คอร์รัปชันในประเทศเราควรแก้ไขอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

คอร์รัปชันในประเทศเราควรแก้ไขอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

กรณีพรรคร่วมแปดพรรคบรรจุการแก้ทุจริตคอร์รัปชันเป็นนโยบายรัฐบาลอันดับ 7 ในเอกสารเอ็มโอยู ถือเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่งสำหรับประชาชน เพราะคอร์รัปชันเป็นปัญหารุนแรงในประเทศเรา เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศต้องการให้แก้ไข

บทความวันนี้ขอเสนอ 3 ข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมี เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของปัญหาและความท้าทาย เพื่อนำไปสู่การออกนโยบายและมาตรการที่ตรงจุด มีพลัง ให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศประสบความสำเร็จ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศเรารุนแรง ดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ Corruption Preception Index ที่วัดความโปร่งใสในภาครัฐ ตัวเลขของประเทศไทยแย่ลงตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ความรุนแรงของคอร์รัปชันได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ต่อความเข้มแข็งของสถาบันหลักของประเทศทั้งในภาครัฐและเอกชน และต่อความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตย นี่คือต้นทุนที่ปัญหาคอร์รัปชันได้สร้างให้กับประเทศ

ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศเรามีข้อจำกัดมากและดูไม่จริงจัง แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่าย ทําให้ปัญหายิ่งโต จนมีการตั้งคำถามว่าเราจะแก้คอร์รัปชันได้หรือไม่

สำหรับผมคําตอบคือแก้ได้ แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการมองปัญหาและต้องจริงจัง เริ่มโดยยอมรับและทําความเข้าใจกับระบบคอร์รัปชันที่ประเทศมีซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐ จากนั้นก็มุ่งทรัพยากรและการแก้ไขไปที่ระบบคอร์รัปชันเหล่านี้

วันนี้อยากฝาก 3 ข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศเรามี ดังนี้

ข้อคิดแรก คอร์รัปชันในประเทศเราส่วนใหญ่เป็นคอร์รัปชันในภาครัฐ ทั้งระหว่างภาครัฐกับเอกชนและภายในหน่วยงานภาครัฐเอง และจากความรุนแรงของปัญหาที่ประเทศมี

การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในภาครัฐไม่ใช่การทําผิดหรือการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นครั้งคราว (Transactional) แต่เป็นการทุจริตที่ทํากันอย่างเป็นระบบโดยระบบคอร์รัปชัน หรือ corruption systems

ที่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง และนําระบบดังกล่าวมาใช้ในหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการหาประโยชน์โดยการทุจริตคอร์รัปชัน

ระบบคอร์รัปชันเหล่านี้ คือหัวใจของการทุจริตคอร์รัปชันที่ประเทศเรามี กระจายอยู่ในหน่วยงานรัฐต่างๆ ในหลายระดับ ยิ่งมีมากการทุจริตก็ยิ่งมาก

ระบบคอร์รัปชันเหล่านี้คืออะไร

ในบทความ When Corruption is entrenched and Systemic, more resilient anti-corruption can help

หรือ เมื่อคอร์รัปชันฝังลึกและเป็นระบบ มาตรการแก้ไขจะต้องยิ่งเข้มแข็งจริงจัง เขียนโดย นายเดวิด แจ็กสัน ที่พูดถึงสามลักษณะของระบบคอร์รัปชันที่ทําให้คอร์รัปชันในภาครัฐเติบโตและแก้ยาก

1.ระบบคอร์รัปชันเป็นเครือข่าย มีผู้เกี่ยวข้องและเข้าร่วมมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ในและนอกหน่วยงานรัฐที่มีระบบคอร์รัปชันอยู่ มีคนในภาคธุรกิจ ภาคการเมือง ตลอดจนผู้มีหน้าที่ตรวจสอบและเอาผิดการทุจริตคอร์รัปชันเข้าร่วม ทุกคนในเครือข่ายคือผู้เกี่ยวข้อง แต่ละคนมีหน้าที่ทําให้การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นและยืนอยู่ได้

