ครม.ไฟเขียว บำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ เป็นขวัญกำลังใจ จนท.ปราบยาเสพติด

ครม.ไฟเขียว บำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ เป็นขวัญกำลังใจ จนท.ปราบยาเสพติด

ครม.อนุมัติให้บำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบ 66 ใน 17 หน่วยงาน ไม่เกิน 13,116 อัตรา

น.ส.ไตรศุลีไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 ก.ค. 66 ได้อนุมัติให้มีการ บำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในจำนวนไม่เกิน 13,116 อัตรา จากเจ้าหน้าทั้งหมด 628,827 อัตราของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 17 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 86.17 ล้านบาท หรือประมาณ 6,570 บาทต่อคนต่อปี 

โดยใช้งบประมาณของต้นสังกัดที่มีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ไม่ต้องของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม จึงไม่เป็นกรณีที่ ครม. ได้อนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169(1)

ทั้งนี้ จากจำนวนบำเหน็จ 13,116 อัตรา เมื่อแบ่งตามภารกิจจะเป็นการให้บำเหน็จกรณีพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรงไม่เกิน 9,205 อัตรา (ร้อยละ 2.5 ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานฯ ทั้งหมด 365,208  อัตรา) และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่เกิน 3,911  อัตรา (ร้อยละ 1.5 ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลฯ ทั้งหมด 260,719 อัตรา)

หากแบ่งตามพื้นที่จะแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดในระดับภูมิภาครวม 9,837 อัตรา ซึ่งแยกย่อยเป็นอีก 2 ส่วน ได้แก่

- เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน 31 จังหวัด 3,443 อัตรา

- เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตอนใน 6,394 อัตรา

  • กลุ่มที่ 2

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจากหน่วยงานส่วนกลาง  1,967 อัตรา

  • กลุ่มที่ 3

เจ้าหน้าที่ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นผู้พิจารณาจากทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สำนักงาน ป.ป.ส.และกรณีทุพพลภาพ 1,312 อัตรา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า บำเหน็จกรณีพิเศษ จะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ทุ่มเท และเสียสละในการปฏิบัติงานทั่วประเทศ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินการป้องกัน และแก้ไขยาเสพติด ตามภารกิจและภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ.2566-2570 (ประจำปีงบประมาณ 2566) ผ่าน 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกันยาเสพติด ปราบปรามยาเสพติด ยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด บำบัดรักษายาเสพติด ความร่วมมือระหว่างประเทศ และมาตรการบริหารจัดการ