อย่าตีตนก่อนไข้! ‘พิธา’ ไม่รู้ตรรกะ ‘วิษณุ’ พูดปมหุ้นสื่อ มีแผนรองรับแล้ว

อย่าตีตนก่อนไข้! ‘พิธา’ ไม่รู้ตรรกะ ‘วิษณุ’ พูดปมหุ้นสื่อ มีแผนรองรับแล้ว

อย่าเพิ่งตีตนก่อนไข้! ‘พิธา’ ไม่รู้ตรรกะ ‘วิษณุ’ พูดหากเกิดอุบัติเหตุการเมืองปมหุ้น ลั่นเตรียมแผนรองรับไว้ทุกสถานการณ์ ยันตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ ไม่ใช่ ครม.เงา แต่ทำตาม MOU ยึดปัญหาประชาชนเป็นที่ตั้ง

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 ที่สภาหอการค้าไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากนายพิธาหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง กรณีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อาจส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ ส.ส. และอาจจะส่งผลให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศ ว่า ยังไม่ได้ดูรายละเอียดถึงตรรกะที่นายวิษณุได้กล่าวถึง แต่พรรคก้าวไกลได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ ไว้หลายรูปแบบ พร้อมชี้แจงในทุกรูปแบบที่จะออกมา แต่อย่าพึ่งตีตนไปก่อนไข้ เพราะยังมีเวลาในการชี้แจง และคำร้องก็ยังไม่ได้เห็นในรายละเอียด ก็เห็นว่าน่าจะขึ้นอยู่กับคำร้องของผู้ยื่นร้องตามที่หลายสื่อได้มีการนำเสนอไป

เมื่อถามถึงกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสภา (ส.ว.) วิพากษ์วิจารณ์การตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาลว่าเร็วเกินไป หรือควรจัดตั้งหลังเป็นรัฐบาลหรือไม่ อีกทั้งยังมองว่าเป็นการเรียกมวลชนเข้ามาปกป้องพรรคก้าวไกล และเป็นการกดดัน ส.ว. ที่จะร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล นายพิธา กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงเลย ความจริงก็คือประชาชนไม่สามารถที่จะทนรอความเดือดร้อนในขณะนี้ได้ อย่างเช่น ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ จะไม่มีมาตรการในการพยุงราคาดีเซลขึ้น และรัฐบาลชุดใหม่จะต้องมาจัดการ เป็นสิ่งที่ประชาชนเราไม่ได้ ไม่ใช่เรารอไม่ได้

นายพิธา กล่าวด้วยว่า ส่วนการทำทรานซิชั่นทีม (คณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน) หากดูการเมืองทั่วไปในต่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก สำหรับการเปลี่ยนผ่านอำนาจของรัฐบาลต่อรัฐบาลในหลายประเทศในระบบประชาธิปไตย

ส่วนกรณีที่ข้อสังเกตว่าการตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลว่าเป็น ครม.เงาหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า ถ้าคำถามนี้เป็นความจริง การตั้งคณะทำงานและคณะกรรมการเมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 2566) จะต้องมีการตั้งตามกระทรวง แต่เมื่อวานนี้เป็นการตั้งตาม MOU ปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง โดยแสดงถึงความตั้งใจว่าไม่ได้มีการตั้งคณะทำงานตามกระทรวง เช่นว่า คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการพลังงาน เป็นต้น แต่เป็นการตั้งตามปัญหาของประชาชน เอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะต้องบูรณาการหลายกระทรวง อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งก็ต้องร่วมงานกัน 4-5 กระทรวง