ส่องขุมกำลัง 'สภาสูง' ปิดเกม 'พิธา' หรือป้อมค่ายแตก

ส่องขุมกำลัง 'สภาสูง' ปิดเกม 'พิธา' หรือป้อมค่ายแตก

ตรวจแถวสภาสูง สว.สาย ‘ความมั่นคง’ เหนียวแน่นหรือเปื่อยยุ่ย สายฮาร์ดคอร์ชูแคมเปญ่ ‘มีก้าวไกล ไม่มี ส.ว.’ ฝั่ง ‘พิธา’ ขอเช็คเสียง สว.ยกแรก ปรับเกมสู้ยกสอง

โค้งสุดท้าย ก่อนโหวตเลือกนายกฯ ‘พิธา’ เดินสายขอบคุณประชาชนถี่ยิบ เน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปลุกด้อมส้ม ดับเครื่องชน ส.ว.สาย 2 ลุง

ใกล้วันดีเดย์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค.2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายขอบคุณประชาชนทุกวัน ไล่มาตั้งแต่โคราช ,สุพรรณบุรี, กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนนทบุรี

สามวันสุดท้ายก่อนวันโหวตนายกฯ พิธาให้ความสำคัญกับจังหวัดในปริมณฑลกรุงเทพฯ เพราะการเคลื่อนตัวของมวลชนเข้าสู่เมืองหลวง มีความสะดวกสบาย 

สัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ส่งสัญญาณชัดว่า ถอยแล้ว โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ว่า “วันนี้ผมขอพูดแล้วกัน ผมจำเป็นต้องถอยห่างออกจากการเมือง..”

สอดรับกับแหล่งข่าวในสภาสูง เปิดเผยว่า สมาชิกวุฒิสภา อดีตนายทหาร ตท.รุ่น 12 ได้แจ้งข่าวในกลุ่ม ส.ว.สายความมั่นคง ให้ทราบถึงการถอยห่างออกจากการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์

ภารกิจของ ส.ว.สายความมั่นคงในเวลานี้คือ หยุดก้าวไกลให้ได้ โดยประเมินว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีอยู่ 312 เสียง ยังขาดเสียงสมาชิกรัฐสภาอีก 65 เสียง จึงจะถึงเกณฑ์ 376 เสียง จึงต้องคุมเสียง ส.ว.ไว้ไม่ให้ไปเติมฝั่งก้าวไกลจนมากเกินไป

วงใน ส.ว.กลุ่มเพื่อนประยุทธ์ ได้ตั้งวงถกเตรียมรับมือกรณี พิธา และพรรคก้าวไกล และได้ข้อสรุปว่า อุดมการณ์และแนวทางหลักพรรคก้าวไกลเป็น “ภัยความมั่นคง” 

ฟากพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ประสานเสียงให้ความมั่นใจกับสื่อทุกสำนักว่า โหวตครั้งเดียวผ่านแน่นอน 

มีข้อสังเกตว่า หากแกนนำพรรคสีส้มมั่นใจว่า ม้วนเดียวจบ แต่ทำไม จึงวางโปรแกรมขอบคุณประชาชนถี่เหลือเกิน เฉพาะ 3-4 วันก่อนวันโหวต พิธา นัดพบด้อมส้มในเมืองหลวง และปริมณ ฑลทุกเย็น แสดงว่า ก้าวไกลต้องการโชว์พลังมวลชน กดดัน ส.ว.ให้เปลี่ยนใจ
 

ขอน็อคยกแรก

ตัวเลข 65 เสียงที่พรรคก้าวไกลต้องการมาเติมเต็ม 312 เสียงนั้น จะมาจากฝั่ง ส.ว.250 คน เป็นหลัก เนื่องจากก้าวไกล ไม่ประสงค์จะดึงขั้ว 188 เสียง หรือขั้วรัฐบาลเดิมมาเสริม

แกนนำพรรคสีส้ม จึงขอเล่นกับตัวเลข ‘งดออกเสียง’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ จากฝั่งสภาสูง ถ้ามีเสียงงดออกเสียงหรือไม่เห็นชอบจำนวนมาก สะท้อนว่า ฝ่ายระบอบลุง ยังคุม ส.ว.ได้ ก็ต้องคิดอ่านกันใหม่

