13 ก.ค. ด้อมส้ม แคมเปญ Respect my vote ลุ้นโหวต”พิธา” ไม่ผ่านส่อเค้าม็อบใหญ่

13 ก.ค. ด้อมส้ม แคมเปญ Respect my vote ลุ้นโหวต”พิธา” ไม่ผ่านส่อเค้าม็อบใหญ่

13 ก.ค. ด้อมส้ม แคมเปญ Respect my vote หลายกลุ่มรวมตัวลุ้นโหวต”พิธา”นอกสภา-ในสภา หากไม่ผ่านส่อเค้าม็อบใหญ่ "มายด์" ลั่น เราเตือนแล้ว

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ให้สัมภาษณ์ผ่าน voice tv ถึงแนวแนวทางการเคลื่อนไหวในวันโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.ว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้ส.ว.โหวตแคนดิเดตนายกฯที่มาจากพรรคร่วมเดิมที่ตกลงกันไว้แล้ว ให้ได้เป็น นายกฯ  ดังนั้น ส.ว. ไม่มีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจเป็นของตัวเอง ที่จะโหวตให้ใครเป็นนายกฯ เพราะไม่มีความชอบธรรมมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว  ซึ่งหน้าที่ของ ส.ว.จะต้องทำตามเจตจำนงค์ ของประชาชน แต่หากมาใช้จำนงค์ตามใจที่ตัวเองคิดถือว่าไม่ถูกต้อง 
แต่ยอมรับว่า คาดเดาได้ยากมากว่าการโหวตเลือกนายกฯในวันที่ 13 ก.ค.นี้จะออกมาเป็นเช่นไร เพราะส.ว.เองก็พร้อมที่จะกลับลำอยู่เสมอ และไม่แน่ใจว่าหากเป็นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส.ว. จะมีจุดยืนเหมือนเช่นกับพรรคก้าวไกลหรือไม่

ส่วนกรณี ส.ว.นำประเด็นแก้ไข ม.112 มาเป็นเงื่อนไขนั้น มองว่า คนกลุ่มเดียวที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกล จะต้องแสดงจุดยืนในเรื่องของ ม.112 มีเพียงประชาชนเท่านั้น ในส่วนของ ส.ว.คิดว่าต้องกลับมาตั้งหลักว่าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ ในขณะนี้ควรยึดถือหลักการใด และหลักการใดควรปล่อยทิ้ง ซึ่งเข้าใจว่า อาจมีข้อสงสัยหรือข้อคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หรือการปฏิรูปอื่นๆ แต่ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะให้ส.ว.มาใช้ในการตัดสินใจเป็นของตัวเอง ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกใคร ซึ่งเข้าใจว่าส.ว.แต่ละคนอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นม.112 แต่ด้วยหน้าที่ของ ส.ว. ก็ไม่สามารถที่จะใช้ข้อขัดแย้งหรือข้อคิดเห็นในกรณีมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการโหวตหรือไม่โหวตเลือกนายกฯ แต่ควรใช้กลไกทางรัฐสภาในการแสดงความคิดเห็น จะเป็นทางออกที่ดีกว่า

ซึ่งส.ว.ก็มีที่มาด้วยไม่ชอบทำแล้วและวันนี้ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องออกมาผลักดัน ว่าวันนี้ประชาชนเลือกมาแล้วและอำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ชอบธรรมและไม่สมเหตุสมผลกับหลักการทางประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ก็ได้แต่ย้ำเตือน ส.ว.ว่าอย่าเป็นส่วนหนึ่งสร้างความขัดแย้งทางประชาธิปไตยและขัดขวาง ประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย เราทำได้เพียงการบอกและเตือน ส.ว.ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่ประชาชนสามารถทำได้

"อยากให้ ส.ว.ย้อนไปดูการตื่นตัวของประชาชนในปี 2563 อย่ามองข้าม หากเราบอกและเตือนแล้ว แต่ ส.ว.เลือกที่จะขัดขวาง หรือทำให้ข้อขัดแย้งอะไรเกิดขึ้น ทำให้ไม่ราบรื่น ประชาชนคงทำได้มากกว่าการแค่บอกหรือเตือนอยู่ดี"

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ส่วนการเคลื่อนไหวในวันที่ 13 ก.ค.นั้น ค่อนข้างจะมีความหลากหลาย ในความคิดเห็นว่าจะไปกันหรือไม่ แต่จากการตื่นตัวก็มีกลุ่มก้อนการเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มของตนแค่กลุ่มเดียว และภายใต้แคมเปญร่วม respect my vote ยังมีแคมเปญอื่นๆที่เปิดพื้นที่ให้กับประชาชนได้ส่งเสียงด้วย เพราะฉะนั้นกิจกรรมในวันที่ 13 กรกฎาคมอาจจะเกิดขึ้นจากหลายๆกลุ่มก็ได้ และทุกคนต่างติดแฮชแท็ก respect my vote
เพื่อที่จะบอกว่าเรามีเอกภาพอยู่พอสมควรเพื่อที่จะไปส่งเสียงบอก ส.ว. ในขณะที่กลุ่มไอลอว์ ได้ประสานกับรัฐสภา เพื่อนำคนกลุ่มหนึ่ง ไปนั่งร่วมดูการโหวตเลือกนายกฯ 

