แนวรบ“นิติสงคราม”ก้าวไกล ส่อพ่ายเกม มิตรเทียม ศัตรูแท้

แนวรบ“นิติสงคราม”ก้าวไกล ส่อพ่ายเกม มิตรเทียม ศัตรูแท้

คนในปีกก้าวไกลรู้ดีว่าสถานการณ์ที่กำลังพบเจอ เรียกว่านิติสงครามที่ควบคุมอะไรไม่ได้นั่นเอง และรู้ทั้งรู้ว่าเป็นแนวรบสุดโหดที่กระหน่ำฝ่ายส้มอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเผชิญหน้าในเกมที่คนอื่นขีดไว้ให้แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

บันไดขึ้นสู่ตึกไทยคู่ฟ้า ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กับภารกิจคว้าดาว กุมอำนาจฝ่ายบริหาร นั่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 นับวันจะกลายเป็นด่านหิน ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขทั้งปวงที่เพิ่มขึ้นรายทาง

ประเด็นการถือหุ้น itv ที่ยังคาราคาซัง พันแข้งพันขาพิธา ตามที่ กกต. ตั้งแท่นเช็กบิล ขัด ม.151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โทษจำคุก 1-10 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

เฉพาะเรื่องหุ้น itv กำลังเร่งเร้าบรรดานักร้อง และ ส.ว. ออกมากดดัน กกต. ให้รีบสรุปเรื่องตรวจสอบ ด้วยการเสนอศาลวินิจฉัยต่อไป เพราะมีผลต่อการโหวตนายกฯ ในอีกไม่ช้า

นับเฉพาะเรื่องหุ้น itv เรื่องเดียว ก็มีแนวโน้มจะถูกขยายผลเปิดแผล พิธา ให้ลุกลามเหมือนไฟลามทุ่ง หากขาดคุณสมบัติการเซ็นรับรองสมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยหัวหน้าพิธาจะโมฆะหรือไม่ และยังมีอะไรที่อาจคาดไม่ถึงตามมาอีกมากมาย

จริงอยู่ว่า แนวทางการทำการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกลในปัจจุบันสร้างความสั่นสะเทือน เปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองไทยไปอย่างไม่มีวันกลับ ความมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยแบบใหม่ เป็นเรื่องท้าทายหลายชุดความคิดคนในสังคม

มุมหนึ่งก็เกิดแรงต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด แต่อีกมุมหนึ่งก็ได้เสียงรับที่ล้นหลาม สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ชนิดที่ก้าวไกลเองก็คงคิดไม่ถึงว่า จะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 จำนวน151 ที่นั่ง และกวาดคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตกว่า 14 ล้านเสียง

ทว่า แนวทางหรือนโยบายของก้าวไกลที่ล่อแหลม กลายเป็นดาบสองคม ที่พาให้พรรคประสบความสำเร็จ ชนะศึกเลือกตั้ง แต่อาจแพ้สงคราม ไปไม่ถึงอำนาจ เพราะการตั้งคำถามกับทุกอย่างที่ขวางหน้า หลายเรื่องนับว่าท้าทายข้อกฎหมายอย่างมาก โดยเฉพาะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำลังไล่หลังพิธา และก้าวไกล มาอย่างช้าๆ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการ ตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า อัยการสูงสุดได้พิจารณาคำร้องและตั้งคณะทำงานแล้ว และทางผู้ร้องยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเเล้ว เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนทางอัยการสูงสุดพอได้รับคำร้องมาก็ดำเนินการควบคู่ไป

กรณีคำร้องพิธาและก้าวไกล เรื่อง ม.112 จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองฉากต่อไปหรือไม่ เมื่อวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าเรื่องนี้ถือเป็นสารตั้งต้นให้มีคนมาร้องยุบพรรคต่อไป หากถูกตัดสินว่าผิดจริง

การพุ่งทะยานของก้าวไกล ยิ่งสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งสูงหนาวเท่านั้น เมื่อตั้งธงเล่นกับประเด็นล่อแหลมและหมิ่นเหม่ การพิงหลังโหวตเตอร์ หรือ ด้อมส้ม ใช้อารมณ์ความรู้สึกสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่อาศัยกฎหมายชี้ถูกชี้ผิด แค่คิดก็เห็นแล้วว่า จะเข้าทางใครมากกว่ากัน

คนในปีกก้าวไกลรู้ดีว่าสถานการณ์ที่กำลังพบเจอ เรียกว่านิติสงครามที่ควบคุมอะไรไม่ได้นั่นเอง และรู้ทั้งรู้ว่าเป็นแนวรบสุดโหดที่กระหน่ำฝ่ายส้มอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเผชิญหน้าในเกมที่คนอื่นขีดไว้ให้แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้