เปิดลิสต์ ว่าที่ ส.ส. หญิง ‘ตัวตึง’ เตรียมเข้าสภาฯ 2566 ในว่าที่รัฐบาลพิธา

เปิดลิสต์ ว่าที่ ส.ส. หญิง ในว่าที่รัฐบาลพิธา ก้าวไกลส่งนักการเมืองหน้าใหม่เข้าสภาฯ ทั้งหมด ด้านเพื่อไทยมี “ธีรรัตน์-จิราพร-ขัตติยา” ส.ส. หญิงผลงานโดดเด่นได้เข้าสภาฯ อีกสมัย
Key Points:
- ก่อนเปิดสภาฯ 2566 ย้อนดูตัวตึง-ดาวเด่น “ว่าที่ ส.ส. หญิง” ด้านพรรคก้าวไกลเป็น ส.ส. หน้าใหม่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เคยทำกิจกรรมทางการเมือง-เป็นกระบอกเสียงมาก่อน
- พรรคก้าวไกลมี ส.ส. หน้าใหม่ที่สามารถล้มช้าง-บ้านใหญ่ได้ 2 คน คือ พนิดา มงคลสวัสดิ์ และ รักชนก ศรีนอก ซึ่งเป็น ว่าที่ ส.ส. ที่มีกระแสในโซเชียลต่อเนื่อง
- พรรคเพื่อไทยสามารถรักษาแชมป์-เข้าสภาฯ ได้อีกสมัย เคยทำผลงานโดดเด่นมาแล้ว และอยู่ในฐานะทายาทแกนนำคนเสื้อแดงถึง 2 คน
ปรากฏการณ์ก้าวไกลคว้าอันดับ 1 ในสนามเลือกตั้ง 2566 นอกจากจะ “หักปากกาเซียน” ที่สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. มาได้ 151 ที่นั่งแล้ว ครั้งนี้ “พรรคส้ม” ยังมี ส.ส. หญิง ที่โดดเด่น-มีประวัติที่มาที่ไปน่าสนใจหลายคนด้วยกัน ส่วนพรรคเพื่อไทย ส.ส. หญิง ที่เคยทำงานในพื้นที่ดีเยี่ยม และมีผลงานการอภิปรายที่น่าจับตา ได้จูงมือกันเข้าสภาฯ อีกสมัย
“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนทบทวน-ทำความรู้จัก ว่าที่ ส.ส. หญิงก่อนเปิดสภาฯ แต่ละคนประวัติไม่ธรรมดา เป็นทั้งนักกิจกรรมต้านรัฐประหาร อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บ้างก็เคลื่อนไหวในโลกออนไลน์มาก่อน หรือกระทั่งเป็นทายาทอดีตแกนนำทางการเมืองคนดัง-ลูกไม้หล่นใต้ต้นอย่างแท้จริง
- “ก้าวไกล” สร้างแรงกระเพื่อม ส่งตัวตึง-ล้มบ้านใหญ่เข้าสภาฯ
ส.ส. หญิงในนามพรรคก้าวไกลได้รับการพูดถึงอยู่หลายคน แต่ละคนมีปูมหลังไม่ธรรมดา โดย ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส. เขต 3 จ.ปทุมธานี เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักเคลื่อนไหว-นักกิจกรรมทางการเมือง “ลูกเกด-ชลธิชา” เป็นนักกิจกรรมรุ่นเดียวกับ “รังสิมันต์ โรม” ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคก้าวไกล ชลธิชาเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ทำให้เธอถูกจับกุมคุมขังราว 12 วัน
หลังจากนั้น เธอยังยืนหยัดต่อสู้ในฐานะแกนนำมาโดยตลอดจนมีคดีติดตัวหลายสิบคดี ตั้งแต่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งเรียนจบ ชลธิชา ยังคงเดินทางบนถนนการเมืองในฐานะนักกิจกรรมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเมื่อครั้งม็อบคณะราษฎรปี 2563 ชลธิชาตกเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 ต้องติดกำไล EM อยู่นาน กระทั่งเธอตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคก้าวไกล โดยเป็นเขตที่เคยมี “งูเห่าอนาคตใหม่” ลงสมัครมาก่อน และท้ายที่สุด ชลธิชาได้รับคะแนนเสียงชนะการเลือกตั้งในสมัยแรกได้
ด้าน พุธิตา ชัยอนันต์ ก็เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นเดียวกับ “ชลธิชา แจ้งเร็ว” และ “รังสิมันต์ โรม” เช่นกัน พื้นเพเป็นคน จ.เชียงใหม่ เรียนจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เธอเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมๆ กับชลธิชาในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557
พุธิตา คือ หญิงสาวที่ถูกจับกุม-ฉุดกระชากหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ในกิจกรรมต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นภาพที่หลายคนจดจำเธอได้ กระทั่ง 6 ปีผ่านไป พุธิตาเริ่มต้นทำงานการเมืองในฐานะผู้ช่วย ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ และเธอตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. เขต 4 จ.เชียงใหม่ เอาชนะ อดีต ส.ส. วิทยา ทรงคำ จากพรรคเพื่อไทยได้สำเร็จ โดยพุธิตาได้คะแนนไปมากถึง 62,009 คะแนน