พูดง่ายๆ ในตัวเลขที่ต้องการ 65 เสียง ขาดไป 40-50 เสียง ถือว่า พิธาไปต่อยาก และจะมีแรงกดดันมาจากฝั่งพรรคเพื่อไทย ทำนองว่าขอให้ก้าวไกลถอย

ตรงกันข้าม หากคะแนนที่ต้องการขาดเพียง 10-20 เสียง ตัวเลขนี้ จะทำให้พรรคก้าวไกล ได้ลุ้นในวันโหวตยกสองคือ 19 ก.ค.นี้ ขึ้นมาทันที

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา จึงให้สัมภาษณ์ดักคอว่า เห็นควรประเมินจากผลการโหวตของรัฐสภา ถ้าคะแนนออกมาใกล้เคียงเกณฑ์ 376 คิดว่า อาจพิจารณาให้โหวตครั้งที่ 2 แต่ถ้ายังห่างอยู่อีก 30-40 เสียง ก็ควรเปลี่ยนคนใหม่ ไม่ใช่พิธาแล้ว

แหล่งข่าวในสภาสูงเปิดเผยว่า แกนนำ สว.สายความมั่นคง ได้ประชุมปรึกษาหารือกันและเห็นว่า ถ้าเอา 65 เสียงเป็นตัวตั้ง ผลโหวตออกมาแล้ว พิธายังขาดอยู่เยอะ ก็จะชิงเล่นแท็กติกในสภา และเปิดทางให้เพื่อไทยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นมาแทนพิธาทันที


เช็คชื่อกลุ่มเห็นชอบ

แม้แกนนำพรรคก้าวไกล จะยืนยันว่า ได้เสียง ส.ว.เพียงพอแล้ว และโหวตครั้งเดียวผ่าน แต่ก็ไม่เคยบอกตัวเลขจำนวน ส.ว. ที่จะยกมือโหวตให้พิธา

จากการประมวลรายชื่อ ส.ว.ที่ได้แสดงตัวตนผ่านสื่อว่า จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 มีจำนวน 17 คน ประกอบด้วย

1.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

2.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

3.วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

4.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 

5.ทรงเดช เสมอคํา อดีตประธานฝ่ายเทคนิคสโมสรฟุตบอลสุโขทัย เอฟซี

6.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ลูกชาย อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี 

7.ภัทรา วรามิตร อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทย ปี 2544 และให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562,2566

8.วันชัย สอนศิริ ทนายความ และอดีตเลขาธิการสภาทนายความฯ

9.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.

10.ประมาณ สว่างญาติ เกษตรกรและประธานศูนย์ปราชญ์เกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

11.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน และผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด

12.ประภาศรี สุฉันทบุตร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดยโสธร

13.ประยูร เหล่าสายเชื้อ อดีต ส.ว.ยโสธร ปี 2557 

14.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

15.พีระศักดิ์ พอจิต อดีต ส.ว.อุตรดิตถ์ และลูกชาย ลงสมัคร ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

16.ทัศนา ยุวานนท์ แม่ยายวิเชียร จันทรโณทัย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

17.มณเฑียร บุญตัน เลขาธิการมูลนิธิของคนตาบอดไทย

สัปดาห์ที่แล้ว มี ส.ว.บางคน เคยให้ประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา เป็นนายกฯ แต่เปลี่ยนใจไม่สนับสนุนพิธาแล้ว เพราะปมแก้ไข ม.112 เช่น เฉลิมชัย เฟื่องคอน และ ออน กาจกระโทก

ขณะเดียวกัน ส.ว.ที่เคยเปิดตัวหนุนพิธาทั้ง 17 คน มีเพียง 8 คน ที่ออกมาย้ำอีกครั้งว่า จะยกมือหนุนพิธา อาทิเช่น ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ,วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ,อำพล จินดาวัฒนะ ,ทรงเดช เสมอคํา ,วันชัย สอนศิริ, ประภาศรี สุฉันทบุตร ,ประยูร เหล่าสายเชื้อ และพีระศักดิ์ พอจิต

