"นิพิฏฐ์" เตือน "ก้าวไกล" พระมหากษัตริย์คู่กรณีประชาชน คือการบ่อนเซาะทำลาย

"นิพิฏฐ์"  เตือน "ก้าวไกล" พระมหากษัตริย์คู่กรณีประชาชน คือการบ่อนเซาะทำลาย

"นิพิฏฐ์" โพสต์เตือนก้าวไกล อย่าให้พระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีกับประชาชน บอกแก้ไขต้องชัดเจน อย่าหลบๆซ่อนๆ ได้รับอำนาจควรปกป้อง ไม่ใช่ บ่อนเซาะทำลาย

 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ "อย่าให้พระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีกับประชาชน"

ผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกล และมีชื่อจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วยคนหนึ่ง กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องแก้ ม.112 เพราะพรรคเคยหาเสียงไว้ และยกเหตุผลหลายประการในการแกั ม.112 เช่น แก้อัตราโทษ, แก้ให้เป็นกฎหมายที่ยอมความได้,แก้ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ และ ให้นำเรื่องนี้ออกจากหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ

ผมมีความเห็นแย้ง เกือบทุกข้อของพรรคก้าวไกล วันนี้ เอาบางข้อก่อน

ประเด็นให้ สำนักงานราชเลขาธิการ เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ ผมเห็นแย้งว่า การให้สำนักราชฯ แจ้งความประชาชน เป็นการนำสถาบันมาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชน สถาบันฯเป็นเรื่องของความมั่นคง หากประชาชนเห็นว่า ใครทำความเสียหายให้สถาบัน ก็ถือว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคง ประชาชนก็ควรมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ได้ อย่าให้หน่วยงานของสถาบัน แจ้งความเป็นคู่กรณีกับประชาชนเลย เพราะสถาบันต้องอยู่เหนือความขัดแย้งกับประชาชน

สมมุติว่า มีการกระทำความผิดตามม.112 อยู่ในตำบล หมู่บ้าน ไกลๆ ต้องให้สำนักราชฯ เดินทางไปแจ้ง ในตำบล หมู่บ้าน นั้นเลยหรือครับ

การแก้ไขเรื่องนี้ จึงควรมีความชัดเจน ว่าจะแก้อย่างไร อย่าหลบๆซ่อนๆ

ผมไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรกับเขาหรอก ไม่มีเอกสิทธิคุ้มครองในการแสดงความเห็น ทำได้แค่นี้แหละ แต่ในฐานะประชาชน ผมยังเห็นว่า ความผิดต่อสถาบันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ประชาชนจึงมีสิทธิปกป้องสถาบัน หากเห็นว่า ใครทำผิด ประชาชนก็ควรมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ได้ ส่วนตำรวจ/อัยการ จะฟ้องหรือเปล่า นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง

"ผมจึงอยากขอร้องพรรคก้าวไกล ว่า ท่านได้อำนาจแล้ว ก็ขอให้ใช้อำนาจนั้นปกป้องสถาบัน การทำให้สถาบันเป็นคู่กรณีกับประชาชน มิใช่การปกป้องเลยครับ ในความเห็นส่วนตัวของผม เป็นการบ่อนเซาะและทำลายสถาบันเสียด้วยซ้ำ จึงขอให้พรรคก้าวไกล ทบทวน"