เจาะฐานทัพ ทร. ตั้ง 2 กองพัน วางยุทธศาสตร์ป้องกันภูเก็ต

เจาะฐานทัพ ทร. ตั้ง 2 กองพัน วางยุทธศาสตร์ป้องกันภูเก็ต

จัดตั้ง พัน.สอ.22-พัน.สห.ทร.ที่ 4 ในอนาคตจะเป็นศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ 3 จะอุดจุดโหว่ ปิดรอยรั่ว จ.ภูเก็ต ป้องกัน การก่อความไม่สงบทั้งภายในและ ภายนอกประเทศ รวมถึงการก่อวินาศกรรม

“กองทัพเรือภาคที่ 3” ยอมรับว่า หลังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การเดินหน้าเร่งจัดตั้งหน่วยกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22( พัน.สอ.22) กองพันสารวัตรทหารเรือที่ 4 (พัน.สห.ทร.ที่ 4) ซึ่งในอนาคตจะเป็นศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ 3 ป้องกันภัยทางอากาศเต็มรูปแบบ บนพื้นที่ 3,700ไร่ สวนป่าบางขนุน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีอุปสรรคมากขึ้น

หลัง ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ส.ส.ภูเก็ต เขต 3 พรรคก้าวไกล ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ พร้อมยื่นเงื่อนไข ให้กองทัพเรือภาคที่ 3หยุดการดำเนินการ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และพิสูจน์สิทธิพื้นที่ประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ พร้อมทำประชาพิจารณ์ต้องการให้มีฐานทัพเรือมาตั้งหรือไม่ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ที่ผ่านมา พล.ร.ท.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 (ผบ.ทรภ.3) ได้เชิญ ส.ส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย เฉลิมพงศ์ แสงดี เขต 2 ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล เขต 3 แกนนำเอ็นจีโอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สวนป่าบางขนุน ชี้จุดก่อสร้าง พัน.สอ.22 และ พัน.สห.ทร.ที่ 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และป่าต้นน้ำถูกชาวบ้านบุกรุกสร้างความเสียหาย

แต่ล่าสุด นายฐิติกันต์ ยังยืนยันจุดยืนเดิมว่า หลังสภาเปิดจะผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในสภา เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่สวนป่าบางขนุนอยู่ก่อน แม้กองทัพเรือภาคที่3 จะยืนยันว่าได้ขอใช้พื้นที่ถูกต้องตามขั้นตอนและไม่มีการระบุว่าต้องทำประชาพิจารณ์สอบถามคนในพื้นที่ก็ตาม

“ผมมองว่าการทำประชาพิจารณ์สอบถามถึงความต้องการให้มีฐานทัพเรือมาตั้งในพื้นที่หรือไม่ เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ประชาชน หน่วยราชการ อยู่ร่วมกันอย่างไม่มีปัญหาในอนาคต และในช่วงลงพื้นที่ผมได้แจ้งกับ ผบ.ทรภ.3 ไปแล้วว่าจะผลักดันเรื่องในนี้เข้าสภาแน่นอน”

ทั้งนี้ การจัดตั้ง พัน.สอ.22 และ พัน.สห.ทร.ที่ 4 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพไทย โดยมอบหมายให้ กองทัพเรือภาคที่3 รับผิดชอบพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่ จังหวัดระนองไปจนถึงจังหวัดสตูล ซึ่งพบว่า จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของภาคใต้

อีกทั้งยังมีท่าเรือสำคัญหลายจุด และเป็นจังหวัดเดียวที่มีสนามบิน แต่ไร้หน่วยต่อสู่อากาศยานต่อต้านภัยทางอากาศ เป้าหมายการก่อการร้าย วินาศกรรม และการก่อความไม่สงบ เช่นในปี 2559 เคยถูกลอบวางระเบิดบริเวณตลาดพาราไดซ์ ตลาดไชน่าทาวน์ สวนสาธารณะโลมา ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสันป่าตอง จ.ภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ โดยผู้ก่อเหตุเป็นคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้




