วิกฤติอาจมาเยือน ถ้ายังไม่เร่งตั้ง ‘นายกฯ’

วิกฤติอาจมาเยือน ถ้ายังไม่เร่งตั้ง ‘นายกฯ’

19 ก.ค. 2566 เป็นวันที่สองของการเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ไทยยังไม่ได้ "นายกรัฐมนตรี" มาบริหารงาน การไม่มี “นายกฯ” ถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ของประเทศ เพราะไม่มีรัฐบาลที่จะมารับมือพายุเศรษฐกิจโลกที่กำลังก่อตัวขึ้น

เศรษฐกิจโลกยังคงมีเค้าลางความเสี่ยงของ “ภาวะถดถอย” ให้เห็นอยู่เป็นระยะ แม้ว่าจะมาช้ากว่าที่นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ สำนักคาดการณ์เอาไว้ก็ตาม แต่ทุกคนยังลงความเห็นตรงกันว่า ไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า เราคงได้เห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ไม่มีความเสี่ยงไหนที่ใหญ่ไปกว่าการไม่มี “นายกรัฐมนตรี” เพราะนั่นหมายความว่า เราไม่มี “รัฐบาลชุดใหม่” ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศด้วย

ในวันนี้ (19 ก.ค.) เป็นวันที่สองของการเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา คะแนนในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งที่ประชุมเสนอชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นชิงตำแหน่งดังกล่าว แต่คะแนนไม่ถึง 375 เสียง ก็ต้องมาลุ้นในวันนี้ว่า พิธา จะสามารถหาคะแนนมาเพิ่มจนถึง 375 เสียงได้หรือไม่ ทว่าคอการเมืองฟันธงไปเรียบร้อนแล้วว่า “ไม่น่าจะรอด” เท่ากับว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่

ที่บอกว่า การไม่มี “นายกฯ” ถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ของประเทศ ก็เพราะถ้ายังไม่ได้ตัวนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลปัจจุบันจึงต้องทำหน้าที่รักษาการณ์ไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจึงตกอยู่ในภาวะ “เป็ดง่อย” ทั้งที่เวลานี้เราจำเป็นต้องได้ “ผู้นำ” ที่มีอำนาจเต็มในการบริหาร วางแผน และตัดสินใจ เพื่อรับมือกับพายุเศรษฐกิจโลกที่กำลังก่อตัวขึ้น

โชคยังดีที่พายุลูกนี้มาช้ากว่าคาด แต่เชื่อว่ามาแน่นอน ยิ่งถ้าเหลียวมองเศรษฐกิจจีนในเวลานี้ นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เรายังมีความหวังว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวดีสร้างอานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทยด้วย 

ประเด็นที่เห็นชัดๆ เวลานี้ คือ การรับมือกับภาวะเอลนีโญ ที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าที่คาด นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าไทยจะเจอปัญหาภัยแล้งครั้งใหญ่เหมือนกับในปี 2558 และ 2562 จึงต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาบริหารจัดการ ในขณะที่ภาคเอกชนโดย กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) ก็มองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมืออย่างเร่งด่วน

แต่ความที่เป็น “รัฐบาลรักษาการ” เตรียมส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ แถมอำนาจก็ยังไม่เต็มมือ จึงไม่มีใครตอบได้ชัดว่าการจัดการจะเป็นอย่างไร เราจึงหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ แต่ก่อนอื่นต้องได้ตัวนายกฯ โดยเร็วที่สุดก่อน

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจะจบได้โดยไว เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นกระบวนการควรต้องเป็นธรรมโปร่งใสตามหลักประชาธิปไตยด้วย เพราะไม่เช่นนั้น แม้เราจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ยอมรับ ความวุ่นวายก็จะไม่จบ กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามีคำถามที่เกิดจากความไม่เชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติด้วยแล้ว ถึงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยคงต้องเจอมรสุมลูกใหม่อีกลูกแน่นอน!