“พิธา” ถก ส.อ.ท.หวังอ้อน “ส.ว.” เจรจาโหวตนายกฯ-ฟังเอกชนก่อนขึ้นค่าแรง

“พิธา” ถก ส.อ.ท.หวังอ้อน “ส.ว.” เจรจาโหวตนายกฯ-ฟังเอกชนก่อนขึ้นค่าแรง

“พิธา” เผยเบื้องหลังถก ส.อ.ท. หวังอ้อน “ส.ว.” ที่เคยผูกพันกัน เห็นหน้าค่าตาตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี เจรจาโหวตเลือกนายกฯ ยันรับฟังภาคเอกชนก่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าหารือผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามาที่สำนักงาน ส.อ.ท. และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าหารือ ถึงกรณีมีความกังวลหรือไม่ต่อการออกเสียงสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ที่นังไม่ชัดเจน ว่า ดูท่าทีวันนี้ยังไม่มีปัญหา หากมีการเจรจาจะอัพเดตให้สาธารณชนรับทราบ หาก ส.ว.มองว่าเป็นเรื่องของระบบ มากกว่าเรื่องของบุคคลต้องประคับประคองเพื่อหาทางออก ส่วน ส.ว.ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แกนนำพรรคการก้าวไกลและพรรคร่วม พยามเจรจาพูดคุยกันอยู่

ส่วนการมาหารือที่ ส.อ.ท.วันนี้ นายพิธา กล่าวว่า มี ส.ว.หลายท่านทำงานในยุครัฐบาลไทยรักไทย เคยทำงานที่นี่ ผูกพันกัน ส.ว.หลายท่านเคยทำงานในหลายกระทรวงเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เคยเห็นตนมาตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี เชื่อว่า ความชัดเจนจะมากขึ้นแน่นอน เข้าใจว่าคงต้องใช้เวลาในการอธิบาย เพื่อให้ประชาชนสบายใจ รวมไปถึงนักธุรกิจที่จะมั่นใจต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จึงเป็นเหตุที่มาเข้าพบในวันนี้ 

นายพิธา กล่าวอีกว่า พร้อมรับฟัง 6 ข้อเสนอของภาคเอกชน ที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เป็นไปตามนโยบายพรรคคือ เน้นบรรเทาทุกข์ เน้นความเท่าเทียม เน้นเรื่องความทันสมัย เป็นธรรม และ ต้องเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำด้วย ซึ่งเชื่อว่าเมื่อนักธุรกิจได้รับฟังก็จะเห็นภาพที่ชัดเจน ในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา

สำหรับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทนั้น นายพิธา กล่าวว่า บางเรื่องที่ต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องที่ต้องรอบคอบก็ต้องรอบคอบ สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกที่มีคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ จึงต้องมาคุยกับ ส.อ.ท. และ กกร.เพื่อรับฟังภาคเอกชน ทั้งเรื่องของแรงงาน เอสเอ็มอี เราจะพิจารณาให้รอบด้านภายในสัปดาห์นี้ และจะนำไปคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยเองก็เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 

“แต่ในเรื่องของตัวเลขอัตราค่าจ้างนั้นก็เข้าใจว่า การขึ้นค่าแรงในลักษณะนี้ อาจจะกระชากไปนิดนึง แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มาแล้ว แต่ทางคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านกำลังไปศึกษา Package การขึ้นค่าแรงสมัยปี 2556 และจับมาอัพเดตรายละเอียดเรื่องการช่วยเหลือแรงงาน และภาคอุตสาหกรรมด้วย พร้อมพิจารณาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน” นายพิธา กล่าว

ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชน ให้ปรับแบบ Pay by Skill นั้น นายพิธา กล่าวว่า โดยหลักการของพรรคก้าวไกลเองก็มีแนวคิดเช่นกัน 

ส่วนกรณีที่เอกชนอยากให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ส.ค.นั้น นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และต้องรอ กกต.รับรอง ถ้ารับรองเร็ว กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว