ขมวดปม ‘พิธา-ก้าวไกล’ สู้คดีหุ้นสื่อ ปราบขบวนการปลุกผี itv

ขมวดปม ‘พิธา-ก้าวไกล’ สู้คดีหุ้นสื่อ ปราบขบวนการปลุกผี itv

"...ประเด็นนี้ ‘ชัยธวัช’ เชื่อว่า คดีของ ‘พิธา’ จะออกมาลักษณะเดียวกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก กกต.วินิจฉัยว่าผิดตามมาตรา 151 กรณีถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด สุดท้าย อสส.ชี้ขาดไม่สั่งฟ้อง..."

เรียกได้ว่า ‘หนังคนละม้วน’ พลันที่ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรคก้าวไกล งัดหลักฐานสำคัญ 2 ประเด็นขึ้นมาโต้แย้ง กรณีกล่าวหา ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ครอบครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ itv ว่าเป็นการถือครอง ‘หุ้นสื่อ

ข้อเท็จจริงคดีหุ้น itv ของ ‘พิธา’ มี 2 ประเด็นสำคัญคือ

1.พิธา ถือครองหุ้น itv จริงหรือไม่ เรื่องนี้พิสูจน์ได้จากเอกสารหลักฐาน พบว่า ‘พิธา’ ถือครองหุ้นดังกล่าวจริง จำนวน 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551-2566

ขณะที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ถือหุ้นดังกล่าวในฐานะ ‘ผู้จัดการมรดก’ ภายหลัง ‘พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์’ บิดาเสียชีวิตเท่านั้น และมีการโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่ ‘ทายาท’ ไปแล้วเมื่อ 25 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ภายหลังรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ระหว่าง 3-7 เม.ย. และหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

2.บริษัท itv มีสถานะเป็นสื่อจริงหรือไม่ โดยเอกสารที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ประจำปี 2565 และหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2565 ระบุชัดเจนว่า itv ระบุประเภทธุรกิจสื่อ ว่าเป็นสื่อโทรทัศน์ และระบุสินค้าหรือบริการว่า สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน

ขณะที่ข้อมูลในส่วนบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นเมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ในประเด็นการทำธุรกิจสื่อ มีความขัดแย้งกันอยู่คือ ในรายงานบันทึกการประชุม ‘คิมห์ สิริทวีชัย’ ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ ในฐานะประธานที่ประชุม ตอบว่า “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

ดังนั้นคดีหุ้น itv ของ ‘พิธา’ จึงเหลือพื้นที่ให้ ‘ก้าวไกล’ พิสูจน์ข้อเท็จจริงเดียวคือ itv มีสถานะเป็นสื่อหรือประกอบกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่

ในการแถลงข่าวของ ‘ชัยธวัช’ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการหยิบยกข้อต่อสู้เรื่องนี้อย่างน้อย 3 ประเด็น

1.ความขัดแย้งกันระหว่างรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 และคลิปวีดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 มีความขัดแย้งกันเองในประเด็นการทำธุรกิจ เนื่องจาก ‘คิมห์’ ประธานกรรมการบริษัทฯ ตอบไม่ตรงกัน โดยจุดนี้ ‘ชัยธวัช’ จะใช้พยานหลักฐานเป็น ‘คลิปวีดีโอ’ เพื่อต่อสู้เรื่องนี้ พร้อมกับไล่บี้ให้ itv ดำเนินการตรวจสอบรายการการประชุมดังกล่าวด้วย

2.เอกสารนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ประจำปี 2565 และหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2565 มีคณะกรรมการบริษัท itv รับรองเมื่อ 28 เม.ย. 2566 ภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เพียง 2 วัน ก่อนจะนำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อ 10 พ.ค. 2566 โดยระบุประเภทธุรกิจสื่อ ว่าเป็นสื่อโทรทัศน์ และระบุสินค้าหรือบริการว่า สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน

ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจไว้ว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก ส่วนปี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ แต่ในส่วนสินค้าและบริการ ระบุว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ ทำให้ ‘ชัยธวัช’ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงเพิ่งมีการเพิ่มในส่วนสินค้าและบริการ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 2566 เพียงแค่ 4 วัน (เลือกตั้ง 14 พ.ค.)

3.ในวันที่ 10 พ.ค.ที่ itv นำส่ง ส.บช.3 นั้น ตรงกันกับวันที่ ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปร้องเรียนเรื่องดังกล่าวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นครั้งแรกด้วย ทำให้ ‘ชัยธวัช’ ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้มีการทำเป็นขบวนการหรือไม่ โดยเฉพาะการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่ปรากฏชื่อ จิตชาย มุสิกบุตร กรรมการบริษัท ในฐานะกรรมการผู้สอบทาน และแก้ไขรายงานการประชุม เหตุใดจึงบันทึกไม่ตรงกับคลิปรายงานการประชุม

นอกจากนี้ จิตชาย ยังเป็นผู้บริหารสายงานกฎหมาย และเลขานุการบริษัทของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV ทำให้มีคำถามว่า บมจ.อินทัชฯ รับรู้หรือเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรายงานให้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการประชุมหรือไม่

โดย ‘ชัยธวัช’ ตอบคำถามสื่อภายหลังแถลงข่าวยืนยันว่า รู้ตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้แล้ว แต่มิได้บอกรายละเอียด

ทั้ง 3 ข้อข้างต้นคือสิ่งที่ ‘ก้าวไกล’ จะใช้เป็นข้อต่อสู้คดีหุ้น itv ของ ‘พิธา’ อย่างไรก็ดีปัจจุบันคดีนี้ กกต.มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯเพื่อดำเนินการแล้ว 1 คณะ โดยจะไต่สวนเฉพาะกรณี รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัคร แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

โดยถูกกูรูกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตั้งไต่สวน ‘ข้ามช็อต’ ไปไกล แทนที่จะค้นหาข้อเท็จจริงก่อนว่า itv เป็นสื่อหรือไม่ แต่กลับไปเล่นงานตัวบุคคลเสียแล้ว

นอกจากนี้ คดีตามมาตรา 151 ยังใช้เวลายาวนาน เนื่องจากเป็นคดีอาญา หาก กกต.วินิจฉัยว่าผิดจริง ต้องส่งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อทำสำนวน ก่อนส่งไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อชี้ขาดว่าจะฟ้องหรือไม่

โดยประเด็นนี้ ‘ชัยธวัช’ เชื่อว่า คดีของ ‘พิธา’ จะออกมาลักษณะเดียวกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก กกต.วินิจฉัยว่าผิดตามมาตรา 151 กรณีถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด สุดท้าย อสส.ชี้ขาดไม่สั่งฟ้อง

เมื่อมีการเปิดพยานหลักฐานใหม่ โดยทีมสื่อ ‘อดีต itv’ ซึ่ง ‘ชัยธวัช’ เอ่ยปากขอบคุณในวันแถลงข่าว ทำให้ ‘ก้าวไกล’ ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า จะสามารถลบข้อครหาประเด็นว่า itv ปัจจุบันยังทำสื่ออยู่หรือไม่ได้

ท้ายที่สุดบทสรุปของเรื่องนี้ คงต้องรอ กกต.รับรองสถานะ ส.ส.ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 ให้ครบถ้วนเรียบร้อยเสียก่อน คดีถึงจะเริ่มนับ 1 อย่างเป็นทางการ