เปิดใจ ธนกร วังบุญคงชนะ โหวตหรือไม่โหวตนายกฯ พิธา เคลียร์ปมล็อก ส.ว. 250 เสียง

เปิดใจ ธนกร วังบุญคงชนะ โหวตหรือไม่โหวตนายกฯ พิธา เคลียร์ปมล็อก ส.ว. 250 เสียง

นายธนกร วังบุญคงชนะ ตอบประเด็น 'โหวตนายก' ในรายการโหนกระแส หลังผลเลือกตั้ง 2566 ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับที่ 1 จะยอมยกมือให้หรือไม่ และเคลียร์ประเด็น ล็อก ส.ว.

(17 พ.ค.2566) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ตอบประเด็น 'โหวตนายก' หลังผลเลือกตั้ง 2566 ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับที่ 1 ย้ำยอมรับผลการแข่งขัน พร้อมเป็นฝ่ายค้าน เปิดทางให้ก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาลตามมติประชาธิปไตย แต่ตนไม่ขอยกมือสนับสนุนให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะความเห็นเรื่องนโยบายไม่ตรงกัน

รายการโหนกระแส ทางช่อง 3 HD โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับ ธนกร วังบุญคงชนะ ประเด็นโหวตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฉะนั้นจึงไม่สามารถยกมือโหวจสนับสนุนให้คุณพิธาเป็นนายกฯได้ แต่ตนยอมรับเสียงของประชาชน ซึ่งความเห็นส่วนตัวตอนนี้ ตนก็คิดว่า พรรคก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะมี 300 กว่าเสียงแล้ว 

ส่วนตัวตนของฝากถึงพรรคก้าวไกลนิดเดียวว่า ตนไม่อยากเห็นบรรยากาศของว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลแต่ละท่านไปกดดัน ส.ว. ไปใช้วาจาลักษณะเหมือนการข่มขู่ต่างๆนาๆ ควรพูดคุยกับ ส.ว.ด้วยวาจาดอกไม้มากกว่า อยากให้ทำความเข้าใจกันด้วยเหตุด้วยผลจะดีกว่า และไม่ควรใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือดูแคลน ส.ว. ซึ่งตอนนี้อยู่ในบรรยากาศของการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ซึ่งตนก็ให้กำลังใจพรรคก้าวไกลให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้ 

เมื่อถามว่าในมุมของการโหวตให้ พิธา ได้เป็นนายกฯรัฐมนตรีคนที่ 30 หากฝั่งก้าวไกลมีเสียงของ ส.ส.มากกว่า 250 เสียง ด้วยสปิริตพรรคอื่นๆที่อาจจะต้องเป็นฝ่ายค้านควรโหวตให้ พิธา เป็นนายกฯหรือไม่?

นายธนกร ตอบว่า ตนได้เสียงน้อย ตนได้เป็นฝ่ายค้านอยู่แล้ว แต่ตนก็ไม่มีความจำเป็นไปโหวตให้คุณพิธา เพราะตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ตนก็เป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งมันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนที่ผ่านมา เพราะรอบที่แล้ว (ปี 2562) พรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้ยกมือให้กับทางพลังประชารัฐ หรือพรรคฝ่ายค้านที่ผ่านมาก็ไม่ได้ยกมือให้นายกฯฝั่งพรรคพลังประชารัฐ มันเป็นกลไกตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว เรานำเสนอนโยบายต่างๆมา ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ตนก็คงไม่ไปยกมือโหวนให้แคนดิเดตนายกฯของ พรรคก้าวไกล แค่นั้นเอง

สมมุติว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 36 ที่สัก 6 ที่บังเอิญมีคนยกมือสนับสนุน พิธา เป็นนายกฯ จะทำยังไง?

ทุกพรรคการเมืองต้องยืนยันตามมติพรรค ซึ่งเป็นกลไกตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ตนคิดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ว่าระบบพรรคการเมืองมันจะเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทยเอง ส่วนใหญ่ก็จะทำตามมติพรรค ตนคิดว่าก็ต้องให้พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดจัดตั้งรัฐบาลไป

ประเด็น ส.ว. 250 เสียง เหมือนเป็นกับดักทิ้งเอาไว้ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์? 

ตนมองว่าไม่ใช่ ทุกอย่างเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ เราย้อนไปก็ไม่มีประโยชน์ พูดกันวันนึงก็ไม่จบ ซึ่งวันนี้ในหลักการคือต้องให้พรรคอันดับ 1 (ก้าวไกล) จัดตั้งรัฐบาลไปก่อน ถ้าเขาจัดตั้งได้ก็จบ แต่ถ้าพรรคอันดับ 1 จัดตั้งไม่ได้ พรรคอันดับ 2 ก็เป็นคนจัดตั้งต่อไป ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็ได้เป็นรัฐบาลเท่านั้นเอง ส่วนตนพร้อมเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้มีปัญหาอะไร 

เขาขาดอยู่อีกประมาณ 60 เสียง? 

จริงๆมันมีพรรคที่เป็น ส.ส.อีกหลายพรรค ตนคิดว่าก้าวไกลก็ลองไปเจรจาดู ส่วนพรรคตนยังไงก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพราะว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายของก้าวไกล แต่ที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือตนอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้าให้ได้

จะมีการล็อก ส.ว. หรือไม่? 

หากคิดแบบนี้จะเป็นการดูแคลน ส.ว.เกินไป ส.ว.ท่านเป็นอิสระของท่านอยู่แล้ว ฉะนั้น หากพรรคก้าวไกลต้องการเสียงของ ส.ว. ท่านก็ต้องไปเจรจาให้เป็นไปได้ด้วยดี ไม่ใช่ไปโจมตี หรือกดดัน 

พลเอกประยุทธ์ จะยุติบทบาทเลยหรือไม่? 

อันนี้ตนตอบแทนไม่ได้ แต่ตนเองก็ยังคงจะเดินหน้าต่อไป