โจทย์หิน ว่าที่รมว.คลัง รับมือพายุเศรษฐกิจ-สร้างการคลังยั่งยืน

โจทย์หิน ว่าที่รมว.คลัง   รับมือพายุเศรษฐกิจ-สร้างการคลังยั่งยืน

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ถ้าพรรค "ก้าวไกล" จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" จะตกเป็นของ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเธอจะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของประเทศด้วย  

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ “พรรคก้าวไกล” ต้องการยึด “กระทรวงการคลัง” มาดูแลเอง เพราะการจะเดินไปสู่รัฐสวัสดิการซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของพรรคก้าวไกลได้นั้น จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทายของนโยบายนี้ ดังนั้น ที่มาของแหล่งเงินอาจต้องรื้อโครงสร้างภาษีใหม่ และนี่จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ พรรคก้าวไกล ต้องการดูแลกระทรวงการคลังเอง

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ สำหรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนถัดไป มีสิ่งท้าทายของอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะภายหลังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายในการดูแลประชาชนและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ 

กรณีของไทยได้ออก "พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 2 ฉบับ" รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับภาระหนี้เก่า ทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับกว่า 61% ต่อจีดีพี ขณะที่ เพดานการก่อหนี้อยู่ที่ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่ จึงมีช่องในการกู้เงินได้อีกไม่มากนัก หากคิดเป็นวงเงินจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น

ปฏิรูปโครงสร้างภาษีสร้างการคลังยั่งยืน

การจัดหารายได้ เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างให้ฐานะการคลังมีความยั่งยืน จึงเป็นโจทย์ที่ทุกประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ที่จะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมต้องตีโจทย์ปัญหาให้แตก และทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้รัฐบาล 

ที่ผ่านมาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีมักทำในลักษณะปะผุ และการดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพในระดับ 4-5% เพื่อลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี โดยเป้าหมายการคลังระยะปานกลาง 2567-2570 ตั้งเป้าให้ระดับการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ไม่เกิน 3% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายจัดเก็บรายได้ จะต้องเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2566 คาดรายได้รัฐบาลจำนวน 2.490 ล้านล้านบาท ปี 2567 ประมาณการรายได้จำนวน 2.757 ล้านล้านบาท ปี 2568 ประมาณการรายได้จำนวน 2.867 ล้านล้านบาท ปี 2569 ประมาณการรายได้จำนวน 2.953 ล้านล้านบาท 

ขณะที่ ปี 2570 ประมาณการรายได้จำนวน 3.041 ล้านล้านบาท การจัดเก็บรายได้ในระยะปานกลาง จะฟื้นตัวตามการบริโภค และการลงทุนในประเทศ รายได้จากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวหลังผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง

แก้หนี้ครัวเรือนลดความเสี่ยงเศรษฐกิจ

ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นอีกหนึ่งในโจทย์สำคัญที่รัฐมนตรีคลัง ต้องให้น้ำหนักแก้ไขปัญหาอย่างมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เร่งตัวขึ้นมาก ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง ล่าสุด ไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 86.9% เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาในระดับใกล้เคียงกัน ถือว่า หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง

รายงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ แม้เศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัว และรัฐบาลจะมีมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่สอดคล้องความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้แล้วก็ตาม แต่ถือว่า ยังไม่เพียงพอแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน 

ดังนั้น หากไม่ทำอะไรเพิ่มเติม คาดว่า หนี้ครัวเรือนจะสูงกว่า 80% ของจีดีพี ที่เป็นระดับควรเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน อาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ แบงก์รัฐ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ปัจจุบันมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นและสูงสุดกว่า 12% เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดลดลงอยู่ที่ประมาณ 6.7% ของสินเชื่อคงค้าง แต่ถือว่า ตัวเลขยังสูงเมื่อเทียบกับแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐด้วยกัน

สร้างภูมิคุ้มกันรับศก.โลกผันผวน

อีกหนึ่งโจทย์ท้าทายความสามารถของรัฐมนตรีคลังคนใหม่ คือ ความผันผวนตลาดการเงิน และการถดถอยของเศรษฐกิจโลก จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจนำไปสู่การดำเนินมาตรการคว่ำบาต รและมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม โดยเฉพาะหากนำไปสู่การระงับการนำเข้า "ก๊าซธรรมชาติ" จากรัสเซียอย่างฉับพลัน และไม่สามารถจัดหาแหล่งพลังงานจากประเทศอื่น หรือสะสมปริมาณคงคลังได้เพียงพอ ประกอบกับปัญหาระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน โดยเฉพาะกรณีไต้หวัน ที่อาจนำไปสู่การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิต

กรณีไทย เป็นประเทศที่พึ่งพาส่งออกสูง เมื่อกำลังซื้อในต่างประเทศลด แน่นอนว่า จะกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การบริหารจัดการให้เศรษฐกิจไทยหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายใน เพื่อทดแทนปัญหาดังกล่าว จึงเป็นความท้าทาย 

โดยเฉพาะกรณีที่ไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ประชากรวัยแรงงานลดลง กระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจหากขาดการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม รวมถึงทำให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานและภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก พัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย อนาคตของงานและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซํ้าเติมความเปราะบางต่างๆ ที่สั่งสมอยู่ในเศรษฐกิจและสังคมไทยมานาน 

ดังนั้น หากจะสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทย ต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศต่าง ๆ ในอนาคต เน้นส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการยกระดับปรับทักษะแรงงาน รวมทั้งเร่งปฏิรูปและลดระเบียบกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

รอรัฐบาลใหม่เคลียร์ 'ภาษีขายหุ้น'

ขณะที่ ภาคตลาดทุนไทย เรื่องใหญ่ที่ยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ คือ การเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบร่างราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่... พ.ศ...หรือการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์)ในอัตรา 0.10% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นจะมีอัตรา 0.11%)

โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.055 % (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา มีผลใช้บังคับ ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และและช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.11% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

แต่ด้วยเสียงคัดค้านภาคตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) มองว่า ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ด้วยภาวะลงทุนที่ผันผวนสูง และจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพคล่องการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีผลทำให้ความสามารถการแข่งขันตลาดทุนไทยลดลง ฯลฯ เป็นที่มาการส่งคืนร่างฯ มายังกระทรวงการคลังทำให้ต้องเลื่อน การประกาศบังคับใช้ภาษีขายหุ้นออกไปก่อน

ที่ผ่านมา จากการจัดสัมมนาสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หัวข้อ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตลาดทุนไทยภายใต้รัฐบาลใหม่มี 9 พรรคการเมือง ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนตลาดทุนไทย "วรภพ วิริยะโรจน์“ พรรคก้าวไกล ตอบชัดเจนว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะไม่เก็บภาษีขายหุ้น (Capital Gain Tax) แต่จะเก็บภาษีกำไรขายหุ้น และ ”เผ่าภูมิ โรจนกุล" รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย กรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยก็กล่าวว่า จะไม่เก็บภาษีกำไรขายหุ้น (Capital Gain Tax)

 อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอความชัดเจนรัฐบาลว่า สุดท้ายแล้วเรื่องภาษีเกี่ยวกับตลาดทุน จะเป็นรูปแบบใด เพราะขึ้นชื่อว่าเก็บภาษี ไม่ว่าจะเก็บภาษีขายหุ้น หรือเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ย่อมกระทบต่อต้นทุนนักลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น

ปรับนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่

ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยน โดยเห็นว่า ปัญหาถือครองที่ดินในประเทศราว 80% ของที่ดินกระจุกตัวอยู่ที่คนรวยที่สุดเพียง 5% ขณะที่ 75% ของคนไทยไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง 

หากรัฐบาลต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร การรับประกันความมั่นคงในที่ดินทำกิน จึงเป็นกระดุมเม็ดแรกและจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว โดยการแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ประเด็นที่ต้องการเปลี่ยนแปลง คือ 1.พัฒนาระบบภาษีที่ดินแบบรวมแปลง (รวมมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่แต่ละบุคคล/นิติบุคคลถืออยู่) แล้วจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยคิดจากมูลค่าที่ดินที่เกิน 300 ล้านบาท 2.ปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบรายแปลง (แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง 

3.ลดหย่อนหรือส่วนลดภาษีที่ดิน (Negative Land Tax) สำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ (เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ พื้นที่สาธารณะ) ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน (3-10 ปี)

ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 เริ่มจัดเก็บจริงตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 แต่รัฐบาลได้ลดภาษีให้ 90% นับตั้งแต่ปี 2563-64 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รัฐบาลจึงยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าว และกลับไปใช้อัตราตามกฎหมาย

สำหรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 และ 2566 นั้น กำหนดว่า 1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.01-0.1% 

2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.02-0.1% 2.1 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.03-0.1% 2.2 สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.02-0.1% 2.3 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจาก 2.1 และ 2.2 อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.02-0.1% 

3. การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2(เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม) อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.3-0.7% 4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.3-0.7%

ทั้งนี้ สำหรับบ้านและที่ดินที่เป็นบ้านหลังหลักหรือบ้านหลังแรก ที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ,ส่วนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นเช่นกัน