“เกมรุก”เพื่อไทย เคลียร์ทาง ดัน‘เศรษฐา’นายกฯ ก๊อก 2

“เกมรุก”เพื่อไทย เคลียร์ทาง ดัน‘เศรษฐา’นายกฯ ก๊อก 2

จับอาการ และย่างก้าวของแคนดิเดต “เศรษฐา ทวีสิน” แห่งพรรคเพื่อไทย ที่นั่งหัวโต๊ะประชุมเตรียมงานนโยบายภายใน และเดินสายพบปะประชาชน ภาคเอกชน ถี่ขึ้น กำลังซ้อนทับแคนดิเดตนายกฯ “พิธา” ที่กำลังเฟดลง  

เกือบ 2 เดือน ที่พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย เปิดดีลร่วมรัฐบาลกัน โดยมีเสียงประชาชนรวมกัน 25 ล้านคะแนนเทให้ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ขึ้นชั้น มาเป็นพรรคอันดับอันดับหนึ่ง และอันดับสอง ถือเป็นความไว้วางใจให้ทั้งสองพรรคเข้ามาบริหารประเทศ

โดยก่อนการเลือกตั้ง ก้าวไกล-เพื่อไทย หาเสียงอยู่“ขั้วประชาธิปไตย”ด้วยกัน  

ก้าวไกล แนวทางชัด “มีเรา ไม่มีลุง” ส่วนเพื่อไทยกลับถูกมองว่าแทงกั๊ก และมีข้อสงสัยเรื่อง “ดีลลับ ดีลลุง” ส่งผลให้แต้มการเมืองสวิงไปยังก้าวไกล 

หลังชัยชนะชัดเจน ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ถูกถ่ายโอนให้ก้าวไกลทันที แม้ใจจริง “คนเพื่อไทย” ไม่อยากร่วมรัฐบาลด้วย แต่ก็ต้องเล่นไปตามบท ไหลตามน้ำ เก็บทรงให้อยู่ ทั้งที่แสนเจ็บแค้นกับความพ่ายแพ้ให้ก้าวไกล

เมื่อไทม์ไลน์สภาฯ กระชั้นเข้ามา และเวลาในการเจรจาใกล้หมดลง ประเด็นต่อรองบนโต๊ะของทั้งสองฝ่าย กลับยังตกลงกันไม่ได้ในตำแหน่งประธานสภาฯ   

“เพื่อไทย” ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เบอร์ 2 ยังต้องการโควตา 14 รัฐมนตรี + 1 ประธานสภาฯ เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล 

“ก้าวไกล” เองก็ยืนกราน ถึงเหตุความจำเป็นที่ต้องยึดอำนาจประมุขนิติบัญญัติเอาไว้ให้ได้ เนื่องจาก ความจำเป็นต้องผลักดันกฎหมาย 45 ฉบับ รวมถึง ม.112 ที่ยอมถอย ไม่บรรจุลงในเอ็มโอยู 

การยื้อแย่ง อ้างเหตุผลของทั้งสองฝ่าย กำลังกลายเป็นรอยร้าวที่ขยายใหญ่ออกไปทุกที จนเริ่มยากที่จะประสาน 

จับอาการล่าสุด ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยมีท่าทีประนีประนอมมาตลอด กลับแข็งกร้าว ส่งสัญญาณชัดถึงความเหนื่อยหน่ายว่า ไม่ได้อยากร่วมงานกับอีกฝ่าย เมื่อถูกถามถึงการสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาล

"เราถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชน ผมพูดหลายครั้งแล้ว แม้เราอยากออกไป แต่เราออกไม่ได้ เน้นนะครับ แม้เราอยากออกไป ซึ่งเรามีสิทธิด้วย ที่จะออกไป แต่ว่ามันไม่ชอบธรรม เราถูกประชาชน 25 ล้านเสียง มัดเรากับก้าวไกลให้ติดกัน มันจะเหมือนพ่อแม่เรา เราเป็นลูก ถูกเขาจับคลุมถุงชนให้มาแต่งงานกัน เราไม่มีสิทธิปฏิเสธจริงๆ เพราะฉะนั้นเจตจำนงของประชาชน 25 ล้านคน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เราคำนึงถึงจุดนี้ในการเจรจา เมื่อก้าวไกลเขาไม่ให้ เราก็ต้องมาพิจารณาว่า เขาไม่ให้ เราก็ไม่ควรจะต้องรับ ใช่ไหมครับ” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โยนคำถามต่อสาธารณะ

การอธิบายครั้งนี้ของ “หมอชลน่าน” ถือเป็นสัญญาณชัด ที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของ ส.ส.ในพรรคจำนวนไม่น้อย ที่รุมซัดก้าวไกล ไม่อยากสังฆกรรมด้วย แต่ติดอยู่ที่ 25 ล้านเสียง ที่เทให้ “ขั้วประชาธิปไตย” จึงต้องถูกมัดรวมกันด้วยฉันทามติ  

หลังจากนี้ “เพื่อไทย” ต้องปรับเกมใหม่ ในเมื่อ“ก้าวไกล”ในฐานะแกนนำก็ไม่ยอมเสียเก้าอี้ประธานสภาฯ เพราะรู้ดีว่า อีกฝ่ายมีข้อได้เปรียบในแง่กระแสสังคมอย่างไร ซึ่งก็ได้เห็นปฏิบัติการข่าว ปล่อยชื่อ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ว่าที่แคนดิเดตประธานสภาฯของพรรคออกมา

เพื่อไทยเอง ก็อ่านเกมที่ “ก้าวไกล”ถนัด โดยเฉพาะการพิงด้อมส้ม และมติ 25 ล้านเสียงขั้วประชาธิปไตย ที่ใช้กระแสสังคมล้อมกรอบ  

จะว่าไปแล้ว เพื่อไทยเองก็เห็นทิศทางแล้วว่า โอกาสที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะฝ่าสารพัดด่าน ไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ยาก เพราะการเจรจาเพื่อฝ่าด่าน 250 ส.ว.ก็ไม่เป็นผล ล่าสุดอาจได้ไม่เกิน 10-20 เสียง จากที่ต้องการ 64 มาเติมให้ขั้ว 8 พรรค อีกทั้งยังมีแผลส่วนตัว เรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ที่ถูกร้อง โอกาส “ส้มหล่น” ใส่เพื่อไทยจึงเป็นไปได้สูง

ที่สำคัญโจทย์ทั้งของคนในพรรค และผู้มีบารมีนอกพรรคก็ส่งสัญญาณชัดว่า ต้องแยกเกมระหว่างชิงประธานสภาฯ และนายกฯ เพราะตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีความสำคัญกับเพื่อไทย ไม่น้อยไปกว่าก้าวไกล โดยเฉพาะด่านต่อไป การโหวต “แคนดิเดตนายกฯ” ก๊อก 2 และการคุมเกมสภา หากก้าวไกล ถอนตัวออกไปเป็นฝ่ายค้าน

ฉะนั้น การชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ จึงเป็นด่านแรก ที่เพื่อไทยจำเป็นต้องได้ชัยชนะในเกมนี้่ เพื่อปูทางไปสู่เกมต่อไป   

จับอาการ และย่างก้าวของแคนดิเดต “เศรษฐา ทวีสิน” แห่งพรรคเพื่อไทย ที่นั่งหัวโต๊ะประชุมเตรียมงานนโยบายภายใน และเดินสายพบปะประชาชน ภาคเอกชน ถี่ขึ้น กำลังซ้อนทับแคนดิเดตนายกฯ “พิธา” ที่กำลังเฟดลง