ว่าด้วยสถิติความนิยมในศึกเลือกตั้ง 2566

ว่าด้วยสถิติความนิยมในศึกเลือกตั้ง 2566

ผลการเลือกตั้ง 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ) จากการนับคะแนนแล้ว 99% ที่พลิกโผ พรรคก้าวไกลเฉือนชนะเพื่อไทยทั้งจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ แสดงให้เห็นถึงกระแสของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงจากแคมเปญของพรรคอันดับ 1 ในนาทีนี้

คนไทยตื่นตัวใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์-อาสาเฝ้าคูหานับคะแนนกว่า 3 หมื่นคน!

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ได้เปิดสถิติการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39.2 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 52 ล้านคน หรือร้อยละ 75.2 ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกตั้งมีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดตั้งแต่ กกต.จัดการเลือกตั้งมาแล้ว 7 ครั้ง และจากการที่ผมได้ร่วมจัดโครงการ “The Watcher: เฝ้าคูหาจับตานับคะแนน” กับภาคีภาคประชาชนกว่า 50 องค์กร ได้มีอาสาสมัครรวมกว่า 3 หมื่นคนที่มาร่วมแรงร่วมใจกันเฝ้าหน่วยเลือกตั้ง คอยตรวจสอบการนับคะแนนของ กกต. เพื่อลดข้อผิดพลาดในการนับและรายงานผลคะแนนให้ดีที่สุดแบบเรียลไทม์!

“บล็อกเชนโพล” จาก ม.ศรีปทุม-ดีโหวต (SPUxD-vote) ทายผลแม่นยำระดับ 70%!

มหาวิทยาลัยศรีปทุมและ D-vote ได้ร่วมกันตั้งสำนักโพลบนบล็อกเชน ซึ่งผมมีรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฯ เพื่อแก้ Pain Point ของผลสำรวจสาธารณะที่หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่ามาจากการสำรวจจริง ๆ  หรือไม่ ทำไมผลถึงไม่ตรงกับใจเรา? หรือไปสำรวจที่ไหนไม่เห็นเคยมีใครมาถามเราเลย? ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain และ KYC มาใช้ในกระบวนการสำรวจความเห็นสาธารณะ ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการโหวต เพื่อสะท้อนเสียงของตนได้

โดยระบบจะมีทั้งการแสดงผลโพลดิบแบบเรียลไทม์ และออกผลสำรวจที่ผ่านการประมวลให้กลุ่มตัวอย่างไม่เอนเอียงสำหรับประเด็นสำคัญ เพื่อให้สาธารณะชนได้รับทราบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประกอบการพัฒนานโยบายและการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ซึ่งในศึกเลือกตั้ง 2566 นี้ SPUxD-vote โพล ได้ทำการสำรวจในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง และส่งผลประเมินที่นั่ง ส.ส.ให้สื่อทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้ง โดยเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็พบว่ามีความแม่นยำ 68.8% (เมื่อคิดจากค่าเฉลี่ยจากช่วงการประเมิน) และ 72.0% (เมื่อคิดจากค่าขอบของช่วงการประเมิน)

โดยขอบของช่วงการประเมินได้จากการเผื่อระยะความคลาดเคลื่อนเนื่องจากพอเป็นการประเมินระดับจำนวนที่นั่งแล้ว ความคลาดเคลื่อนหลัก ๆ  จะเกิดจากที่นั่งของ ส.ส.เขต ที่เป็นลักษณะ "แพ้คัดออก" ก็คือแม้ ส.ส.จะได้รับความนิยมเพียงใด แต่หากแพ้เพียง 1 คะแนน ก็จะไม่ได้ที่นั่งเลย รวมถึงการลงลึกระดับ "เขตเลือกตั้ง" ที่แต่ละเขตประกอบไปด้วยอำเภอที่รวมตำบลนั้น ยกเว้นตำบลนี้

ทำให้กลุ่มตัวอย่างของแต่ละเขตมีจำนวนน้อยกว่าการประเมินระดับประเทศมากจึงต้องบวกระยะความคลาดเคลื่อนไปเพื่อให้การประเมินมีความหมาย ซึ่งเทคนิคที่ใช้คือการคำนวนถึงระยะความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการปฏิบัติการในพื้นที่ที่ไม่ได้สะท้อนออกมาใน "กระแส" ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความผูกพันในพื้นที่ จนไปถึงการใช้เงินที่เรียกว่า "กระสุน" นั่นเอง โดยให้ +20 สำหรับพรรคหลัก 10 ขึ้น และ +2 สำหรับพรรคหลักหน่วย โดยเผื่อช่วงไว้ที่ขอบบนสำหรับพรรคที่เรามองว่ากระสุนนำกระแส และเผื่อช่วงไว้ที่ขอบล่างสำหรับพรรคที่เรามองว่ากระแสนำกระสุน

อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดของการออกผลโพล มิใช่ว่าโพลใดแม่นหรือไม่แม่นกว่ากัน เพราะหากได้ทำตามระเบียบวิจัยแล้ว (โดยหลักที่สำคัญที่สุดคือการกระจายตัวอย่างแบบไม่โน้มเอียง) โอกาสที่จะแม่นก็เกินครึ่งอยู่แล้ว แต่อีกประโยชน์คือการได้เห็น “เทรนด์ขึ้น” หรือ “เทรนด์ลง” ของตัวเลขต่างๆ เปรียบเทียบกันในแต่ละช่วงเวลาของการเก็บกลุ่มตัวอย่าง ที่มาจากกระบวนการเก็บกลุ่มตัวอย่างนั้นๆ  ซึ่งหากโพลไหนทำได้รวดเร็ว ก็จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องจะได้เห็นถึงการตอบรับของประชาชนที่มีต่อแคมเปญ นโยบาย หรือการปฏิบัติงานของแต่ละฝ่าย เพื่อสามารถนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ในช่วงเดือนสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง โพลของเราจึงได้ส่งผลให้สื่อมวลชนทุกสัปดาห์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประมวลให้ได้อย่างรวดเร็วและมีความถี่ที่สุดเท่าที่กระบวนการทำงานและการนำเสนอต่อสาธารณชนจะเป็นไปได้ ซึ่งหากลองลำดับเหตุการณ์ที่แต่ละพรรคออกประกาศหรือแคมเปญที่ทำ เทียบกับ “เทรนด์ของความนิยม” ก็จะเห็นได้ว่าแคมเปญใดได้รับการตอบรับในทิศทางใด และมากน้อยเพียงใดจากมวลช

ชนะเลือกตั้งว่ายากแล้ว รักษาความนิยมยากกว่า!

หลายรัฐบาลไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศไทย ที่มีกระแสระดับฟีเว่อร์ แต่ต่อมาก็ค่อย ๆ  ลดลงจนถึงระดับหัวทิ่ม สาเหตุหนึ่งเพราะไม่สามารถทำตามความคาดหวังของประชาชนหลังปฏิบัติงานได้ภายในระยะเวลาหนึ่ง ยิ่งในยุคนี้ “เสียงของประชาชน” คือสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาและรัฐบาลใหม่ควร “ฟัง” อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปประกอบนโยบายและการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน

สุดท้ายนี้ผมขออวยพรให้รัฐบาลใหม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีตามที่ท่านได้หาเสียงไว้นะครับ