PMDU กลไกส่งมอบนโยบายเพื่อนายกรัฐมนตรีใหม่ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

PMDU กลไกส่งมอบนโยบายเพื่อนายกรัฐมนตรีใหม่ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

กลไกเชิงนโยบาย PMDU หรือ Prime Minister's Delivery Unit เป็นตัวช่วยหนึ่งสำหรับนายกรัฐมนตรี ที่พิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ

ประเทศไทย มีปัญหาที่สะสมไว้มาก อีกทั้งกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มีทั้งมิติของโอกาสและภัยคุกคาม โดยเฉพาะ 4 วาระหลัก ได้แก่ พัฒนาการอย่างพลิกโฉมของเอไอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงวัยและปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ล้วนมีความตั้งใจในการผลักดันนโยบาย ต่างก็กำลังจะเผชิญกับความท้าทาย 4 วาระนี้ที่ทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมไปกับภาระงานประจำที่รออยู่มากมาย

ในชีวิตการทำงาน ผู้นำประเทศจะพบกับการประชุมจำนวนมากภายใต้คณะกรรมการระดับชาติต่างๆ ที่รับผิดชอบนับร้อยชุด การเดินทางเพื่อเจรจาและการต้อนรับผู้นำจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ การเปิดงานประชุมและสัมมนาจำนวนมาก รวมถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนฉับพลันที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ฯลฯ

 ภาระงานต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของนายกฯ และรัฐบาลถูกบดบังความสำคัญลงไปจนอาจหล่นหายไปท่ามกลางความวุ่นวายและเร่งรีบของเรื่องด่วนมากมายในทำเนียบรัฐบาล

กลไกเชิงนโยบาย PMDU หรือ Prime Minister's Delivery Unit เป็นตัวช่วยหนึ่งสำหรับนายกรัฐมนตรี ที่พิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ 

PMDU ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผลตามลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้

โดยทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายที่นายกฯ ให้ความสำคัญสูงสุดจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังและบรรลุผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ ตลอดจนสร้างผลกระทบต่อประเทศและประชาชนอย่างที่ตั้งเป้าไว้

PMDU เป็นกลไกที่มีการนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละประเทศในรูปแบบและชื่อเรียกที่แตกต่างกัน มีทั้งประสบผลสำเร็จจากความเอาจริงเอาจังของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล และมีกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเกิดจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสำคัญของกลไกนี้อย่างเพียงพอ หรือการออกแบบกลไกยังไม่ดีพอ

 เป้าหมายสำคัญของ PMDU ที่ต้องยึดไว้คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุดของนายกฯ สร้างความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องโดยตรง และเพิ่มความโปร่งใสให้ทุกคนมองเห็นเส้นทางนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจน

แนวคิดของ PMDU ในระดับรัฐบาลเกิดขึ้นครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรในปี 2544 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ จากนั้นได้มีการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก PMDU จะเป็นกลไกที่ทำหน้าที่เป็นส่วนต่อขยายโดยตรงของสำนักนายกรัฐมนตรี ออกแบบมาให้กำกับดูแล ติดตาม และรายงานการดำเนินการเฉพาะนโยบายที่นายกฯ ให้ความสำคัญสูงสุด

บทบาทหลักของ PMDU มี 4 ประการ 

1.ช่วยติดตามการดำเนินงานเฉพาะนโยบายที่สำคัญสูงสุด (Policy Implementation Tracking)

PMDU จะช่วยติดตามการดำเนินการตามนโยบายที่ริเริ่มโดยรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ช่วยให้นายกฯ ได้รับการอัปเดตความคืบหน้าของนโยบายและอุปสรรคที่เกิดขึ้นตามเวลาจริง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหา ปลดล็อกอุปสรรค เพิ่มเติมทรัพยากร งบประมาณ กำลังคน ที่จะช่วยผลักดันนโยบายที่สำคัญอย่างทันท่วงที

2.ช่วยประสานงานและการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานต่างๆ

PMDU เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี จึงอยู่ในจุดสำคัญที่สามารถมีบทบาทในการอำนวยความสะดวก สื่อสารและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาไซโล ปัญหาแรงต้านหรือการเกิดพื้นที่เกรงใจกันระหว่างหน่วยงาน 

การอำนวยความสะดวกระหว่างหน่วยงานระดับกระทรวงและกรมนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการกับนโยบายที่มีความซับซ้อน เป็นนโยบายในเชิงวาระ (agenda based) ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หรือนโยบายในเชิงพื้นที่ (area based) ซึ่งต้องใช้ความพยายามร่วมกันจากหลายกระทรวง

3.ช่วยแก้ไขปัญหาที่ติดขัดในกระบวนการผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

PMDU ไม่ควรเป็นกลไกที่ตามงานหรือไล่บี้เอาผลงานจากหน่วยงาน แต่ต้องทำหน้าที่เป็นกลไกเพื่อแก้ไขปัญหา ช่วยระบุและแก้ไขปัญหาคอขวดที่มีการติดขัดหรือมีอุปสรรค รวมถึงช่วยวินิจฉัยปัญหาเชิงระบบและแนะนำวิธีแก้ไขที่ช่วยเร่งการส่งมอบนโยบายของนายกฯ ได้

4.ช่วยสร้างความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย

PMDU ควรทำหน้าที่ในติดตามการส่งมอบนโยบายอย่างสม่ำเสมอ จึงช่วยสร้างให้เกิดวัฒนธรรมความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ และสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสายตาประชาชน

ความสำเร็จของ PMDU ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญเชิงนโยบายของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนที่ยากง่ายต่างกัน และอีกส่วนขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของกลไก PMDU และการให้ความสำคัญอย่างเพียงพอของนายกรัฐมนตรีที่จะสนับสนุนกลไกนี้และช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดอุปสรรคขึ้นในทางปฏิบัติ

ตัวอย่างความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น PMDU ของสหราชอาณาจักร ปากีสถาน และมาเลเซีย โดยกรณีมาเลเซียได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จสูงภายใต้ชื่อกลไก “PEMANDU” ซึ่งได้รับการออกแบบให้กำกับดูแลการดำเนินการ ประเมินความคืบหน้า อำนวยความสะดวก 

สนับสนุนการส่งมอบและผลักดันความคืบหน้าของโครงการปฏิรูปภาครัฐ (Government Transformation Programme) และโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Transformation Programme) ซึ่งทั้งสองโครงการนี้เป็นส่วนสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงของมาเลเซีย

เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสามารถส่งมอบนโยบายสำคัญได้ภายใน 100 วันแรกและตลอด 4 ปีของระยะเวลารัฐบาล ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่นานนัก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรออกแบบและใช้กลไก PMDU ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการทำงาน 

เพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยงานนายกฯ ในการสร้างผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ติดกับดักจากภาระงานมากมายที่กำลังจะต้องเผชิญเมื่อเริ่มนับหนึ่งของการเป็นรัฐบาล.