ส่วนคนอื่นๆ กลับเงียบเฉย ทำให้นึกถึงคำพูดของ สว.ออน กาจกระโทก ที่พูดว่า มี ส.ว.หลายคนที่เปิดตัวหนุนพิธาไปแล้ว กำลังชั่งใจว่า จะหันมางดออกเสียงดีหรือไม่


ขุมกำลังประยุทธ์

แหล่งข่าวในกลุ่ม ส.ว.เปิดเผยว่า คีย์แมนสำคัญในฝั่งสภาสูงคือ ส.ว.เพื่อนประยุทธ์ ซึ่งกุมเสียง ส.ว.อยู่ในมือ ไม่ต่ำกว่า 100 เสียง

เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา และเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงหลักคิดของ ส.ว.ที่จะโหวตเลือกนายกฯคือ 1.จะโหวตเลือกคนดี คนเก่ง 2.บุคคลนั้นทำอะไร คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ บ้านเมือง ผลประโยชน์ประชาชน เป็นหลักหรือไม่ 3.ต้องเป็นคนที่ยึดมั่นในหลัก ทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ว่ากันว่า ส.ว.ในกลุ่มเพื่อนประยุทธ์ประเมินว่า พิธา จะตกสวรรค์ ผ่านด่าน ส.ว.ไม่สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องหุ้นไอทีวี แต่จะเป็นปมแก้ไข ม.112 และแนวคิดซ้ายสุดโต่งของแกนนำพรรคบางกลุ่ม

สำหรับ ส.ว.เพื่อนประยุทธ์ หรือ ตท.รุ่น 12 ในสภาสูง มีอยู่ 28 คน เสียชีวิตไปแล้ว 1 คน เหลือ 27 คน ได้แก่ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร, พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ, พล.อ.โปฎก บุนนาค พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ฯลฯ

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นแกนหลักของรุ่นในสภาสูง และเป็นผู้กุมทิศทางในการโหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค.นี้ 


ขั้วบ้านป่ารอยต่อ

อีกขุมกำลังหนึ่งของ ส.ว.คือ กลุ่มบ้านป่ารอยต่อฯ มีทั้งที่เป็นเพื่อนนายทหารรุ่น ตท.6 ,ข้าราชการ และคหบดีที่มีชื่อเสียง มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 60 คน

แกนหลักของกลุ่มนี้คือ พล.อ.นพดล อินทปัญญา, พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย และพล.อ.อู้ด เบื้องบน นอกจากนี้ ยังมี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร ที่มีบทบาทเชื่อมประสานกับ ส.ว.อีกหลายกลุ่ม 

ในกลุ่ม 50 ส.ว.สายสรรหา ที่เป็นอดีตข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะอยู่ในปีกบ้านป่ารอยต่ออย่างไพฑูรย์ หลิมวัฒนา อดีตนายกเทศมนตรีเมืองละแม อ.ละแม จ.ชุมพร อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 

ที่ผ่านมา ส.ว.สรรหา 50 คน ตกเป็นเป้าหมายในการช่วงชิงให้มาโหวต พิธา เพราะคนเหล่านี้ มีความใกล้ชิด ส.ส.สายขั้วรัฐบาลเดิม

ดังที่ทราบกัน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ทั้งสิ้น 250 คน มีที่มาของ 3 ส่วน โดยมี 50 คน มาจากคัดเลือกกันเอง โดย กกต. จัดรับสมัครบุคคลจาก 10 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศ แล้วเลือกกันเองจนเหลือ 200 คน จากนั้น คสช. เลือกในขั้นตอนสุดท้ายเหลือ 50 คน

สุดท้าย ผู้ที่เคาะให้ผ่านเป็น ส.ว. ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฉะนั้น บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.สรรหา จึงมีคอนเนกชั่นกับนักการเมืองในเครือข่าย 3 ป.

ยกเว้นบางรายที่มองข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้ง ส.ว.สมัยต่อไป หรือการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) จึงตัดสินใจสวิงทิ้งฝั่ง 2 ป.ไปหนุนพิธา ดังที่เป็นข่าวไปแล้ว