-พนิดา มงคลสวัสดิ์ ว่าที่ ส.ส. เขต 1 จ.สมุทรปราการ-
พนิดา มงคลสวัสดิ์ ว่าที่ ส.ส. หญิงหน้าใหม่ ที่ไม่เคยมีประวัติทางการเมืองมาก่อน แต่กลับมีกระแสในโซเชียลมีเดีย ได้รับความนิยมทั้งในเฟซบุ๊ก (Facebook) และติ๊กต็อก (TikTok) พนิดาเป็นอดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ผันตัวลงมาทำงานการเมืองครั้งแรก พื้นเพเป็นคน จ.สมุทรปราการ เธอจึงลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ เขต 1 จ.สมุทรปราการ ที่ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดของ “บ้านใหญ่” ที่ไม่เคยมีใครล้มฐานที่มั่นแห่งนี้ได้ แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า พนิดาชนะการเลือกตั้ง-ล้มช้างบ้านอัศวเหมได้สำเร็จด้วยคะแนนที่ห่างกันแบบ “ครึ่งต่อครึ่ง”
พนิดาเล่าว่า เธอเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นรากหญ้า ทุกคนในครอบครัวเป็นผู้ใช้แรงงาน จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เริ่มสนใจการเมือง คือ คุณพ่อของเธอเข้าร่วมชุมนุมในฐานะ “คนเสื้อแดง” แต่หลังจากนั้นเธอก็ยังไม่ได้มีความเชื่อ ความศรัทธาในกลไกรัฐสภามากนัก จนวันที่มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น เธอจึงหันมาสนใจการเมืองและมองเห็นลู่ทางของการเปลี่ยนแปลง-ความหวังครั้งใหม่ พนิดาเริ่มต้นด้วยการทำงานในตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร ก่อนลงชิงชัยในเขตบ้านใหญ่ และคว้าชัยมาได้สำเร็จ
รักชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส. คนดังที่มีกระแสร้อนแรงมาตั้งแต่ก่อนเปิดตัวลงสมัคร รักชนกหรือ “ไอซ์” เริ่มเป็นที่รู้จักจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองในแอปฯ “คลับเฮ้าส์” ด้วยความกล้าคิด กล้าพูด ทำให้เธอเป็นที่จดจำ จนภายหลังได้รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองคล้ายกันในนาม “กลุ่มพลังคลับ” จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานที่ดูแลด้านการดำเนินการทางกฎหมาย และนักกิจกรรมทางการเมือง
ช่วงหาเสียงโค้งสุดท้าย รักชนกได้รับความสนใจจากการปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามชุมชน เพื่อลงพื้นที่พูดคุย-ทำความเข้าใจปัญหา รวมถึงยังใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการนำโบรชัวร์หาเสียงร้อยเป็นพวงมาลัย และยืนหาเสียงกับโทรโข่งคู่ใจบริเวณสี่แยกไฟแดงในช่วงเช้า จนกลายเป็นภาพจำของชาวบ้านบริเวณนั้น
รักชนกเป็น ว่าที่ ส.ส. อีกหนึ่งคนที่มีสปอตไลต์จับจ้องเป็นจำนวนมาก เพราะคู่แข่งของเธอ คือ “วัน อยู่บำรุง” อดีต ส.ส. เขตบางบอน และในช่วงหาเสียง วิวาทะระหว่างรักชนก-วันก็ดุเดือดไม่น้อย กระทั่ง รักชนกได้รับชัยชนะ ทั้งคู่ได้แสดงสปิริตทางการเมืองด้วยการแสดงความยินดีซึ่งกันและกัน
สำหรับ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ “ทนายแจม” เป็นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เธอคืออีกหนึ่งกระบอกเสียงในช่วงม็อบคณะราษฎรปี 2563 มีบทบาทสูงในฐานะทนายช่วยเหลือทำคดีแกนนำม็อบ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีชุมนุมทางการเมือง ทนายแจมอยู่กับศูนย์ทนายสิทธิฯ มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง นอกจากนี้ ในบทบาททนายความหญิง เธอยังเรียกร้อง-ขับเคลื่อนสิทธิทนายความหญิงด้วยการรณรงค์ใส่กางเกงไปว่าความที่ศาล เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า กระโปรงไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ผูกขาดไว้กับเพศหญิงอีกต่อไป