2.ระบบมีวิธีปฏิบัติหรือ Operating procedure ที่แน่นอนชัดเจนว่าจะต้องทําอะไรอย่างไร อัตราเท่าไร แบ่งกันอย่างไร นำไปสู่ความมีวินัยและความเสถียรของระบบ ชึ่งจุดนี้ได้ถูกใช้เป็นเหตุผลโน้มน้าวสร้างแรงจูงใจให้มีคนใหม่ๆ เข้าร่วมเพื่อขยายและรักษาเครือข่าย

3.เป้าหมายสุดท้ายของระบบคอร์รัปชันที่มีในหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เพียงเพื่อความร่ำรวยของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ปลายทางจะเป็นเรื่องอื่นทั้งการเมืองและสังคม

เช่น ใช้เงินจากการทุจริตในการเลือกตั้งหรือใช้เงินทุจริตสร้างระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ ระบบคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐจึงถูกปกป้องโดยนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น แล้วแต่กรณีเพราะเป็นผู้ได้ประโยชน์

คอร์รัปชันในประเทศเราควรแก้ไขอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

นี่คือสามลักษณะของระบบคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐเป็นกรณีทั่วไป ซึ่งของประเทศเราคงไม่แตกต่าง ระบบที่ว่านี้สามารถมีอยู่ในทุกระดับและในทุกประเภทของการทําหน้าที่ของภาครัฐ

ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบาย การจัดซื้อจัดจ้าง การให้บริการประชาชน การบังคับใช้กฎหมาย การดูแลทุกข์สุขของประชาชน หรือแม้แต่การโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งในวงราชการ ความแตกต่างของแต่ละระบบในแต่ละหน่วยงานจะขึ้นอยู่ความยากง่ายและความสลับซ้ำซ้อนของวิธีปฏิบัติ

ข้อคิดที่สอง ระบบคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐจะมีระบบป้องกันตัวเองที่เข้มแข็งจากการเอาผิดและปราบปราม

ความเข้มแข็งนี้มาจากจํานวนคนเกี่ยวข้องที่มาก เมื่อมีคนเข้าร่วมทําผิดมากก็มีแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือกันเต็มที่ เช่น ถ้าถูกจับได้ก็จะช่วยกันระดมทรัพยากรและเส้นสายที่มีทั้งในระบบราชการ ระบบการเมือง ระบบยุติธรรม และสื่อมวลชนเข้าช่วยเหลือ

ในภาวะปกติที่ระบบยังไม่ถูกเปิดโปงจับกุม คนในเครือข่ายก็จะช่วยกันใช้อำนาจหน้าที่ที่มีทำให้การลงโทษและเอาผิดการทุจริตในประเภทที่ตนทำไม่รุนแรง หรือมีช่องว่างที่จะใช้ดุลยพินิจเลือกปฏิบัติ

ทั้งหมดก็เพื่อสร้างความปลอดภัยไว้ก่อน รวมถึงใช้ประโยชน์ความเข้มแข็งนี้ดึงคนใหม่เข้ามาร่วม

ข้อคิดที่สาม การทุจริตคอร์รัปชันที่มีการจัดตั้งและทํากันอย่างเป็นระบบแบบนี้ ทําให้เครื่องมือปกติที่ใช้ในการต่อสู้คอร์รัปชัน เช่น การสร้างความตระหนักรู้ ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลและรายงานทรัพย์สิน จะมีข้อจำกัด ขาดประสิทธิภาพ และไม่เพียงพอ

การแก้ไขต้องมุ่งพร้อมกันไปที่การเปิดโปงและทําลายตัวตนของระบบคอร์รัปชันเหล่านี้

เริ่มโดยศึกษาให้เข้าใจว่าระบบคอร์รัปชันที่มีในแต่ละหน่วยงานทํางานอย่างไร มีเครือข่ายอย่างไร มีกลไกปกป้องระบบอย่างไร ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นก็เข้าแก้ไขโดยมุ่งทลายระบบคอร์รัปชันและระบบปกป้องที่มี

นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้

คอร์รัปชันในประเทศเราควรแก้ไขอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ ศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]