ขณะที่ หน่วยงานความมั่นคง ได้ประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน หลังการเปิดตัว “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” องค์กรที่รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง ตามความเชื่อในการมีอยู่ของชาติปาตานี ด้วยการทำแบบจำลองประชามติแบ่งแยกดินแดนเป็นเอกราชโดยไม่ผิดกฎหมาย มีทั้งนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและเครือข่ายนักศึกษาเข้าร่วม

สัญญาณชี้ชัด ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้กำลังลุกลามออกนอกพื้นที่ หวังยกระดับการต่อสู้สู่เวทีการเมืองระดับประเทศ และแน่นอนว่า การต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้อง จะตามมาด้วยการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วน ปักหมุดพื้นที่ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ท่าเรือ สนามบิน และหัวเมืองหลักเป็นสถานที่สำคัญ และมีโอกาสรุกคืบมาถึง จ.ภูเก็ต

พล.ร.ท.อาภากร ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์ ของกองทัพไทย และกองทัพเรือได้รับมอบความรับผิดชอบ ทางฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของกองทัพเรืออยู่แล้ว ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และทุกสนามบินในประเทศไทย มีหน่วยต่อสู้อากาศยานต่อต้านภัยทางอากาศ ยกเว้น สนามบินภูเก็ตซึ่งปัจจุบันยังไม่มี ซึ่งกองทัพเรือ มีแผนดำเนินการมานานแล้ว และเริ่มสำรวจสวนป่าบางขนุน ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินภูเก็ต ดำเนินการขออนุญาตจากกรมป่าไม้

พล.ร.ท.อาภากร ย้ำว่า ภัยคุกคามที่ประเมินไว้ ซึ่งในปัจจุบันในภาวะที่ประเทศยังปกติ กำลังทหารเองที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบการปกป้องอธิปไตยจะต้องมีการดำเนินการ ตามภารกิจ ที่ได้รับผิดชอบ ซึ่งภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นไปได้ว่าในอนาคต หากมีภัยที่เข้ามาทางฝั่งทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันในโลกของเรามีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงในระดับภูมิภาค

ดังนั้น การจะทำให้ประเทศมั่นคงอยู่ได้ทาง ฝ่ายทหารต้องมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ภาวะปกติ รวมถึงสภาวะการโจมตีในยามประเทศมีความขัดแย้ง

"นอกจากนี้อาจจะมีเรื่องการก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ใดในโลกนี้ ไม่เว้นประเทศไทย ซึ่งต้องพิจารณาที่เงื่อนไข ว่าอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การก่อการร้าย ซึ่ง กำลังทหารที่ดูแลด้านความมั่นคงต้องมีการเตรียมการรองรับเรื่องดังกล่าว ซึ่งหาก สามารถจัดตั้ง 2 กองพันนี้ได้ ในอนาคตจะเป็นศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ 3 จะอุดจุดโหว่ ปิดรอยรั่ว จ.ภูเก็ต ป้องกัน การก่อความไม่สงบทั้งภายในและ ภายนอกประเทศ รวมถึงการก่อวินาศกรรม " พล.ร.ท.อาภากร กล่าวและว่า

ในขณะเดียวกัน กองทัพเรือภาคที่ 3 ยังต้องปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม โรคระบาด โดย จ.ภูเก็ต เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทัพเรือภาคที่3 ที่มีกำลังไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาจึงต้องสั่งระดมมาจากฐานทัพเรือพังงา ก็ประสบปัญหาไม่มีที่อยู่ที่อาศัยให้กับกำลังพลดังกล่าว

พล.ร.ท.อาภากร ระบุอีกว่า ปัจจุบัน การดำเนินการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือเป็นการตั้งงบประมาณ จัดสร้างกองบังคับการกองพัน รวมถึงอาคารอื่นตามความจำเป็น ทุกอย่างเป็นไปตามงบประมาณ ที่กองทัพเรือจะต้องเสนอไปยังกองทัพไทย ผ่านไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อขออนุมัติจากรัฐบาล ตามขบวนการต่อไป

จากนี้คงต้องจับตาการจัดตั้ง 2 กองพัน ของ กองทัพเรือภาคที่ 3 ตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพไทย สามารถเดินหน้าได้อย่างราบรื่นหรือต้องสะดุดเพราะปัจจัยการเมือง และเสียงคัดค้านประชาชนบางส่วนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต