14 พฤษภาคม 2566 : เทเสียงให้แสงที่ปลายอุโมงค์ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

14 พฤษภาคม 2566 : เทเสียงให้แสงที่ปลายอุโมงค์ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่าประชาธิปไตยของไทย ไม่ได้เป็นใบ้ ในที่สุดคนไทยก็หลั่งไหลออกไปใช้เสียงท่ามกลางภูมิอากาศที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย

อีกทั้งวิธีการจัดการการเลือกตั้ง (ครั้งที่ 7 แล้วสำหรับ กกต.) ที่ทำให้การลงคะแนนให้ถูกต้อง เป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับผู้มาใช้สิทธิ การเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งว่ากันว่าใช้เงินตั้ง 6,000 ล้านบาท นับว่ามีคุณูปการต่อประเทศไทยพอสมควรทีเดียว เพราะ 

หนึ่ง ทำให้นโยบายสาธารณะเป็นประเด็นพูดคุยในเวทีสาธารณะอย่างเปิดเผย ทำให้คนไทยเข้าใจถึงความสำคัญของประเด็นนโยบายสาธารณะมากขึ้น มีการถกเถียงพูดคุยถึงเป้าหมาย ความเป็นไปได้ และผลประโยชน์ว่ามีมากขนาดไหนและผลประโยชน์นั้นที่สุดแล้วจะตกแก่ใคร คนไทยจะถูกนักการเมืองหลอกได้ยากขึ้น 

สอง การเมืองกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน เป็นเรื่องสำคัญ และผูกพันกับชีวิตในอนาคตของประชาชน 

สาม การเมืองไทยมีความเป็นอารยะและสร้างสรรค์มากขึ้น ข่าวการเข่นฆ่ากันเพื่อแย่งหัวคะแนนดูเหมือนจะลดลงเมื่อเทียบกับครั้งก่อน ๆ และไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั่วไปนัก เกิดแกนนำออแกนนิคซึ่งเป็นคนหนุ่มคนสาวมากขึ้น กระสุนแม้ยังมีการใช้อยู่ แต่ก็มีอานุภาพต่ำกว่ากระแส

คำถามที่เกิดขึ้นมาก็คือว่าแลนด์สไลด์ หรือสื่อต่างชาติถึงกับเรียกว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ผู้เขียนอยากเริ่มด้วยการให้ข้อสังเกตว่า จังหวัดที่พรรคก้าวไกลยกทีมทั้งจังหวัด หรือได้รับเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ จะเป็นจังหวัดที่เป็นเศรษฐกิจก้าวหน้า เป็นจังหวัดที่มีรายได้ของจังหวัดสูงที่สุดในประเทศ (ตารางที่ 1)

14 พฤษภาคม 2566 : เทเสียงให้แสงที่ปลายอุโมงค์ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ระยองเป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงที่สุดในประเทศไทยสูงกว่า กทม.  แม้ กทม. เองก้าวไกลก็เกือบยกทีมได้ถึง 32 ที่นั่ง และคะแนนเสียงใน กทม. ที่ให้กับพรรคนี้ก็มากกว่าที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติเคยได้ ภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยก็เลือกพรรคก้าวไกลยกจังหวัด

ทำไมจังหวัดที่รัฐบาลประคบประหงมมากที่สุดทั้ง กทม. และปริมณฑล จังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญเช่นภูเก็ตและเชียงใหม่จึงเทคะแนนไปให้กับพรรคก้าวไกล ในขณะเดียวกันพรรคที่มีบ้านใหญ่รวมทั้งพรรคเพื่อไทยก็ล้มแบบระเนระนาด 

การที่คนในจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดีเทคะแนนให้พรรคคนหนุ่มสาวนั้นพอจะมีสมมุติฐานอยู่ 4 ข้อด้วยกัน

สมมติฐานข้อแรก อาจจะเป็นเพราะคนในจังหวัดเศรษฐกิจก้าวหน้ามองเห็นว่า การทำงานของพรรครัฐบาลในปัจจุบันหรือแม้แต่พรรคเพื่อไทยไม่ตอบโจทย์อนาคตของเศรษฐกิจของชาติและในบ้านในเมืองของพวกเขาอีกต่อไป

ขณะที่การเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองบ้านใหญ่ หมกมุ่นแย่งการชิงเค้กมากกว่าเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ หรือที่เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาดีแล้วและจะทำต่อไป แต่ภาคเอกชนกลับเห็นว่าสิ่งที่ทำมานั้นยังดีไม่พอ

 ในโลกปัจจุบันที่การเข้าถึงข่าวสารไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ประชาชนสามารถเลือกใช้ข้อมูลต่าง ๆ เปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นได้ และพบว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องมายาวนาน ความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งเกิดจากการพ่ายแพ้เชิงกลยุทธ์ที่ยุทธศาสตร์ชาติไม่มีความยืดหยุ่นทำให้เราไม่เปลี่ยนเมื่อโลกเปลี่ยน

อีกไม่นานเวียดนามก็จะแซงหน้าไทยไป คนไทยหัวก้าวหน้าจึงเห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในบรรยากาศที่มืดครึ้ม ไม่มีทางออก เมื่อมีพรรครัฐบาลที่ให้ความหวังว่าเราจะเปลี่ยนได้ จึงเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ปลายอุโมงค์ ทุกคนก็วิ่งตามแสงนั้น  

สมมติฐานที่สอง ก็คือการที่คนไทยเทเสียงให้พรรคใหม่เป็นสัญญาณบอกถึงความเหลื่อมล้ำ และการกระจายผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม คนระยองบอกว่าคนที่รวยในระยองเป็นคนที่มาจากข้างนอก แต่คนที่จนในระยองเป็นคนระยอง ในจังหวัดที่มีเศรษฐกิจท่องเที่ยวที่ดูเหมือนจะเจริญก้าวหน้า แต่การลงทุนก็เป็นการลงทุนของคนต่างจังหวัด

ผลประโยชน์ที่เกิดเป็นกอบเป็นกำก็ตกอยู่กับคนที่มาจากจังหวัดอื่น แม้รัฐบาลจะเทงบประมาณลงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเมืองท่องเที่ยวชั้นนำเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในงบประมาณของรัฐ แต่งบนี้ไม่ได้เกิดอานิสงส์โดยถ้วนหน้า คนในท้องถิ่นจึงมองหาทางเลือกใหม่และโอกาสใหม่

แม้แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยม แต่ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศแบบเดิม ๆ เหมือนพรรครัฐบาลก็เลยพลอยตกขบวนรถไฟสายอนาคตไปด้วย

สมมติฐานที่สาม โควิด 19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบจนทำให้เกิดแลนด์สไลด์ครั้งนี้ ในช่วงของโควิด 19 เป็นช่วงที่ประชาชนทุกข์ยากถึงที่สุดและความไว้วางใจในรัฐบาลตกต่ำถึงที่สุด สิ่งที่ประชาชนพบเห็นในเวลานั้นก็คือความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนและการรักษาพยาบาล

อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากความอ่อนด้อยในการสื่อสารของรัฐ แม้ว่ารัฐจะมีความหวังดีอย่างไร เช่น เอาดารามาออกข่าวฉีดวัคซีนเพื่อการประชาสัมพันธ์ แต่ก็ทำให้ประชาชนคิดว่าทำไมดาราได้วัคซีนก่อนแล้วประชาชนต้องเข้าแถวตั้งแต่ตีสามตีสี่เพื่อรับวัคซีน

ทำไมคนไทยหาที่เข้าโรงพยาบาลสนามไม่ได้ ต้องตายคาบ้าน ในขณะที่คนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศ (เป็นบุคคลผู้ไม่ได้เสียภาษีในประเทศไทย) กลับเข้ามาประเทศไทยกลับถูกต้อนรับและมีสิทธิเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามอย่างดี

คนไทยจำนวนมากตกงานและขาดรายได้ แต่ข้าราชการกลับได้วันหยุดเพิ่ม ทำไมคนที่ใช้สิทธิไปเที่ยวด้วยกันรัฐถึงจ่ายเงินอุดหนุนให้ 3,600 บาทต่อคน ในขณะที่คนไทยที่อยู่ในการจ้างงานนอกระบบไม่ได้รับการเยียวยา

อีกทั้งคนไทยที่ที่พอมีพอกินส่วนหนึ่งกลับสามารถได้รับเงินอุดหนุนค่าอุปโภคบริโภคจากเงินคนละครึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าบางมาตรการเป็นเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบางมาตรการเป็นเรื่องของเงินที่ใช้ในการเยียวยา การจัดการและการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพและสับสนอลวน

ทำให้ความเชื่อถือในความสามารถและความโปร่งใสของพรรครัฐบาลลดลงโดยที่รัฐบาลไม่รู้ตัว แล้วกลับคิดว่ารัฐบาลทำดีแล้ว นักการเมืองและข้าราชการซึ่งไม่ได้ร่วมทุกข์กับประชาชนไม่เข้าใจความคับแค้นข้องใจของประชาชน อีกทั้งยังไม่ยอมรับความเห็นต่างของพรรครัฐบาล ก็ยิ่งเป็นการสะสมเชื้อเพลิงไว้พร้อมที่จะถูกเผาในวันเลือกตั้ง

สมมติฐานที่สี่ การที่การเมืองใหม่ล้มบ้านใหญ่ได้ ก็เพราะระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมถูกระบบอุปถัมภ์ใหม่คือเปลี่ยนคำสัญญาให้เป็นรัฐสวัสดิการของพรรคการเมืองใหม่ทำให้สามารถแซงหน้าบ้านใหญ่ไปได้    

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการขยี้ซ้ำพรรคสายอนุรักษนิยม แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนที่กลุ่มพรรครัฐบาลรักษาการมองไม่เห็น ซึ่งที่จริงก็อยากให้กำลังใจกับคนรุ่นใหม่ในพรรคอนุรักษนิยมซึ่งแสดงท่วงท่าทีดี ๆ หลายคนในการหาเสียง หากหันมาพลิกฟื้นการเมืองรูปแบบใหม่ในพรรคของตนก็จะทำให้พรรคการเมืองของตนคืนชีพได้  

สุดท้ายก็อยากจะขอบคุณสื่อและประชาชนอาสาสมัครที่ร่วมการกำกับการเลือกตั้งให้โปร่งใส ให้ความรู้ประชาชนและเตรียมการให้การเลือกตั้งโปร่งใสที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เราต้องร่วมกันประคับประคองประชาธิปไตยที่ได้มาอย่างยากเย็นนี้ให้รอดพ้นวิกฤตไปได้.