'ชัชชาติ' ฝากรัฐบาลใหม่ ทบทวน 'กฎหมายภาษีที่ดิน' หลังเปลี่ยนรูปแบบ

'ชัชชาติ' ฝากรัฐบาลใหม่ ทบทวน 'กฎหมายภาษีที่ดิน' หลังเปลี่ยนรูปแบบ

‘ชัชชาติ’ ฝากรัฐบาลใหม่ ทบทวน ‘กฎหมายภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง’ หลังเปลี่ยนรูปแบบ จัดเก็บห้างใหญ่ได้ลดลงถึง 10 เท่า เผยแค่ย้ายทะเบียน รายได้ กทม.ลดไป 4 ล้าน กระทุ้งถ้าจริงใจกระจายอำนาจ ต้องให้ทรัพยากรด้วย

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2566 ที่สำนักงานเขตพญาไท นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับรัฐบาลชุดใหม่ ว่า เรื่องที่จะฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิม กทม.จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยคิดจากรายได้ของกิจการ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะคิดตามมูลค่าที่ดิน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างเขตพญาไท ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีทำให้จัดเก็บได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตอนแรกหวังว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมากแต่พบว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่น ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตพญาไท เดิมเสียภาษี 10.7 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1.08 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีลดลงถึง 10 เท่า

“แต่ก่อนมีการคิดห้างนี้ขายของเท่าไหร่ ค่าเช่าที่เท่าไหร่ เก็บ 12.5% แต่พอเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปุ๊บ ไม่คิดตามรายได้แล้ว คิดตามมูลค่าที่ดินแปลงนี้เท่าไหร่ อาคารเก่าก็จะมีค่าเสื่อม สรุปเป็นภาษีที่ดินฯ ลดลงไปเหลือแค่ 10% เอง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า อาคารสำนักงานแห่งหนึ่งในเขตพญาไท เดิมเสียภาษี 11.49 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 3.72 ล้านบาท เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน รวมถึงยิ่งเป็นอาคารเก่ามีค่าเสื่อมเยอะ ทำให้มูลค่าลดลงอีก ในขณะที่ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4.35 ล้านบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7.68 หมื่นบาท รายได้หายไป 4.28 ล้านบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในอาคารห้องเช่า จึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยทำให้เสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง

โดยเขตในตัวเมืองมีการจัดเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะในเมืองมีสถานประกอบการเยอะ แต่เขตในชานเมืองเก็บภาษีได้มากขึ้น เพราะชานเมืองที่ดินหลายแปลงเป็นที่คนอยู่อาศัย กลายเป็นว่าคนที่มีที่ดินพร้อมบ้านพัก กลับกลายเป็นว่าอาจจะต้องเสียภาษีเยอะขึ้น ทั้งที่ไม่ได้สร้างรายได้ บางคนถือที่ดินเปล่าที่พ่อแม่ให้มาส่งให้ลูกหลาน แต่ก่อนไม่ต้องเสียภาษีเพราะไม่มีรายได้ แต่พอมาเป็นภาษีที่ดินฯใหม่ต้องจ่ายทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย

“จะเห็นได้ว่าต้องฝากถึงรัฐบาลและสภาชุดใหม่ ไปช่วยทบทวนว่าการทำแบบนี้มีผลกระทบอย่างไร เป็นจุดที่เราจะลดความเหลื่อมล้ำได้จริงไหม” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า รวมถึงเงินที่ติดค้างให้กับท้องถิ่น จากการลดภาษีที่ดินฯ 90% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในปีนี้ที่มีการลดอีก 15% ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ลดภาระของประชาชน แต่เอาเงินของท้องถิ่นไปช่วย ถ้าอนาคตรัฐบาลคืนเงินนี้ให้ท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นจะมีเงินไปบริหารตามหลักกระจายอำนาจได้มากขึ้น

“ตามอัตราปกติจัดเก็บได้ 2 หมื่นล้านบาท หายไป 1.8 หมื่นล้านบาท 2 ปี 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ท่านให้คืนมาพันกว่าล้านบาทเอง กทม.อาจจะไม่ได้มีปัญหามาก แต่ท้องถิ่นเล็ก ๆ ที่เขาไม่มีรายได้อื่น กทม.ยังมีรายได้อื่น ๆ จากภาษี VAT มาช่วย ต้องฝากรัฐบาลช่วยดูตรงนี้ด้วย เพราะถ้าเราจริงใจกับการกระจายอำนาจ ก็ต้องให้ทรัพยากรมาช่วยด้วย” นายชัชชาติ กล่าว