นอกจากนี้ ทนายแจมเคยออกมาเปิดเผยถึงความยากลำบากของอาชีพตำรวจ โดยมีสามีเธอที่เคยถูกส่งไป “ธำรงวินัย” เป็นกรณีศึกษา ทนายแจมเผยว่า ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของครอบครัวมาก เพราะเธอ สามี และลูกๆ ไม่เคยห่างกัน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สามีทนายแจมก็ได้ออกมาโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเรียกร้องให้เพื่อนตำรวจช่วยกันส่งเสียง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเรื่องระเบียบทรงผมข้าราชการตำรวจด้วย
- “เพื่อไทย” รักษาฐานที่มั่นได้ อภิปรายโดดเด่น-ผลงานเป็นที่ประจักษ์
ขณะที่ก้าวไกลเต็มไปด้วย ว่าที่ ส.ส. หน้าใหม่ ฟากเพื่อไทยก็มี ส.ส. หญิงรุ่นใหม่ที่สามารถรักษาฐานเสียงได้สำเร็จติดต่อกันหลายสมัย ตั้งแต่ ขัตติยา สวัสดิผล นักการเมืองและทายาทแกนนำคนเสื้อแดงอย่าง “เสธ.แดง” ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 โดยหลังจากนั้นไม่นาน ขัตติยาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และต่อมา มีส่วนสำคัญในการก่อร่างพรรคไทยรักษาชาติ กระทั่ง ถูกตัดสินยุบพรรคในเวลาต่อ ขัตติยาตัดสินใจได้ย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง
ในฐานะทายาทแกนนำคนเสื้อแดง เธอมักไปปรากฏตัวในงานรำลึกวีรชนคนเสื้อแดงทุกปี โดยเรียกร้องให้คืนศักดิ์ศรีให้กับคนเสื้อแดง ยกย่องเชิดชูการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ในอดีตถูกตราหน้าว่าเป็น “ม็อบล้มเจ้า” โดยก่อนหน้านี้ ขัตติยาเคยเข้าร่วมม็อบพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาก่อน กระทั่งภายหลังการเสียชีวิตของผู้พ่อ เธอตัดสินใจสานต่อปณิธานประชาธิปไตยด้วยการเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยในบทบาทนักการเมือง และเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นองเลือดคืนความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง
ด้าน จิราพร สินธุไพร หรือ “ส.ส. น้ำ” ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น-ครองเก้าอี้ ส.ส. ร้อยเอ็ดได้เป็นสมัยที่สอง ส.ส. น้ำ เป็นทายาทของอดีตแกนนำคนเสื้อแดง และอดีต ส.ส. จ.ร้อยเอ็ด อย่าง “นิสิต สินธุไพร” ก่อนเข้าสู่ถนนการเมือง ส.ส. น้ำ ทำงานในบริษัทเอกชนและภาครัฐมาก่อน ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในสนามเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 และได้รับชัยชนะเป็น ส.ส. เขต 5 จ.ร้อยเอ็ด
แม้เพิ่งมีโอกาสเข้าสภาฯ ไม่นาน แต่ ส.ส. น้ำกลับเป็นที่รู้จักและได้รับการเสียงชื่นชมมากมาย เธอมีผลงานการอภิปรายที่โดดเด่น ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน น้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ ประเด็นอันแหลมคม กล้าชน-ตรงไปตรงมา ตั้งแต่การอภิปรายนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลวในรัฐบาลประยุทธ์ การปิดเหมืองทองอัครา และการชำแหละงบประมาณกองทัพ
และ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ หรือ “ส.ส. อิ่ม” ว่าที่ ส.ส. กทม. เพียงหนึ่งเดียวจากพรรคเพื่อไทย ส.ส. อิ่มสามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันแล้ว เธอทำหน้าได้ดีเยี่ยมทั้งการทำงานในพื้นที่ และการทำงานในสภาฯ เป็นหนึ่งใน ส.ส. มืออภิปรายของพรรคเพื่อไทย โดยที่ผ่านมา ส.ส. อิ่ม โดดเด่นในการอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน โครงการชิมช้อปใช้ การแจกกล้วยให้งูเห่าข้ามขั้วที่เป็นช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นต้น
ในการเลือกตั้ง 2566 ธีรรัตน์ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง หลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า ส.ส. อิ่มได้รับชัยชนะในเขตลาดกระบังอีกสมัย เฉือนชนะผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลไป 4 คะแนน และถือเป็น ส.ส. เพื่อไทยเพียงคนเดียวที่ยังรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ จนสื่อหลายสำนักให้สมญานามว่าเป็น “แดงเดียวในดงส้ม”
อ้างอิง: Bangkokbiznews, Matichon, Matichon Weekly