ปม "ผู้พิพากษา" เรียกเงิน พุทธะอิสระ ห่วงไม่ได้รับความเป็นธรรม คดีกบฏ กปปส.

ปม "ผู้พิพากษา" เรียกเงิน  พุทธะอิสระ ห่วงไม่ได้รับความเป็นธรรม คดีกบฏ กปปส.

"พุทธะอิสระ" ร้อง ประธานศาลฎีกา ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์ พิจารณา "คดีกบฏ กปปส." ปม 2 ผู้พิพากษา เรียกเงิน 175 ล้าน ช่วยหลุดคดี หวั่น ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากขบวนการพิจารณาคดี

30 มิ.ย. 2566  อดีตพุทธะอิสระ หรือนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแนบหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ถึงประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ

 เรื่อง ขอได้โปรดพิจารณามอบหมายที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์ให้เป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษา (คดีกบฏ กปปส.) คดีอาญาหมายเลขดำ อ.247/2561 หมายเลขแดงที่ อ.317/2564 สิ่งที่ส่งมาด้วย ภาพข่าวของสำนักข่าวอิศราออนไลน์ เรื่องแกนนำ กปปส. ร้อง อ้าง “2 ผู้พิพากษา” เรียก 175 ล้าน ช่วยหลุดคดี-ปธ.ศาลฎีกาตั้งสอบข้อเท็จจริงแล้ว เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566

โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้า พุทธะอิสระ หรือสุวิทย์ ทองประเสริฐ จำเลยที่ 16 ในคดีคดีอาญาหมายเลขดำ อ.247/2561 หมายเลขแดงที่ อ.317/2564 ของศาลอาญา ข้าพเจ้ามีความวิตกกังวลเป็นทุกข์เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากข่าวดังกล่าวข้างต้น เพราะหากมีการให้หรือสัญญาว่าจะให้หรือยอมจะรับสินบนหรือผลประโยชน์ตามข่าวเป็นเงินจำนวนมากถึง 175 ล้านบาทจริง เพื่อแลกกับการที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในทางที่เป็นคุณหรืออดโทษแก่จำเลย ข่าวดังกล่าวข้างต้นส่งผลกระทบเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมและการอำนวยความยุติธรรมของศาลสถิตยุติธรรม อาจทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในการพิจารณาวินิจฉัยและพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมว่า สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันได้โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงทางด้านกฎหมายให้เป็นคุณหรือโทษแก่จำเลยในคดีกบฏ กปปส. ดังข่าวที่ปรากฎข้างต้น”


 “ข้าพเจ้าจึงมีคำร้องนี้เรียนมาถึงประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โปรดพิจารณามอบหมายให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาและพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำ อ.247/2561 หมายเลขแดงที่ อ.317/2564 (คดีกบฏ กปปส.) นั้นด้วย การที่ข้าพเจ้าเขียนข้อความกรุณามานี้ ด้วยความวิตกกังวลว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากขบวนการพิจารณาคดี แต่ไม่กลัวที่จะได้รับโทษตามสมควรแก่กรรมอย่างยุติธรรม แม้จะต้องติดคุกตลอดชีวิตก็ตาม อีกทั้งยังต้องการให้การพิจารณาคดีของศาลปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากเหตุแห่งผลประโยชน์อื่นใด”