนจะได้ออกฉันทามติผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ก็เป็นแค่ครึ่งทางของการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เพราะจำต้องผ่านการเห็นชอบจากเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

ขณะเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งก็จำต้องผ่านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดและหรือถ้าผิดข้อบังคับเหล่านั้นก็จะต้องถูกตัดสินใจโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวานนี้ (19 ก.ค.) มีมติรับเรื่องกรณีการถือหุ้น ITV ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับเสียงโหวตสูงสุดจากประชาชน และมีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ทันที

ภาวะแห่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ ไม่เป็นผลดีกับประเทศ ประชาชน และเศรษฐกิจอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่เราบอกกับชาวโลกว่า ประเทศของเรานั้นเป็นประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงกลับมีกลไกที่พิสดารผิดปกติและไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นดอกผลของการรัฐประหาร นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและองค์กรอิสระ ที่มาจากการแต่งตั้งขององคาพยพจากการรัฐประหาร อาทิ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. เป็นต้น

ข้อกำหนดที่พิสดารในรัฐธรรมนูญ​ และองค์กรที่มีที่มาจากอำนาจเบ็ดเสร็จไร้การตรวจสอบจากคณะรัฐประหารนั้น เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สภาวการณ์ทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน และเป็นการยากต่อการทำความเข้าใจในเวทีนานาชาติ คนไทยที่มีเพื่อนต่างชาติจะอธิบายอย่างไรให้คนต่างชาติเข้าใจว่า ในเมื่อประชาชนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว เหตุใดแคนดิเดตนายกฯ ผู้ได้รับเสียงอันดับหนึ่งนั้น จึงไม่สามารถเข้าทำเนียบบริหารประเทศได้

เพราะไม่มีประเทศประชาธิปไตยเต็มใบแห่งใดในโลกที่มีกฎเกณฑ์ที่แปลกประหลาด ที่ในท้ายที่สุดปรากฏชัดออกมาแล้วว่า กลไกเหล่านี้แท้จริงแล้วมีอำนาจมากกว่าเสียงของประชาชนจำนวนมาก เหตุผลกลใดที่ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง จึงมีอำนาจมากกว่าเสียงของประชาชน เช่นเดียวกับข้อสงสัยเคลือบแคลงในกระบวนการแข่งขันและตัดสินคดีที่เป็นธรรมจากองค์กรอิสระอื่น ๆ

ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบอย่างอังกฤษ ไม่มีสิทธิเข้ามาโหวตเพื่อเลือกนายกฯอังกฤษ เพราะ ส.ว.อังกฤษไม่มีมีที่มาที่ยึดโยงจากประชาชน ขณะที่ ส.ว.สหรัฐ ที่มีอำนาจมากเพราะมาจากการเลือกตั้งจึงยึดโยงโดยตรงกับประชาชน ก็ไม่มีอำนาจในการเลือกประธานาธิบดี เพราะรัฐธรรมนูญสหรัฐได้ออกแบบให้ประธานาธิบดีนั้นถูกเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะอธิบายให้นานาชาติเข้าใจว่าเพราะเหตุใด ประเทศไทยของเราที่บอกชาวโลกว่า เรานั้นเป็นประชาธิปไตย แต่ระบบกฎหมาย และองค์กรต่าง ๆ ผู้ใช้อำนาจจากกฎหมายเหล่านี้นั้น จึงมีการกระทำที่อธิบายได้ยากมากว่า เป็นการกระทำหรือการตัดสินใจที่เคารพต่อจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย ความมีน้ำใจนักกีฬา การเคารพต่อกฎกติกา และประชาชน

ในทางทฤษฎีนั้น จริงอยู่ที่ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ระบอบก็ได้ถูกทดสอบมาแล้วหลายสิบปีกระทั่งเป็นร้อยปีแล้วว่า “เลวน้อยที่สุด” เพราะกลไกประชาธิปไตยถือเป็นหนึ่งในแนงทางการจัดการปัญหาได้ดี แทนการเข่นฆ่าเพื่ออำนาจ หรือทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด หรือแม้กระทั่งความเห็นที่ไม่ตรงกันที่กระทำกันในยุคโบราณ ยุคกลาง หรือแม้กระทั่งไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาในบางประเทศ

ดังนั้น การทำลายจิตวิญญาณและกลไกประชาธิปไตยจึงไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาประเทศ เป็นศัตรูกับความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทำลายความเชื่อมั่นความศรัทธาต่อระบบกฎหมายและกฎเกณฑ์พื้นฐานที่คนในประเทศทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ต่างยินยอมร่วมกัน เป็นการสร้างเงื่อนไขสู่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม และช่วงชิงอำนาจ ซึ่งก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

หมดยุคของประชาชนที่ท้อแท้และหมดหวังจะก้มหน้ารับชะตากรรมเช่นคนรุ่นพ่อแม่ โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สังคมและความคิดของคนไทยเปลี่ยนแปลง ดังนั้นทัศนคติต่อปัญหาและการจัดการปัญหาก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน และความท้อแท้หมดหวังที่กลายเป็นความโกรธเพราะถูกไล่ต้อนกระทั่งจนมุมนั้น ก็อันตรายกับทุกคน