ผ่าอาณาจักร ‘ชัยเสรีกรุ๊ป’ ของ ‘มาดามรถถัง’ 26 ปีกวาดงานรัฐ-กองทัพ 5.7 พันล.

ผ่าอาณาจักร ‘ชัยเสรีกรุ๊ป’ ของ ‘มาดามรถถัง’ 26 ปีกวาดงานรัฐ-กองทัพ 5.7 พันล.

ผ่าอาณาจักร 1 ใน 9 เสือคู่ค้ากองทัพ ‘ชัยเสรีกรุ๊ป’ ของ ‘มาดามรถถัง’ นับย้อนแค่ 26 ปี กวาดงานรัฐ-กองทัพของไทย 411 โครงการ 5.7 พันล้านบาท ก่อนถูกเพจดัง CSILA แฉปมร้อน ‘นายพล ช.’ เรียกรับเงิน 15%

ชื่อของ ‘มาดามรถถัง’ กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง

พลันที่เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อดัง CSILA โพสต์ข้อความระบุว่า คนในกองทัพเรือรู้สึกไม่สบายใจที่มี นายพล ช. เรียกเงินจากบริษัท ชัยเสรีฯ ของมาดามรถถัง 15% และเรียกให้บริษัท Rv Connex ดูแลตอนไปเบอร์ลิน รวมทั้งบังคับให้แก้สัญญาอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จ โครงการใหญ่ในกองทัพเรือ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของพวกพ้องตัวเอง

สุดท้ายประชาชนผู้จ่ายภาษีต้องมาแบกรับ ค่ายุทโธปกรณ์ที่ถูกบังคับลดสเปคและแพงกว่าความเป็นจริง ตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมกองทัพถึงเน้นซื้อรถถังจากต่างประเทศ ทั้งๆที่ในประเทศมีสเปคดีกว่าและคาถูกกว่าหลายเท่า #ส่วนต่างนั้นหอมหวาน

ขณะที่ ‘นพรัตน์ กุลหิรัญ’ หรือ ‘มาดามรถถัง’ นักธุรกิจหญิงชาวไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ผลิตชิ้นส่วนและรถหุ้มเกราะ ให้แก่กองทัพไทยและกองทัพต่างประเทศ อยู่ระหว่างการพักฟื้นตัวหลังได้รับการผ่าตัด ระบุว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้  เพราะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ต้องเข้าใจว่าบริษัทชัยเสรีทำงานให้กับกองทัพมาตั้งแต่ พ.ศ 2511 ทำ เรื่องยุทโธปกรณ์อย่างเดียวของ 3 เหล่าทัพมาโดยตลอด อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ มาจากการส่งขายต่างประเทศมากกว่าภายในประเทศ หรือถ้ามีก็น้อยมากซึ่งของเราส่วนใหญ่เป็นงานซ่อม 

“บ.ชัยเสรี ขายให้กองทัพไทยมา 50 ปีแล้ว ซึ่งบริษัทของเราก็มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะของไทยเป็นของที่มีคุณภาพ เราก็อยากจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทยเยอะ ๆ สำหรับในส่วนของกองทัพเรือ บริษัท ชัยเสรีฯ ก็เคยรับซ่อมรถให้  ซึ่ง กองทัพเรือซื้อรถใหม่ ๆ บริษัทไทยเสรีไม่ได้เป็นเอเยนต์ไทย เราเป็นโรงงานที่ผลิตเอง ไม่ได้ผลิตอะไรเยอะแยะหรอก แต่ของที่ผลิตในประเทศและเราขายในประเทศในราคาที่ถูกมาก รถในแต่ละคันเราขายในราคา 10 กว่าล้านเอง อย่างรถหุ้มเกราะเราทำของใหม่ขาย ในราคา 15 ล้าน  เราพยายามทำของที่ดีที่สุดขายให้กับประเทศไทย เราก็อยากให้สนับสนุนซื้อ  เพราะทุกวันนี้ก็ขายได้น้อยมาก” มาดามรถถัง กล่าว
    
ประเด็นร้อนนี้ถูกโยนกลับไปยัง ‘กองทัพเรือ’ ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ถูกกล่าวอ้าง โดย พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวสั้น ๆ ว่า ยังไม่ทราบประเด็นดังกล่าว ขอไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

