"ก้าวไกล" ตัดเกมรวบอำนาจ "เพื่อไทย" บทเรียนใบสั่ง สกัดแก้ ม.112

"ก้าวไกล" ตัดเกมรวบอำนาจ "เพื่อไทย"  บทเรียนใบสั่ง สกัดแก้ ม.112

"บทเรียน" ในอดีตที่ตามหลอกหลอนมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นตัวบ่งบอกว่า ตำแหน่ง "ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ" ถือเป็นเดิมพันสำคัญของ"ก้าวไกล" ที่จะปล่อยหลุดมือไปไม่ได้

นาทีนี้เรียกได้ว่า “ไม่มีใครยอมใคร” สำหรับศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ที่ถือเป็นผู้คุมเกมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝั่ง “พรรคก้าวไกล” ในฐานะแกนนำ “8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” ที่ดูเหมือนจะรู้ทันเล่ห์เหลี่ยม เกมชิงไหวชิงพริบที่กำลังจะเกิดขึ้นในสภาหลังจากนี้ 

จึงยื่นคำขาดว่า ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นคนของพรรค ด้วยเหตุผลในเรื่องจำนวน ส.ส.ในสภา ตามธรรมเนียมปฏิบัติในประวัติศาสตร์การเมืองที่จะต้องให้สิทธิพรรคลำดับหนึ่งในการเสนอชื่อบุคคล

“ก้าวไกล” เรียนรู้ถึงบทเรียนในอดีต หากไร้ซึ่งอำนาจคุมเกมฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นย่อมสะเทือนไปถึงหลายนโยบายของพรรคที่จะต้องสะดุดหยุดลงไปด้วย 

ทั้งกระบวนการออกกฎหมาย ที่มีบทเรียนในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภาจำนวน 478 ฉบับ แต่กลับมีกฎหมายผ่านสภาไปเพียง 78 ฉบับ

 เช่นนี้ หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้คุมเกมฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นย่อมกระทบไปถึงการผลักดันกฎหมาย 45 ฉบับ ที่ได้หาเสียงไว้และ เตรียมยื่นต่อสภาฯ หลังจากนี้

ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ

\"ก้าวไกล\" ตัดเกมรวบอำนาจ \"เพื่อไทย\"  บทเรียนใบสั่ง สกัดแก้ ม.112

 

โดยเฉพาะไฮไลท์สำคัญ ซึ่งถูกบรรจุเป็น 1 ใน 8 กฎหมายสิทธิเสรีภาพ นั่นคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งพรรคก้าวไกลมีบทเรียน ในยุครัฐบาลประยุทธ์ ที่มี “ชวน หลีกภัย” เป็นประธานสภา

ครั้งนั้นก้าวไกลเสนอชุดกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ โดยประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายร่างที่ 1 คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนที่สอง

ในเวลาต่อมากลับถูกตีตกโดยทีมกฎหมายสภา ตั้งแต่ยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระด้วยเหตุผล “มีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6”

ยิ่งไปกว่านั้น หากย้อนกลับไปในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ และมี “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น จากพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

โดยในช่วงต้นรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2555 ได้มีการเสนอร่างกฎหมายที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำโดย นักวิชาการ อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติราษฎร์  พวงทอง ภวัครพันธุ์ จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่นำรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อกันทั้งหมด 26,968 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ ... (แก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์) ไปยื่นต่อรัฐสภา

\"ก้าวไกล\" ตัดเกมรวบอำนาจ \"เพื่อไทย\"  บทเรียนใบสั่ง สกัดแก้ ม.112

ในเวลาต่อมา “สมศักดิ์” ในฐานะประธานสภา กลับวินิจฉัยว่า ข้อเสนอนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมาย จึงมีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา

ว่ากันว่า ยามนั้นมีสัญญาณมาจาก “นายใหญ่” และ “นายหญิง” ส่งสัญญาณไปยังประธานสภาฯ ให้ตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวท่ามกลางกระแส “เกี๊ยะเซี๊ยะ”ระหว่างขั้วอำนาจ ณ เวลานั้น

\"ก้าวไกล\" ตัดเกมรวบอำนาจ \"เพื่อไทย\"  บทเรียนใบสั่ง สกัดแก้ ม.112

ฉะนั้น "คนหลังม่าน" พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกมองว่าเป็นเสมือนซากเชื้อของ “ครก.112” โดยเฉพาะ ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเคยเป็นแนวร่วมกลุ่มนิติราษฎร์ ย่อมรู้ดีว่า หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภามาครอบครอง หากปล่อยให้พรรคเพื่อไทยตามที่มีการร้องขอ โอกาสที่จะผลักดันกฎหมายโดยเฉพาะการแก้มาตรา 112 ซึ่งเป็นสัญญาประชาคมทีี่ใช้หาเสียง ก็มีแต่จะถูกสกัด อย่างที่เคยเป็นมา

โดยเฉพาะการอ้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ดังที่เคยเกิดขึ้นในยุค “ประธานขุนค้อน” บวกเนื้อหาในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 ที่เป็นเสมือนบ่วงผูกมัด จนที่สุดก้าวไกลไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในที่สุด

\"ก้าวไกล\" ตัดเกมรวบอำนาจ \"เพื่อไทย\"  บทเรียนใบสั่ง สกัดแก้ ม.112

ยังไม่นับรวมหลากหลายนโยบายของพรรคก้าวไกล ทั้งประเด็นการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ การตั้งสภาเยาวชน รวมถึงแนวคิดรัฐสภาโปร่งใส การถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการทุกคณะ ที่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกขัดขวาง หากพรรคก้าวไกลไม่ได้ครอบครองตำแหน่งประธานสภา

ขณะที่ในมุมของ “พรรคเพื่อไทย” จนถึงเวลานี้ ยังยืนยันที่จะเสนอบุคคลชิงตำแหน่งประธานสภา ด้วยเหตุผลการมี ส.ส.เขต เท่ากันคือ 112 เสียง 

อีกทั้ง พรรคเพื่อไทยยังอ้างเหตุผลว่า "ประธานสภาควรเปิดทางผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็น‘รัฐบาลผสม มีภารกิจสำคัญในเอ็มโอยูร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาจะเป็นใคร มาจากพรรคใด ก็ต้องทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย"

อีกทั้งยังระบุว่า "ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก หากจะยกกรณีที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ชนะโหวตทั้งนายกฯ และประธานสภามาโดยตลอด ไม่มีพรรคอันดับสองได้

\"ก้าวไกล\" ตัดเกมรวบอำนาจ \"เพื่อไทย\"  บทเรียนใบสั่ง สกัดแก้ ม.112

นั่นเป็นเพราะเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาฯ จึงชนะโหวตด้วยเสียงของ ส.ส.และผู้สนับสนุน ในกรณีนี้ เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด"

แม้ต่างฝ่าย ต่างมีเหตุผลชี้แจงต่อกันและต่อสังคม แต่ด้วยตัวบทกฎหมายที่ระบุให้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” จะต้องเป็น “ประธานรัฐสภา” โดยตำแหน่ง จึงไม่แปลกที่ยามนี้ จะปรากฎภาพเกมชิงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้ฝ่ายบริหารหรือตุลาการ

เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันไม่ถอย ในขณะที่หมุดหมายการเมืองก็กำลังเข้าสู่โหมดการชิงเกมรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาล จากนี้จึงต้องจับตาว่าที่สุดแล้ว “จุดตัด”ของเรื่องนี้จะไปจบลงที่ใด โดยเฉพาะเกมต่อรองด้วยเก้าอี้รัฐมนตรีที่จะต้องจับตาหลังนี้