เมื่อถามว่า หากโหวตเลือกนายกฯ นายพิธา ไม่ผ่านในรอบแรก รอบที่ 2 ทางกลุ่มจะเคลื่อนไหวอย่างไร น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า หากไม่ผ่านเพราะ ส.ว.คงมีการขยับต่อไป ส่วนที่เกรงว่าจะมีการกระทบกระทั่งเจ้าหน้าที่เหมือนปี 2563 เพราะมีผู้มาร่วมกิจกรรมหลายกลุ่มนั้น ขณะนี้เราต้องการสื่อสารด้วยวิธีละมุมละม่อม หาก ส.ว. ไม่เคารพหลักการประชาธิปไตย อำนาจของประชาชน และคิดว่าการขยับต่อไปคงไม่ใช่มีแค่พวกตนที่จะทำ มองว่ามีความเป็นไปได้ ที่คนกรุงเทพฯจะออกมา เหมือนกับตอนพฤษภาทมิฬ เรียกว่า ม็อบมือถือ เพราะคนกรุงเทพฯก็เลือกพรรคก้าวไกลจำนวนมาก เชื่อว่าม็อบจะจุดติดแน่นอน และจะมีจำนวนมากกว่าปี 2563 ปี 2564 

ส่วนที่ ส.ว.จะใช้เทกติก ไม่เข้าประชุมสภาโดยอ้างว่ามีม็อบมากดดันนั้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เรายังไม่ประกาศกิจกรรมบริเวณหน้ารัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค.  แล้วทุกวันนี้เรามีแนวร่วมทางประชาธิปไตยเป็นจำนวนมากและมีความพร้อมมากพอที่จะส่งเสียงออกมา ซึ่งยิ่ง ส.ว. พยายามเล่นเกมมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน ซึ่งบางครั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหวอาจจะไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ แต่ ส.ว.จะเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการลุกฮือของพี่น้องประชาชนเองหรือไม่

" อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วยว่าประชาชนรู้สึกว่าถูกริดรอนอำนาจไปมากน้อยแค่ไหนและจำเป็นต้องออกมาทำอะไร และขึ้นอยู่กับความพร้อมของประชาชนว่ามีความพร้อมแค่ไหนที่จะออกมาเคลื่อนไหวในระดับใด ซึ่งการมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นในทางออนไลน์ก็ทำให้เราได้เห็น ว่ามีคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน ว่ามีจำนวนประมาณไหนก็จะประเมินสถานการณ์ได้ และมั่นใจไม่ได้อยู่ในบนโลกออนไลน์ เราลงพื้นที่และทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะเอาอย่างไรกับ ส.ว. เพราะรู้ว่ามีคนกลุ่มไหนที่พยายามขัดขวาง ไม่ให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลประชาชน"

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลถอยเรื่องมาตรา 112 ผู้ชุมนุมจะรับได้หรือไม่ เพื่อให้เดินหน้าได้ น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ถ้าพรรคก้าวไกลจำเป็นต้องยืนยัน ว่าจะทำอะไรเหมือน ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นเป็นการทรยศประชาชน และถ้าประชาชนส่งเสียงให้ถึงทั้ง ส.ว.และ ส.ส. ซึ่งเราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกพรรคที่จะเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล แต่เมื่อได้รับเลือกเข้าไปแล้ว ควรที่จะโหวตตามมติที่ประชาชนเลือกมาแล้ว ส.ส.ของพรรคอื่นที่ไม่ใช่ใน 8 พรรคร่วมก็ควรจะโหวตตามด้วยเช่นเดียวกัน ก็ต้องพิทักษ์เสียงของประชาชนเพื่อไม่ให้อำนาจของส.ว.เข้ามาแทรกแซงหรือขัดขวางในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

" สำหรับประเด็นมาตรา 112 พรรคก้าวไกลก็ควรจะแสดงจุดยืนเหมือนเดิมเหมือนกับตอนที่หาเสียงเข้ามาซึ่งควรจะไปตั้งคำถามกับ ส.ว. มากกว่าทำไมถึงเลือกเงื่อนไขนี้ ซึ่งพรรคก้าวไกลต้องแข็งกับเรื่องนี้"

เมื่อถามว่า การได้เป็นรัฐบาล แต่ต้องถอยเรื่องม.112 ควรจะแลกหรือไม่ น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า  ถอย หรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องคิดก็ได้ รัฐบาลมีวาระถึง 4 ปี สามารถดูสถานการณ์บริบทของสังคมได้ อยากให้ยืนยันหลักการไว้อย่าไปหลงเกมของ ส.ว. ที่พยายามสร้างเงื่อนไขว่าถอยเรื่องนี้จะเห็นด้วยกับเรื่องนั้น