กลยุทธ์“บิ๊กตู่”ถอยเพื่อรุก “ปิดเกม”โหวตเลือกนายกฯ

กลยุทธ์“บิ๊กตู่”ถอยเพื่อรุก  “ปิดเกม”โหวตเลือกนายกฯ

หาก "พล.อ.ประยุทธ์" ยังเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การใช้กลไกควบคุมสถานการณ์โหวตนายกฯ อาจไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้-เสีย ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หวนกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

การปลดล็อกตัวเองจากความขัดแย้งทั้งปวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยการประกาศวางมือทางการเมืองและลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ถอยออกมาเป็น “ผู้สังเกตการณ์”

ไม่ต่างกับ “ผบ.เหล่าทัพ” ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)โดยตำแหน่ง ที่ใช้ข้ออ้างติดภารกิจต่างประเทศ-ในประเทศ ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วยเหตุผล “วางตัวเป็นกลาง” และปล่อยให้ฝ่ายการเมืองดำเนินการไปตามขั้นตอน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์หลังจากนี้

เค้าลางความวุ่นวายเริ่มเห็นชัด หลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 ไม่ได้เป็นนายกฯ ตามเจตจำนงของประชาชนที่ “ด้อมส้ม” ประกาศไว้

ความไม่พอใจนี้ปะทุขึ้น ตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งของ “พิธา-พรรคก้าวไกล” เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

เงื่อนไขหนึ่งที่ ส.ส.พรรคขั้วตรงข้าม รวมถึง ส.ว.ใช้เป็นเหตุผลไม่ยกมือสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ ครอบคลุมไปถึงแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอันสองอย่าง “เพื่อไทย” หากไม่ยอมสลัดทิ้งพรรคก้าวไกลออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

รวมถึงปมถือหุ้น itv ของ “พิธา” ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ชงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) และเห็นควรสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.หรือไม่

เป็นการกระตุ้นให้ “ด้อมส้ม” นัดรวมตัวกันตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ หวังส่งสัญญาณไปยังสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. ให้ทำหน้าที่ยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ด้วยการโหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ แต่ก็ไม่เป็นผล จนเป็นที่มาของการยกระดับการชุมนุม

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผ่านวิกฤติการเมืองหลายยุค หลายสมัย และไม่เคยเห็นม็อบใดจะชุมนุมด้วยความสงบ และประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบสนองตามข้อเรียกร้องจากรัฐบาล นอกจากยกระดับมาใช้ความรุนแรง สร้างความปั่นป่วนเพื่อเป็นข้อต่อรอง

การชุมนุมของ “ด้อมส้ม” ที่เพิ่งก่อตัวในเวลานี้ ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ และอยู่ในกรอบอำนาจของตำรวจสามารถรับมือได้ เว้นแต่กรณีหันมาใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมาย ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อสถานที่ราชการ หรือความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน


และหากมาตรการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจไม่สามารถระงับยับยั้งความวุ่นวายที่เกิดขึ้นได้ สเต็ปต่อไป คือ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการ สามารถดำเนินการได้ทันที โดยผ่าน ครม. และส่งเรื่องขออนุญาต กกต. พิจารณา และมีแนวโน้มจะอนุมัติ เพราะเป็นเรื่องส่วนร่วม ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง

ทั้งหมดนี้เป็นการประเมิน และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ และมองว่าหากตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การใช้กลไกต่างๆเข้าควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อยอาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้-เสีย ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หวนกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

หรือหากจำเป็นต้องใช้กำลังทหารมาเสริมทัพ จนถึงเข้าควบคุมสถานการณ์แทนตำรวจ ก็ไม่พ้นข้อครหาการทำรัฐประหาร ไม่ต่างกับที่แล้วมา อาจได้รับการต่อต้านจากประชาชน จึงตัดสินใจเลือกถอยฉาก หวังเป็นหลักให้บ้านเมืองในช่วงเกิดความขัดแย้ง

“หลักประชาธิปไตยที่แท้จริง คือการดูแลประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่ มิใช่ประชาชนเป็นใหญ่ หรือเสียงประชาชนเป็นใหญ่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ประเทศจึงต้องมีหลัก เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั้งหมดจึงต้องมีกฎกติกา ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นกฎหมู่ ” คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ดังนั้นการถอยฉากจากการเมือง ของพล.อ.ประยุทธ์ หวังเป็นหลักดูแลความสงบเรียบร้อย สร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อฝ่ายการเมือง ในการใช้กลไกรัฐสภา ดำเนินการโหวตเลือก นายกฯ จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศจนสำเร็จ

ทว่าฝ่ายตรงข้ามอาจมองท่าทีนี้ต่างไป เพราะการถอยฉากของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นกลยุทธ์การปิดเกมโหวตเลือกนายกฯก้าวไกล ที่ลอยตัวเหนือความขัดแย้งแย่งชิงของนักการเมือง