จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิดรัฐบาล 'ประยุทธ์' ปมออก พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหาย ขัด รธน.

จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิดรัฐบาล 'ประยุทธ์' ปมออก พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหาย ขัด รธน.

'ศรีสุวรรณ' จ่อลุยร้อง ป.ป.ช. เอาผิดรัฐบาล 'ประยุทธ์' ปมออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ส่อจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เหตุก่อนหน้านี้ศาล รธน.วินิจฉัยแล้วทำไม่ได้

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ออกไปอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะ มาตรา 53 จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้แล้วนั้น

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า การกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชาติบ้านเมือง ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ตนจึงจะนำความไปร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวน เอาผิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานทางจริยธรรมที่ผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะไปยื่นคำร้องในวันอังคารที่ 6 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีที่น่าสนใจ เรื่องพิจารณาที่ 11/2566 กรณี ส.ส.จำนวน 99 คน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 22, 23, 24, 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 22 ก.พ. 2566 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป

โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้น (วันที่ 22 ก.พ. 2566) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม

จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิดรัฐบาล \'ประยุทธ์\' ปมออก พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหาย ขัด รธน.