อ่านข่าว: ทร.ร้อนฉ่า เพจดัง ปูด นายพล ช. เรียกคอมมิชชั่น 15% "มาดามรถถัง"

เบื้องต้นข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงต้องรอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันต่อไป
    
สำหรับ ‘เครือชัยเสรีกรุ๊ป’ ถูกระบุว่าเป็น 1 ใน 9 เสือคู่ค้ากองทัพของไทย รายใหญ่ของไทย ได้แก่ 1.บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด 2.บริษัท เสรีชัยยุทธภัณฑ์ จำกัด 3.บริษัท ช.ไพศาล จำกัด 4.บริษัท โรยัลสกาย จำกัด 5.บริษัท ลัทธพลเทรดดิ้ง จำกัด 6.บริษัท ไทยเครื่องสนาม (2525) จำกัด 7.บริษัท ไพบูลย์เศรษฐกิจ จำกัด 8.บริษัท รอยัล ดีเฟนส์ จำกัด 9.บริษัท ชัยเสรี (กรุงเทพ) จำกัด ที่ทั้งหมดเป็นคู่สัญญากับ “กองทัพ” รวมกันหลายหมื่นล้านบาท

กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบพบว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565-22 มิ.ย. 2566) พบว่า บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ อย่างน้อย 5 โครงการ รวมวงเงิน 124.33 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นคู่สัญญากับกองทัพบก 3 โครงการ ได้แก่ 

  • ซื้อชิ้นส่วนซ่อมของระบบสายพานแบบต่างๆ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 99.65 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อ 10 พ.ย. 2565
  • จ้างการจ้างซ่อม รถกู้ซ่อม 5 ตัน M816 มีกว้าน จำนวน 5 คัน โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 22.5 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อ 22 พ.ย. 2565 
  • ซื้อชิ้นส่วนซ่อมของ เครื่องมือประกอบและติดตั้งข้อสายพานแบบต่างๆ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 1.59 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อ 25 พ.ย. 2565

ส่วนอีก 2 สัญญา ทำกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) คือ จ้างซ่อมแซมรถยนต์นั่งกันกระสุน จำนวน 3 คัน โดยวิธีเฉพาะเจาะจง 404,880 บาท ทำสัญญาเมื่อ 18 พ.ย. 2565 และซื้อแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งกันกระสุน จำนวน 3 คัน โดยวิธีเฉพาะเจาะจง 177,000 บาท ทำสัญญาเมื่อ 21 ธ.ค. 2565

ขณะที่ปีงบประมาณ 2565 บริษัท ชัยเสรีฯ เป็นคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 23 โครงการ รวมวงเงิน 133.73 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ปี 2540-ปัจจุบัน หรือกว่า 26 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อย 159 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างซ่อมสร้างรถยนต์บรรทุกจำนวน 200 คัน ดำเนินการโดย “กองทัพบก” วงเงิน 474 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2544

ขณะที่บริษัทในเครืออย่าง บริษัท ชัยเสรี (กรุงเทพ) จำกัด ในเครือ 'ชัยเสรีกรุ๊ป' เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงกองทัพไทย ระหว่างปี 2540-2566 อย่างน้อย 252 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงินกว่า 1.3 พันล้านบาท

หากนับแค่เฉพาะ 2 บริษัทหลักในเครือ ‘ชัยเสรี’ เท่ากับว่าในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา เป็นคู่สัญญารัฐอย่างน้อย 411 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 5.7 พันล้านบาท

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อ 22 มิ.ย. 2566 พบว่า บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2533 ทุนปัจจุบัน 150 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 41/1 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ผลิตและจำหน่ายอะไหล่และอุปกรณ์เกี่ยวกับยานพาหนะ

ปรากฏชื่อ นายหิรัญ กุลหิรัญ (สามีมาดามรถถัง) นายชาญเวช กุลหิรัญ นางสาวนฤมล กุลหิรัญ นายกานต์ กุลหิรัญ นายกฤต กุลหิรัญ เป็นกรรมการ

รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย. 2566 มีผู้ถือหุ้น 10 คน โดยนายหิรัญ กุลหิรัญ ถือหุ้นใหญ่สุด 84% นางนพรัตน์ กุลหิรัญ (มาดามรถถัง) ถือ 5.3333% ที่เหลืออีก 8 รายอยู่ในชื่อคนสกุล กุลหิรัญ ถือคนละ 1.3333%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีรายได้รวม 661,787,477 บาท มีรายจ่ายรวม 636,907,761 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 1,262,303 บาท เสียภาษีเงินได้ 1,474,025 บาท กำไรสุทธิ 22,143,387 บาท

ส่วนบริษัท ชัยเสรี (กรุงเทพ) จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 26 มี.ค. 2529 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 1/1 ซอยยาสูบ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ขายชิ้นส่วนยุทธภัณฑ์ ปรากฏชื่อ นายหิรัญ กุลหิรัญ (สามีมาดามรถถัง) และนายชาญชัย กุลหิรัญ เป็นกรรมการ

รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย. 2566 นายหิรัญ กุญหิรัญ ถือหุ้นใหญ่สุด 50% นางนพรัตน์ กุญหิรัญ ถือรองลงมา 20% นายชาญชัย กุญหิรัญ ถือ 15% นายชาญวิทย์ กุญหิรัญ ถือ 10% นายชาญเวช กุญหิรัญ ถือ 1.5% นายกานต์ กุญหิรัญ ถือ 1.5% นายชาญวุฒิ กุญหิรัญ ถือ 1% และ น.ส.นฤมล กุญหิรัญ ถือ 1%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีรายได้รวม 21,577 บาท รายจ่ายรวม 6,689,011 บาท ขาดทุนสุทธิ 6,667,434 บาท

สำหรับธุรกิจในเครือ ‘ชัยเสรีกรุ๊ป’ มีอีกอย่างน้อย 7 แห่ง ได้แก่ 

  1. บริษัท ชัยเสรี ดีเฟนส์ จำกัด ประกอบธุรกิจนำเข้า ส่งออกยานยนต์ล้อ ยานยนต์หุ้มเกราะ ยานยนต์สายพาน องค์ประกอบ ส่วนประกอบตลอดจนชิ้นส่วนอะไหล่ดังกล่าว ปี 2565 มีรายได้รวม 2,701,904 บาท กำไรสุทธิ 223,698 บาท
  2. บริษัท ไทยดีเฟนส์อินดัสตรี จำกัด การผลิตยานยนต์อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2565 มีรายได้รวม 4,500 บาท ขาดทุนสุทธิ 7,500 บาท
  3. บริษัท กรุงเทพยุทธภัณฑ์ จำกัด ขายชิ้นส่วนยุทธภัณฑ์ใช้กับราชการทหารนายหน้าตัวแทน ปี 2564 มีรายได้รวม 115,997,559 บาท กำไรสุทธิ 12,390,931 บาท
  4. บริษัท กุลหิรัญ จำกัด ขายเครื่องมือเครื่องจักรกล (เสร็จชำระบัญชีแล้วเมื่อ 27 ก.พ. 2546)
  5. บริษัท จี เอ็ม เอ็ม จำกัด ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และโลหะ (เสร็จชำระบัญชีแล้ว เมื่อ 16 มิ.ย. 2546)
  6. บริษัท ชัยเสรี กรุ๊ป จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์ เช่ารถยนต์พร้อมด้วยพนักงานขับรถประกอบธุรกิจให้เช่าที่ดิน ปี 2565 มีรายได้รวม 32,253,837 บาท กำไรสุทธิ 6,973,593 บาท
  7. บริษัท ชัยเสรีอิมปอร์ต จำกัด (เสร็จชำระบัญชีเมื่อ 16 ก.ค. 2546)

ที่น่าสนใจ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่บัญชีบริจาคและจำนวนเงินที่บริจาคให้พรรคการเมือง ประจำเดือน ก.พ. 2565 ในส่วนของพรรคก้าวไกล มียอดบริจาครวม 5,919,720 บาท โดยในจำนวนนี้ มีบริษัท จี เอ็ม อินด์ จำกัด บริจาค 2 แสนบาท 

สำหรับบริษัท จี เอ็ม อินด์ จำกัด ปรากฏชื่อนางนพรัตน์ กุญหิรัญ เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ (95%) รวมอยู่ด้วย

ผ่าอาณาจักร ‘ชัยเสรีกรุ๊ป’ ของ ‘มาดามรถถัง’ 26 ปีกวาดงานรัฐ-กองทัพ 5.7 พันล.